สธ.แจงจัดซื้อวัคซีนโควิดทุกตัวได้ราคาถูกกว่า 50% ยันไม่มีเรื่องเงินทอน ย้ำโปร่งใสในการจัดหา ชี้ทุกวัคซีนในไทยมีประสิทธิภาพ วอนขออย่าด้อยค่าวัคซีน เผยแผนจัดหาวัคซีนอีก 15 ล้านโดสในเดือน ก.ย. รวม 140 ล้านโดสภายในสิ้นปี
-----------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถารการณ์ติดเชื้อทั่วโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้น วันนี้รายติดเชื้อ 633,846 ราย สะสม 220 ล้านราย ประเทศที่ระบาดมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น 182,593 ราย เสียชีวิต 1,512 ราย ทั้งที่มีการฉีดวัคซีน mRNA ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ วัคซีนเป็นเครื่องสำคัญป้องกันควบคุมโรค แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการทำมาตรการอื่น ขณะที่ยอดเสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 9,441 ราย สะสม 4.56 ล้านราย
สำหรับประเทศไทยติดเชื้อเพิ่ม 12,631 ราย เสียชีวิต 257 ราย แนวโน้มอยู่ในช่วงผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังมีสิ่งที่ต้องระวังและติดตามสถานการณ์กำกับควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนอดทนใช้มาตรการป้องกันต่างๆ
ทั้งนี้ ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจากที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นสีแดงก็เริ่มลดลง แนวโน้มดีในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ การระบาดหลักๆ ยังอยู่ใน กทม. ปริมณฑล ภาคกลาง และบางจังหวัดของภาคใต้ แม้ภาพรวมจะดีขึ้นแต่การจัดระบบเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ค้นหาผู้ป่วยเป็นมาตรการสำคัญ รวมถึงความร่วมมือของประชาชน แม้จังหวัดจะมีผู้ติดเชื้อน้อย ก็ต้องระวังในการทำกิจกรรมเสี่ยงที่อาจติดเชื้อได้ รวมถึงคนในพื้นที่เสี่ยงถ้าเข้าไปในพื้นที่ต้องมีการตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ฉีดแล้ว 35.2 ล้านโดส ตอนนี้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว 24.9 ล้านคน คิดเป็น 34% ของประชากร รับสองเข็มอยู่ที่ 9.69 ล้านคน คิดเป็น 13.5% ของประชากร กลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีน คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดแล้ว 5.1 ล้านคนหรือ 47.5% ส่วนที่ฉีดได้มากคือ กทม. ปทุมธานี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ เกิน 50% และบางจังหวัดเกือบถึง 70% แล้ว ขอให้พาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน เพราะบางคนอาจไม่กล้าไปฉีด จากข่าวสารที่ทำให้เกิดการกลัววัคซีน ด้อยค่าวัคซีน ซึ่งในการฉีด 35 ล้านโดส ยังไม่มีรายใดเสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง สำหรับการเปิดกิจการต่างๆ นั้น แม้ยังไม่บังคับเรื่องการตรวจ ATK และการฉีดวัคซีน แต่ขอความร่วมมือหากทำได้ จะได้ทำเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตต่อไป
“ขอยืนยันว่าขณะนี้ฉีดไปแล้ว 35 ล้านโดส ยังไม่มีรายได้ที่เสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง ซึ่งภาพรวมของการติดเชื้อในประเทศไทย มีแนวโน้มลดลง แต่ต้องคงมาตรการเฝ้าระวังควบคุม โดยเฉพาะมาตรการส่วนบุคคล อยากให้ทุกคนป้องกันตนเองสูงสุดในทุกที่ทุกเวลา เพราะถึงจะมีมาตรการผ่อนคลาย เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างการผ่อนคลายร้านอาหาร ขอให้เคร่งครัดทั้งเจ้าของสถานที่ และผู้มาใช้บริการ”นพ.โอภาส กล่าว
ยันไม่มีเงินทอดจากการจัดซื้อวัคซีน
นพ.โอภาส กล่าวยืนยันว่า การจัดหาวัคซีนไม่มีเรื่องเงินทอน ถึงแม้ขณะนี้จะมีปริมาณวัคซีนมากขึ้น แต่ตลาดยังเป็นของผู้ขายและผู้ผลิต การเซ็นสัญญาที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องไม่ปกติ โดยไม่สามารถยืนยันได้เลยว่าจะได้รับส่งมอบเมื่อไหร่ ปริมาณเท่าไหร่ และมีข้อกำหนดจากผู้ผลิตที่ห้ามเปิดเผยสัญญา แต่การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย มีการส่งสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และผ่านความเห็นของจากคณะรัฐมนตรี อย่าง วัคซีนซิโนแวค ชนิดเชื้อตายที่จัดหามาเมื่อ ก.พ. 2564 ราคาวัคซีน 17 เหรียญ ปัจจุบันหลังมีการซื้อจำนวนมากความต้องการฉีดยังมี ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงว่าราคาปัจจุบันอยู่ที่ราว 9 เหรียญ เมื่อเทียบวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ราคาถูกกว่า 50% ไม่มีเงินทอน
ส่วน ไฟเซอร์ชนิด mRNA เทียบกับอีกบริษัทหนึ่งราคาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดซื้อถูกกว่า 50% ส่วน แอสตร้าเซนเนก้า ที่เราจองล่วงหน้าเป็นเวลานาน ราคาก็ถูกกว่าวัคซีนทุกชนิดที่จัดหาได้ในประเทศ เรื่องเงินทอนไม่มีแน่นอน ส่วนเรื่องการสัญญวัคซีน แม้ปัจจุบันวัคซีนจะมีมาก แต่ตลาดเป็นของผู้ขายและผลิต เพราะความต้องการฉีดมีมากกว่ากำลังการผลิต ตอนทำสัญญากับแอสตร้าฯ เราทำตั้งแต่กลางปี 2563 ตั้งแต่การวิจัยยังไม่เสร็จ และวัคซีนทุกชนิดยังไม่เสร็จ ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน แต่เห็นแนวโน้มจะสำเร็จ จึงเร่งทำสัญญาจองซื้อล่วงหน้า ซึ่งการลงนามสัญญาไม่ใช่สัญญาปกติ เพราะมีการระบาดทั่วโลกเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ถ้าเป็นระบบปกติเราคงไม่ลงนามสัญญาแบบนี้ โดยเฉพาะระเบียบกฎหมายของไทย เนื่องจากของที่ผลิตจะเสร็จหรือไม่ ยังไม่รู้และยังไม่มีของ จะผลิตได้เมื่อไร จำนวนเท่าไร ประสิทธิภาพเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ และการลงนามในสัญญาทุกบริษัทวัคซีนมีข้อกำหนดเกือบทุกครั้งว่า ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในสัญญาจนกว่าบริษัทจะได้รับความยินยอม แต่ต้องลงนาม จนทุกวันนี้ฉีดแอสตร้าฯ มากกว่า 15 ล้านโดส ภาพรวมทั้งประเทศฉีดวัคซีน 35 ล้านโดสคงทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้ลงนามในสัญญา
“ทั้งหมดเราทำตามกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ที่มีการเปิดช่องให้สามารถทำได้ รวมถึงตัวสัญญามีการปรึกษาอัยการสูงสุดมาตลอด รายงานผู้บังคับบัญชาให้ทราบ ของบประมาณจากงบกลางงบเงินกู้จาก ครม. การซื้อทุกครั้งจึงต้องขออนุมัติผ่านความเห็นชอบ ครม.” นพ.โอภาสกล่าวและว่า ปัจจุบันซีอีโอของแอสตร้าฯ ทำหนังสือแสดงความุ่งมั่นถึงนายกฯ จะส่งวัคซีนที่เราจอง 61 ล้านโดสในปีนี้ และทราบว่าโรงงานผลิตในไทย มีศักยภาพการผลิตเป็นไปได้ด้วยดีมากขึ้นเรื่อยๆ
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนสัญญาไฟเซอร์มีการเจรจาตั้งแต่กลางปี 2563 ตั้งแต่การวิจัยยังไม่เสร็จ การเจรจา มีข้อตกลงคือไม่เปิดเผยข้อมูลของเขา และเป็นสัญญาไม่ปกติเช่นกัน จำเป็นต้องลงนามในสัญญา ซึ่ง ครม.ก็เห็นชอบลงนาม ผ่านความเห็นของอัยการ โดยเราจอง 30 ล้านโดส ได้รับแจ้งว่าจะส่งตามสัญญา ไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งทุกบริษัทคล้ายกันที่ไม่บอกเวลาชัดเจน บอกเป็นไตรมาส แต่คราวนี้กำลังการผลิตมีมากขึ้น ก็สัญญาจะส่งมอบให้เราก่อนสัญญา ซึ่งต้องติดตามกัน โดยจะส่งมอบให้เราปลายเดือนนี้ และส่งให้ครบ 30 ล้านโดสในไตรมาส 4
ซิโนแวค ส่วนสำคัญช่วยในคลัสตเตอร์ตลาดกุ้ง
ส่วนวัคซีนซิโนแวค สถานทูตจีนออกแถลงการณ์ในเฟซบุ๊ก ยืนยันว่าช่วงประเทศไทยต้องการวัคซีนมากๆ ช่วง ก.พ. มี.ค. ที่เรามีการระบาดสมุทรสาคร จีนเขาช่วยเรา ซึ่งทั่วโลกต้องการจำนวนมาก แต่ก็แบ่งมาช่วยเราให้ควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันประสิทธิภาพ ลดป่วยหนักและเสียชีวิต ช่วยชีวิตคนไทยได้จำนวนมาก
เมื่อมีสายพันธุ์เดลตาเข้ามา วัคซีนทุกชนิดประสิทธิภาพลดลงแต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีประสิทธิภาพ สธ.และเครือข่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุของไทยหาวิธี อาศัยการวิจัย ข้อมูลวิทยาศาสตร์จาก ร.ร.แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย มาปรับสูตรวัคซีนไขว้ ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนมีมากขึ้น การฉีดเป็นไปได้ด้วยดีมากขึ้น ทั่วโลกยอมรับสูตรไขว้ หลายประเทศก็ทำ เช่น เยอรมนี
นพ.โอภาส กล่าวเน้นย้ำว่า สธ.และวงการแพทย์สาธารณสุขไม่เคยหยุดนิ่ง หาทางแก้ไขปัญหาให้ประชาชน การส่งวัคซีนของจีนทุกครั้งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลจีนทุกครั้ง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเรื่องคอร์รัปชั่นมาก เช่นเดียวกับไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า เป็นบริษัทระดับโลก หากมีเรื่องเงินทอนเขาคงไม่นิ่งเฉย
"จึงขอว่าอย่าด้อยค่าวัคซีนที่เรามี ยืนยันความโปร่งใสของ สธ.ในการจัดหา ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ขอคนไทยอย่าด้อยค่าวัคซีน จนหลายคนกลัวไม่ไปฉีด หลายคนต้องเสียชีวิตก่อนรับวัคซีน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ชีวิตคนไทย ขอให้มารับวัคซีนครบถ้วน ตามที่ สธ.และรัฐบาลกำหนดแจ้งไว้” นพ.โอภาสกล่าว
ยันวัคซีนสูตรไขว้ มีประสิทธิภาพ
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับประโยชน์การฉีดวัคซีนป่องกันโควิด -19 มีตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งทางจ.ภูเก็ตร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอข้อมูลรับนักท่องเที่ยว ตามโมเดล PHUKET SANDBOX พบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ย.2564 มีจำนวนเที่ยวสะสม 333 เที่ยวบิน รับนักท่องเที่ยวสะสม 27,216 คน ผลการตรวจเชื้อสะสมเป็นลบ หรือ Negative 27,130 คน รอผลการตรวจ 1 คน พบผู้ติดเชื้อ 85 คน (0.31%) หรือ 300 คน พบผู้ติดเชื้อ 1 คน รักษาหายแล้ว 20 คน
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาร่วมโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ วันที่ 1ก.ค.-31 ส.ค.2564 ต้องได้รับการฉีดวัคซีนมาทุกคน ยกเว้นเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ซึ่งได้เดินทางมาพร้อมผู้ปกครอง จะเห็นได้ว่าในข้อมูลที่มีความครบถ้วนที่ติดตามการตรวจ เป็นข้อมูล 2 เดือนเต็ม โดยอัตราการติดเชื้อ จำแนกตามชนิดวัคซีน ใน 77 ราย ไม่ได้รับวัคซีน เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี 6 ราย พบว่า ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนโคซิวิว แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอนห์สันแอนด์จอนห์สัน ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ และโมเดอรน่า อัตราการติดเชื้อในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 0.3%
จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่คนกลุ่มนี้ไม่มีใครป่วยหนัก หรือทำใหเกิดปัญหาการติดเชื้อ โดย 73% จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการ และ 26% จะเป็นกลุ่มที่แสดงอาการน้อย อีกทั้งส่วนใหญ่จะตรวจพบเชื้อใน 7 วันแรก หรือพบในวันที่เดินทางมาถึงประเทศไทย ฉะนั้นมาตรการภูเก็ต แซนบ็อกซ์กำหนดไว้ ถือเป็นมาตรการที่มีคุณภาพในการลดความเสี่ยง และส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจในการท่องเที่ยวได้
ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนในจังหวัดภูเก็ต ไม่รวมภูเก็ต แซนดฺบ็อกซ์ พบว่า ความครอบคลุมของวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม มากถึง 86.11% โดยกลุ่มผู้สูงอายุได้รับวัคซีน 93.4% ส่วนความครอบคลุมของวัคซีนครบ 2 เข็ม อยู่ที่ 76.32% มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 3,754 ราย ในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 2,375 ราย (63.23%) มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวม 12 ราย เป็นคนไทยทั้งหมด และมีโรคประจำตัว 11 ราย ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 1 ราย (ก่อนป่วย 46 วัน) ประวัติไม่ได้รับวัคซีน 11 ราย อยากเน้นย้ำว่าวัคซีนมีประโยชน์สูงในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต
แผนจัดหาวัคซีน 15 ล้านโดสในเดือน ก.ย.
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า วัคซีนซิโนแวค ถือเป็นวัคซีนที่ใช้มากในประเทศไทย ช่วงเดือนมี.ค. เป็นต้นมา เราทบทวนข้อมูลย้อนหลัง จะเห็นว่าการระบาดที่สมุทรสาคร ตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 มาจนถึงมี.ค.2564 สายพันธ์ G พบว่า ซิโนแวคปกป้องประชาชนและบุคลากร ลดอัตราการป่วยหนักและตาย 90.5% ต่อมาเดือน เม.ย.-พ.ค.2564 สายพันธุ์อัลฟา ระบาดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซิโนแวคช่วยบรรเทาการระบาดในพื้นที่ ลดอัตราการป่วยหนักและตาย 90.7% เดือน มิ.ย. 2564 สายพันธุ์อัลฟา ระบาดในรพ.เชียงราย ใช้ซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้า ช่วยปกป้องบุคลากรไม่ให้ป่วยหนักและเสียชีวิต 82.8% และเดือน มิ.ย.-ส.ค.2564 สายพันธุ์เดลต้า ระบาดแทนสายพันธุ์อัลฟา ซิโนแวคประสิทธิภาพ 75% เปลี่ยนเป็นสูตรไขว้ ซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า สร้างภูมิคุ้มกันต้าน เดลตา ได้หลังฉีดเข็มสอง 2 สัปดาห์
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า สำหรับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เข็มที่ 1 ซิโนแวค และเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ขณะนี้ได้ฉีดแล้ว 2.5 ล้านคน เสียชีวิตจากโควิดเพียง 1 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขอัตราการตายที่ต่ำมาก เพราะตัวเลขของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน 1 ล้านคน จะตายจากโควิดได้ถึง 132 คน เมื่อเทียบกับกรณีนี้ไม่ถึง 1 ในล้าน และใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า จากการเก็บข้อมูลดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เข็มที่ 1 ซิโนแวค ตามด้วยเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า มีประโยชน์อย่างมากในการระบาดช่วงสายพันธุ์เดลตา
สำหรับ แผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งขณะนี้อยู่ในเดือน ก.ย.คาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้ จะมีวัคซีนมากกว่า 15 ล้านโดส โดย 3 วัคซีนหลักที่จะมีในประเทศไทย ได้แก่ ซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7.3 ล้านโดส และไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ในเดือน ต.ค. คาดว่าจะมีวัคซีนทั้งหมด 24 ล้านโดส ทั้งในส่วนของซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส และไฟเซอร์ 8 ล้านโดส ส่วนปลายปี เดือน พ.ย. และธ.ค.จะมีวัคซีนเข้ามาเดือนละ 23 ล้านโดส
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage