'หมอสุภัทร' สะท้อนกทม.ยังลงทุนในระบบบริการด้านสุขภาพน้อย ไม่มีโรงพยาบาลในระดับแขวง มีเพียงโรงพยาบาลเพียงระดับเขตบางแห่ง แม้แพทย์จะทำงานอย่างหนัก แต่โครงสร้างที่ไม่รองรับกับสถานการณ์วิกฤต จึงทำให้เกิดการระบาดหนักช่วงโควิด ขณะที่ในต่างจังหวัดระบบบริการสาธารณสุขมีทั้งโรงพยาบาลในระดับตำบล อำเภอเมือง และระดับจังหวัด
..............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2564 สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (HA Thailand) จัดงานเสวนาเรื่อง 'โรงพยาบาล HA โรงพยาบาลคุณภาพในสถานการณ์โควิด' ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊กแฟนเพจ HA Thailand มีใจความสำคัญว่า ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย จะมีการเชื่อมโยงและส่งต่อระบบบริการจากระบบปฐมภูมิ อาทิ ครอบครัวและชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกชุมชนอบอุ่น เชื่อมโยงไปยังโรงพยาบาลระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ อาทิ โรงพยาบาลบ้านและชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งระบบบริการสุขภาพทั้งระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาอยู่เสมอเป็นหัวใจสำคัญของโรงพยาบาลคุณภาพ ที่มุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการควบคุมการระบาดและการรักษาคนไข้
โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวด้วยว่า ในมุมมองของแพทย์ชนบทที่ได้ลงมาปฏิบัติภารกิจตรวจคัดกรองเชิงรุกในกรุงเทพมหานครถึง 3 ครั้ง มองว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีจำนวนประชากรหนานแน่น ยังลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพน้อย เพราะในระดับแขวงไม่มีหน่วยบริการ ส่วนในระดับเขตมีบ้าง แต่มีไม่ครบทุกเขต ซึ่งแตกต่างจากต่างจังหวัดที่มีโรงพยาบาลทั้งในระดับชุมชน ตำบล และจังหวัด แน่นอนว่าบุคลากรการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าในกทม.ทำงานหนักมาก ด้วยโครงสร้างที่ไม่รองรับกับการระบาดและสถานการณ์วิกฤต จึงทำให้เกิดการระบาดหนัก
อย่างไรก็ตามจากการปฏิบัติหน้าที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกทั้ง 3 ครั้ง พบว่า การตรวจคัดกรองเชิงรุกครั้งที่ 3 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะจากผลการตรวจพบเป็นบวกในอัตรา 11% ซึ่งต่ำกว่าการตรวจฯในครั้งที่ 2 ที่พบถึง 16% นอกจากนั้นเรายังได้พัฒนาแผนการดูแลผู้ป่วยได้อย่างครบวงจรมากขึ้น
โดยในครั้งแรกเราดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุก เรามาดื้อๆ เรานำชุดตรวจ ATK และ RT-PCR มาใช้ ส่วนผู้ที่พบผลบวกเราบอกประชาชนว่าเราจะช่วยประสานหาเตียงต่อให้ แต่สุดท้ายเราหาไม่ได้ เราพบว่าครั้งแรกนี้เรายังดูแลประชาชนได้ไม่ดี ในครั้งที่ 2 เราจึงร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำข้อมูลผู้พบผลบวกลงระบบ Home Isolation ในฐานข้อมูลกลางของ สปสช. แต่ท้ายที่สุดไม่มีโรงพยาบาลไหนมีเตียงว่าง ประชาชนจึงยังคงตกค้างอยู่ในระบบ ครั้งล่าสุด ราจึงวางแผนหากผู้มาใช้บริการเจอผลบวก ให้นำผู้สัมผัสเสี่ยงทุกคนเข้ามาตรวจได้เลย แม้จะเกินเกณฑ์ที่เรารับตรวจในแต่ละวันก็ตาม นอกจากนั้นได้เตรียมยา และลงพื้นที่ชุมชนแออัดฉีดวัคซีนกลุ่มเปราะบางด้วย ขณะเดียวกันเรายังสร้างยุทธศาสตร์ตีปี๊ปให้ดัง คือ เสนอข่าวสารเพื่อให้ประชาชนในสังคมเกิดความตื่นตัว โดยเฉพาะคนกทม. เพราะเราเชื่อว่าการตื่นตัวจะช่วยสู้ภัยโควิดได้
"ในการบุกกรุงแต่ละครั้งเราได้นำกระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเข้ามาใช้ด้วย โดนจะเห็นว่าเราได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติการตรวจเชิงรุก เราเข้ามาอย่างมีดีไซน์ และมียุทธศาสตร์ เพื่อทำให้การบริการประชาชนดีขึ้น" นพ.สุภัทร กล่าว
ส่วนมุมมองต่อการส่งผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนา นพ.สุภัทร กล่าวว่าเป็นแนวคิดที่ดีที่เปิดโอกาสให้คนกทม.ได้กลับบ้านเกิดไปรักษาตัว แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญ คือ ต้องดูแลกระบวนการส่งต่อผู้ป่วยที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
ขณะที่ นพ.มานพ ฉลาดธัญกิจ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวด้วยว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในจังหวัดนครพนม เป็นผู้ที่กลับมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม โดยช่วงพีคที่สุดอยู่ในเดือน ก.ค.2564 เราจึงได้วางแผนเป็นสโลแกนว่า 'ป่วยกลับมาพร้อมดูแล (Test) ป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชน (Tracing) และทุกคนมีภูมิคุ้มกัน (Take Vaccine) ' กล่าวคือ เราจะเตรียมระบบสาธารณสุขรองรับผู้ป่วยที่เดินทางกลับบ้าน มีการตั้งด่านให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าจังหวัดต้องมีใบรับรองการตรวจหาเชื้อโควิดเป็นลบ ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจให้กับประชาชน และส่งเสริมการฉีดวัคซีนในชุมชน ทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดในจังหวัดได้ดี
