สธ.ย้ำผ่อนคลายมาตรการ แต่ระดับสีพื้นที่เหมือนเดิม เผยเดือน ก.ย.เป็นการเตรียมความพร้อมซักซ้อมแนวทาง เปิดร้านได้ตามปกติ เน้นมาตรการรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ยันยังไม่ต้องตรวจ ATK เป็นประจำ ลั่น 1 ต.ค.ต้องพร้อมครบทุกมาตรการ
--------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด ในประเด็น มาตรการปลอดภัยสำหรับร้านอาหารและสถานประกอบการ ว่า วันที่ 1 ก.ย.นี้ เป็นวันแรกที่ ศบค. ปรับมาตรการร้านอาหารเปิดให้บริการนั่งกินในร้านได้ ภายใต้ข้อกำหนด ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ออกความในมาตรการ 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 32 ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ปฏิบัติเข้มตามมาตรการอย่างเคร่งครัด แต่ยังคงแบ่งระดับพื้นที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดเหมือนเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่ที่ต้องจับตาและให้ความสูงสุดยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม 29 จังหวัด
นพ.สุวรรณ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาจะเป็นส่วนกำหนดทิศทางในอีก 1 เดือนข้างหน้า คือเริ่มบังคับใช้ 1 ต.ค. 2564 ควบคู่กับ Universal Prevention (UP) การป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร จะต้องเน้นหลักการทำความสะอาด เว้นระยะห่าง ลดความหนาแน่นของพื้นที่ มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และจำกัดระยะเวลารับประทานอาหาร ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 2) มาตรการสำหรับพนักงาน เน้นหลักการสร้างภูมิคุ้มกัน ฉีดวัคซีนครบโดส และไม่พบเชื้อโดยการคัดกรอง โดยคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วย Thai Save Thai (TST) หรือ APP อื่นๆ และจัดหา Antigen Test Kit (ATK) ให้พนักงาน ทำการตรวจทุก 7 วัน และ 3) มาตรการสำหรับลูกค้า ต้องคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้าน ด้วย Thai Save Thai หรือ APP อื่นๆ สำหรับการเข้าร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ต้องฉีดวัคซีนครบโดส (ต้องมีเอกสารรับรองยืนยัน) หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อมาก่อน อยู่ในช่วง 1-3 เดือน หรือ ATK เป็นลบไม่เกิน 7 วัน
“ผู้ประกอบการพื้นที่สีแดงเข้ม ในวันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป สามารถเปิดร้านได้ตามปกติ ไม่ต้องตรวจ ATK เป็นประจำ แต่ให้เตรียมความพร้อมและดำเนินการตามความพร้อม โยยึดหลัก DMHTT อย่างเข้มงวด โดยเดือน ก.ย. ให้เร่งรัดพนักงานไปฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมาหนคร สามารถกำหนดข้อบังคับที่เข้มงวดกว่าได้ตามสถานการณ์ระบาดและความสามารถที่ระบบสาธารณสุขแต่ละจังหวัดรองรับ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวตอบคำถามกรณี เด็กจะไปทานอาหารในร้านกับผู้ปกครองได้หรือไม่นั้นว่า สามารถเข้าใช้บริการได้ แต่ในพื้นที่สีแดงเข้มผู้ติดเชื้อยังสูง ซึ่งในกลุ่มเด็กมีเพียงกำหนดให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ช่วง 12-18 ปีเท่านั้น ถ้าจะพาเด็กไปรับประทานตามร้านก็ต้องประเมินความเสี่ยง สามารถปฏิบัติ ป้องกัน และร้านทำตามมาตรการที่น่าเชื่อถือหรือไม่ แต่ก็ต้องรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นกรณีมีเด็กอาจสั่งเดลิเวอรี่จะปลอดภัยกว่า และสำหรับสถานประกอบการต้องประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID-19 เพื่อปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยของร้าน หากประชาชนที่พบข้อกังวลว่าร้านอาหารไม่ทำตามมาตรการสามารถแจ้งการประเมินร้านนั้นๆ ผ่าน Thai Stop COVID-19 ได้เช่นกัน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในการพยายามควบคุมโควิดอยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ ไม่ได้เกิดจากภาครัฐฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ เจ้าของร้าน พนักงาน รวมถึงลูกค้า ซึ่งร้านก็ต้องประเมินตนเอง หากพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ก็ต้องปรับปรุง ขณะที่ลูกค้าก็ประเมินผ่าน TST ซึ่งส่วนใหญ่ร้านจะคัดกรองแต่อาการ ซึ่งมากกว่า 80% ของผู้ป่วยโควิดไม่มีอาการแต่แพร่เชื้อได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแยกแยะได้ว่าร้านไหนทำครบถ้วน แต่สิ่งที่ต้องช่วยกันคือหากพบเห็นร้านไม่ดำเนินการตามมาตรการให้สแกนคิวอาร์โค้ดแจ้งมายังกรมอนามัย จะมีการฟีดแบ็กไปที่ท้องถิ่นไปตรวจเตือน แนะนำ และดำเนินการตามกฎหมาย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage