สปสช.-อภ. ยืนยันจัดซื้อ ATK จำนวน 8.5 ล้านชิ้นโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้าน อย. ย้ำชุดตรวจมีคุณภาพ พร้อมเผย WHO ไม่มีการขึ้นทะเบียนชุดตรวจแบบโฮมยูส
........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2564 นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวประเด็น การประมูลจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิด แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit: ATK)
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ATK เป็นชุดตรวจที่ทางอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายนำมาใช้ประกอบกับชุดตรวจมาตรฐาน RT-PCR โดยมีการใช้มากขึ้น และประชาชนสามารถใช้เองได้ ทาง สปสช. จึงมีนโยบายใช้งบจำนวนหนึ่งก่อนสิ้นปีงบประมาณ เพื่อจัดซื้อ ATK เพื่อให้หน่วยบริการของเรากระจายไปให้ประชาชนตรวจได้เอง รวม 8.5 ล้านชิ้น เราตั้งเป้าตรวจในกลุ่มเสี่ยง คาดว่า 1 เดือน จะใช้ประมาณ 3-4 ล้านชุด
ทั้งนี้ตามคำสั่ง คสช.ปี 2560 สปสช.ไม่สามารถจัดซื้อได้เอง แต่จะมีคณะอนุกรรมการจัดทำแผนยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ มีหน้าที่ทำจำนวน ราคา งบประมาณ และกำหนดคุณสมบัติหลัก โดยมีหน่วยงานที่จะทำการจัดซื้อ คือ โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทั้งนี้ สปสช.มีหน้าที่โอนเงินให้โรงพยาบาลราชวิถี ตามมติคณะกรรมการฯ และติดตามกระจายของไปยังหน่วยบริการตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูแลให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
นพ.วิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า อภ.มีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดการหาผลประโยชน์ใด ๆ นำมาสู่การตรวจสอบตามกฎหมาย โดยเราร่วมมือกับ สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การจัดซื้อเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ ที่สำคัญมีการบันทึกวิดีทัศน์ตลอดกระบวนการจัดซื้อไว้ ขณะนั้นมีผู้ยื่นเข้าแข่งกันการประมูลราคา 19 ราย แต่มีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียง 16 ราย เป็นการแข่งขันที่สมบูรณ์ ได้ชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพ ราคาถูกที่สุดในประเทศ แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อวิถีชีวิตใหม่ของประชาชน
"ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข และ อภ.รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด และโปร่งใสที่สุด” นพ.วิฑูรย์ กล่าว
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK เป็นหนึ่งในเครื่องมือแพทย์ที่ อย.รับผิดชอบ โดยมีทั้งการตรวจด้วยวิธีเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก และจากน้ำลาย เพื่อคัดกรองเบื้องต้น ฉะนั้นต้องมีคุณภาพมาตรฐาน อย. ถือเป็นตัวแทนผู้บริโภค มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เราดูแลทุกท่านเหมือนญาติพี่น้อง ดังนั้นเครื่องมือที่เราอนุญาตจะต้องมีมาตรฐาน
นพ.ไพศาล กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK ที่ดำเนินการโดย สปสช.เป็นแบบประชาชนใช้เองได้ หรือ Home Use ซึ่ง อย.อนุมัติไปแล้ว 45 รายการ ส่วนที่ต้องตรวจด้วยบุคลากรสาธารณสุข หรือ Professional Use อนุมัติ 62 รายการ ส่วนมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) มีการอนุมัติใช้แบบฉุกเฉิน หรือ EUL ในส่วนของการใช้โดยบุคลาการสาธารณสุข 4 ราย ฉะนั้นที่ตรวจแบบโฮมยูส ทางองค์การอนามัยโลกไม่ได้ขึ้น ทะเบียนการใช้แบบฉุกเฉินเอาไว้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/