"เป้าหมายของเราจริงๆ ไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิต เพราะอาจมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นได้ก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้ชาวนครพนมมีความปลอดภัยมากที่สุด ต่อการเสียชีวิต การป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่กระจาย" นพ.มานพ กล่าว
ส่วน นพ.สมบูรณ์ มะลิขาว โรงพยาบาลระยอง กล่าวอีกว่า จังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่ไม่ไกลจาก กทม.มากนัก ห่างกันประมาณ 200 กิโลเมตร ซึ่งต้องยอมรับว่าในการระบาดระลอกแรก เราตั้งตัวแทบไม่ทัน แต่โชคดีที่เชื้อโควิดในขณะนั้นไม่ได้มีความสามารถระบาดไวเท่าสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ดังนั้นเมื่อเราควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว จึงพัฒนาระบบรองรับไว้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นระบบห้องผ่าตัดที่สามารถปรับให้เป็นความดันลบและบวกได้ การสร้างระบบภายในโรงพยาบาลให้เป็นระบบเซนเซอร์ หรือการใช้หุ่นยนตร์เข้ามาช่วยแจกยาให้กับผู้ป่วยโควิด เพื่อลดการสัมผัส
หรือการซีลด์รถบัสหรือรถของกองทัพเรือ เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิดเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล และจะมีการนำเทคโนโลยีมาสร้าระบบการติดตามผู้ป่วยในรูปแบบแอปพลิเคชัน ซึ่งขณะนี้กำลังพัฒนา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเรียกรถฉุกเฉินเข้าไปรับถึงบ้านตนเอง โดยไม่ติดไฟแดง เนื่องจากประสานกับหน่วยงานด้านจราจรไว้แล้ว นอกจากนั้นยังจัดทำระบบการจัดการขยะติดเชื้อไว้ด้วย
"โรงพยาบาลของเราพัฒนามาจนถึงขณะนี้ เราไม่สามารถยืนด้วยตัวคนเดียว ต้องมีคอนเนคชัน โดยเราได้ประสานความร่วมมือไปยังหลายหน่วยงานและเครือข่าย ทั้งผู้ประกอบการ ประชาชน อบจ. สาธารณสุขจังหวัด สื่อมวลชน โรงเรียน จิตอาสา ทหาร ตำรวจ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ และอีกมากมาย ซึ่งช่วยพัฒนาให้เราสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ดีและมีความปลอดภัยมากขึ้น" นพ.สมบูรณ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ อุทัยวิบูลย์ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด โรงพยาบาลเราโชคดีที่ได้สร้างห้องความดันลบ และอาคารสำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินระบบหายใจอยู่แล้ว เมื่อเจอการระบาดของโควิด เราจึงมีอาคารดูแลผู้ป่วยนี้ทั้งตึกรองรับ
อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลของเราประสบกับการติดเชื้อของบุคลากรการแพทย์และบุคลากรด่านหน้า โดยในครั้งแรกเราพบพนักงานทำความสะอาดติดเชื้อ จึงได้สอบสวนสาเหตุพบว่าการถอดชุด PPE อาจไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการพัฒนาระบบบัดดี้ คือเวลาถอดชุด PPE จะต้องมีบัดดี้คอยดูว่าถอดได้อย่างถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกและนำไปสัมผัสใบหน้า จะต้องกักตัวเอง นอกจากนั้นผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวยังไม่ฉีดวัคซีน จึงทำให้โรงพยาบาลมีนโยบายให้บุคลากรผู้เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโควิดทุกคนฉีดวัคซีน 100%
ต่อมาเกิดการระบาดอีกครั้ง กระจายไปทั้ง 4 ตึก เกิดเป็นคลัสเตอร์ในกลุ่มแพทย์ คนไข้ และผู้ดูแลคนไข้กว่า 149 คน แม้บุคลากรการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าของเราทุกคนจะฉีดวัคซีนครบหมดแล้ว แต่ในการสอบสวนโรคเราพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ยังไม่ได้รับวัคซีน เราจึงใช้โอกาสนี้ในการเผยแพร่ข้อมูลและรณรงค์การฉีดวัคซีนไปในตัว รวมถึงการเร่งตรวจหาเชื้อ คัดแยกผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งเราสามารถปิดจ๊อบได้ไวภายใน 1 สัปดาห์ ถือได้ว่าเราสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ไว
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญหาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวสรุปว่า จากกรณีข้างต้น สามารถถอดบทเรียนได้ว่า การพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยมีมายาวนานแล้ว ซึ่งตอนแรกเราเคยตั้งเป้าหมายไว้ใน 2 ส่วนที่สำคัญ คือ Patient คนไข้ต้องได้รับบริการอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย และ Personnel บุคลากรการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ระบบบริการด้านสุขภาพดำเนินต่อไป แต่ในสถานการณ์โควิดทำให้เราเห็น People ประชาชน เป็นอีกส่วนที่สำคัญอย่างมาก หากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนต่อบุคลากรการแพทย์ การที่จะควบคุมสถานการณ์การระบาด คงเป็นไปได้ยาก
"ระบบบริการสุขภาพจะปลอดภัยและแข็งแรงได้ต้องมี 3P คือ Patient Personnel และ People ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการวางแผนการดูแลผู้ป่วยและประชาชนในพื้นที่ด้านสุขภาพที่แตกต่างกันไปตามบริบท แต่มีแก่นที่เหมือนกันคือการมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยและประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย " พญ.ปิยวรรณ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage