รัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.วาระสอง โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ปรับสัดส่วน ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน พร้อมปรับวิธีคำนวณ จากนี้รออีก 15 วัดนัดลงมติวาระสาม
---------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2564 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม เข้าสู่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ ...) พ.ศ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งต่อเนื่องจากวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้เริ่มจากการลงมติให้อนุญาตให้มีการแก้ไขเนื้อหาจากเดิมที่เสนอ 9 มาตรา เหลือเพียง 4 มาตรา ตามที่ กมธ.เสนอ
- ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๑) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
@ เสียงข้างเห็นชอบ ม.91 ปรับวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
เมื่อเวลา 17.10 น. ที่ประชุมรัฐสภาเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 91 ว่าด้วยการแก้ไขระบบคำนวณคะแนนเลือกตั้ง เพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็ฯสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครแต่ละพรรคได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลข
ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัคร รวมถึงการออกเสียงลงคะแนน การนับคะนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 435 ต่อ 76 งดออกเสียง 85 เสียง ไม่ลงคะแนน 0 เสียง เห็นชอบกับ กมธ.เสียงข้างมากในการแก้ไขมาตรา 91
ก่อนหน้านี้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนให้พรรคที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่า 0.2% ของคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ จะไม่ถูกนำไปคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเมื่อได้คะแนนดังกล่าวแล้วให้นำไปคำนวณหาคะแนนพึงมีแต่ละพรรค และนำไปลบกับ ส.ส.เขต จะเท่ากับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นพึงจะมี สำหรับเหตุผลที่เสนอแบบนี้เพราะพวกเราต่างก็มาบทเรียนว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่เป็นธรรม และไม่สะท้อนถึงเสียงประชาชน
นายรังสิมันต์ ยกตัวอย่างการเลือกตั้งครั้งหนึ่งที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พบว่า พรรค ก.ได้คะแนน 40.64% พรรค ข.ได้คะแนน 26.58% แต่เมื่อคำนวณที่นั่งในสภา พรรค ก.กลับได้ที่นั่ง 49.6% และ พรรค ข.ได้ที่นั่ง 25.6% กรณีนี้จะพบว่า พรรค ข.เสียเปรียบ และนั่นเป็นปัญหาที่แสดงให้เห็นว่าระบบเลือกตั้งที่เคยใช้มามีปัญหา ไม่สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนผู้มาสิทธิ์เลือกตั้ง ปัญหาแบบนนี้เชื่อว่าที่ประชุมรัฐสภาล้วนมองเห็นและทราบปัญหา แต่เรากลับยังคงดึงดันไปสู่ระบบการเลือกตั้งที่เห็นว่ามีปัญหาและไม่ถูกต้อง รัฐสภาต้องยอมรับได้แล้วว่าระบบเลือกตั้งดังกล่าวไม่มีเหตุใดๆที่จะยอมรับ ข้อเสนอที่ตนเสนออาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่มีการพัฒนามาจากปี 2540 การเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ ยังมีอยู่ในคำสงวน เพียงแต่การคำนวณจะต้องทันสมัย ไม่โบราณเหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุคเก่า นี่ไม่ใช่การพาประเทศไปหายุคดั้งเดิมแต่ต้องพาไปข้างหน้าที่สภาพสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
"หากคิดสมการง่ายๆ 0.2% ของ 500 คน คือ ส.ส. 1 คน หากใช้เกณฑ์นี้คำนวณ แล้วเทียบกับผลเลือกตั้งปี 2562 จะพบว่าคะแนนขั้นต่ำที่ถูกนำมานับได้คือ 70,000 คะแนนที่คิดว่าเป็นตัวเลขไม่มากเกินไป และเปิดโอกาสให้กับพรรคขนาดเล็กเข้ามามีส่วนร่วมได้ สะท้อนความหลากหลายที่เรามีอยู่ในสังคมไทยได้" นายรังสิมันต์ กล่าว
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอให้มีการกำหนดอัตราคะแนนขั้นต่ำที่จะถูกนำไปคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ที่ 1% ของคะแนนรวมบัญชีรายชื่อ หากในการเลือกตั้งคราวหน้ามีคนมาใช้สิทธิ์ 40 ล้านคน จำนวน 1% เท่ากับ 400,000 คะแนน ถ้าต่ำกว่านั้นไม่มีสิทธิ์นำคะแนนมาคำนวณ เหตุผลที่กำหนดอย่างนี้ หากกลุ่มที่มีฐานเสียงน้อยกว่า 400,000 คะแนนก็ไม่ควรส่งเข้ามารบกวนประชาชน ซึ่งตนมั่นใจว่าแต่ละกลุ่มมีฐานคะแนนความนิยมเป็นล้านขึ้นไป การทำแบบนี้จะเป็นแรงจูงใจให้แต่ละกลุ่มต้องมีความมั่นคงพอสมควร ทั้งนี้การกำหนดสัดส่วนจะเป็นการให้ระบบการเมืองในสภาที่เป็นผู้กำหนดรัฐบาล ไม่ต้องมีพรรคเล็กพรรคน้อยเกินความจำเป็น
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ส่วนที่หลายคนบอกว่าการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คะแนนเป็นวิธีโบราณและไม่สะท้อนความนิยมของประชาชน หากมองจากมุมนี้ถูกต้องเลย เพราะถ้าจะสะท้อนเสียงประชาชนต้องดูว่า ประชาชนเลือก ส.ส.เขต ซึ่งเขาสังกัดพรรคการเมือง ส่วนเลือกบัญชีรายชื่อก็เลือกสังกัดพรรคการเมือง ดังนั้นเขาต้องการทั้งคนและพรรค เหตุใดไม่นำทั้ง 2 คะแนนมารวมกัน เพราะสะท้อนความต้องการของประชาชนมากกว่า
ด้าน พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายว่า การไม่กำหนดคะแนนขั้นต่ำ อาจทำให้มีพรรคเล็กจำนวนมาก การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นประวัติการณ์ ทุกคนตั้งพรรคหวังได้ 20,000 - 30,000 คะแนนจะได้มี ส.ส. ซึ่งมีคนสมหวังมีพรรคเล็กร่วม 10 พรรค กติการเลือกตั้งปี 2560 พัฒนาการทำให้มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครถึง 81 พรรคได้รับเลือกตั้ง 26 พรรค สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความอ่อนแอ มีการต่อรองต่อเนื่อง เกิดปรากฏการณ์กล้วยเลี้ยงลิง เกิดปรากฎการณ์พรรคฝ่ายค้านอิสระ ที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงขอเสนอว่า พรรคใดได้คะแนนบัญชีรายชื่อ น้อยกว่า 1% ของคะแนนรวมทั้งประเทศ ถือว่าไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และไม่ให้นำคะแนนไปคำนวณ และขอพยากรณ์ว่าเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เมื่อนำร่าง รธน.ฉบับนี้มาใช้ จะมีพรรคที่ได้คะแนนจนมี ส.ส. 1 คน ประมาณ 3-4 พรรค เพราะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลงเหลือ 100 คน
ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะทำให้พรรคใหญ่กินรวบ พรรคมใหญ่จะผงาด ปิดโอกาสพรรคเล็ก จะมีคะแนนแบบเบ็ดเสร็จสุดโต่ง พรรคใหญ่ได้ ส.ส.แบบก้าวกระโดด ได้ ส.ส.พึงมีเกินจริง ที่ผ่านมาเขาเห็นว่า รธน.ที่ใช้ในปี 2540 มีข้อบกพร่อง เขาจึงแก้ แต่เรากำลังย้อนรอยใช้สิ่งที่บกพร่อง อย่างไรก็ตามระบบบัตรใบเดียวก็มีข้อบกพร่องเพราะเป็นระบบที่เรียกว่ามัดมือชกไม่ตรงความต้องการประชาชน จึงขอเสนอว่าการแก้ไขในครั้งนี้ น่าจะแก้แล้วดีขึ้น เป็นธรรม แก้ข้อบกพร่องของ รธน.ปี 2540 และ ปี 2560 โดยควรเอาข้อดีของทั้งสองฉบับมาผสมกัน เพื่อสะท้อนความต้องการประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อเลือกคนที่รักและพรรคที่ชอบโดยเสรี
@ เพิ่มบทเฉพาะกาล บังคับใช้ รธน.ใหม่ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก
นอกจากนั้นที่ประชุมยังมติเห็นชอบด้วยคะแนน 440 ต่อ 5 งดออกเสียง 132 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง เพิ่มบทเฉพาะกาล กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรก ไม่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 ของ รธน.ที่แก้ไขเพิ่มนี้มาใช้บังคับ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรก ภายหลังประกาศใช้ รธน.นี้
ในระหว่างที่ยังมิให้นำบทบัญญัติของ รธน.ที่แก้ไขเพิ่มมาใช้บังคับตามวรรคหนึ่ง ให้บทบัญญัติของมาตราดังกลฃ่าวก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมหรอืก่อนที่ถูกยกเลิกโดย รธน.นี้ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ตราขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัตินั้นยังคงนำมาใช้บังคับต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติร่างแก้ไข รธน.ในวาระสองจนเสร็จสิ้น มาตรา 256 แห่ง รธน.ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องทิ้งไว้ 15 วันจึงจะสามารถลงมติวาระสามได้ จึงได้สั่งปิดประชุมทันที
@ มติเสียงข้างมาก 476 เสียงเห็นชอบปรับสัดส่วน ส.ส.-บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ลงมติเสียงข้างมาก 476 ต่อ 70 เสียง งดออกเสียง 91 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากในการแก้ไขมาตรา 83
ก่อนหน้านี้พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายสนับสนุนการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ว่า ไม่ว่าจะระบบไหน ก็ควรใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ เลือกเขต 1 ใบ และ บัญชีรายชื่อ 1 ใบ เพราะเราทดลองใช้บัตรใบเดียวพบปัญหามากมาย มีการร้องเรียนต่อ กกต. ฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้น รธน. ยังต้องเขียนไว้อีกว่า เมื่อครบ 1 ปีแล้วให้ยกเลิกการนำมาคำนวณ จะเห็นว่ามันยุ่งยากและต้องไปแก้ไขกันอยู่เรื่อย
“ผมสงสาร ส.ส.ท่านหนึ่งที่นั่งอยู่ในสภา พอมีการเลือกตั้งซ่อม ไปคำนวณใหม่ ท่านต้องกลับบ้านเลย เพราะเศษของท่านสู้เศษของคนอื่นเขาไม่ได้ บัตรใบเดียวจึงไม่สมควรนำมาใช้ไม่ว่าจะระบบไหนก็แล้วแต่” พลเอกเลิศรัตน์ กล่าว
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอย้ำว่าพรรก้าวไกลมีความเห็นว่าระบบการเลือกตั้งที่พรรคสนับสนุนคือระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ คือ ใช้สำหรับเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลไม่เคยมีความเห็นการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทั้งนี้การเลือกตั้งบัตรสองใบ ไม่ใช่ว่าต้องใช้วิธีคำนวณแบบวิธีโบราณเหมือนที่เคยทำมา เราสามารถเรียนรู้วิธีใหม่ๆได้ ส่วนการกำหนดตัวเลข ส.ส.เขต 350 คนและบัญชีรายชื่อ 150 คน เป็นการเปิดโอกาสให้มีผู้แทนประชาชนที่หลากหลาย กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ทันทีที่มีบัญชีรายชื่อมากขึ้น คือกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนรายประเด็น เช่น กลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ เขาอยู่กระจัดกระจายหลายจังหวัด หากมุ่งเน้นแบบแบ่งเขต โอกาสที่คนเหล่านี้จะเข้ามาทำหน้าที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมีสัดส่วนเล็กมาก
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างการทำ ส.ส.เขต 400 คนและ 350 คน ในทางปฏิบัติประชากรที่ลดลงไปต่อเขตที่อ้างว่าจะทำให้ ส.ส.กับประชาชนใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่หากทำความเข้าใจโดยใช้คณิตศาสตร์ จะพบว่า อัตราที่ลดลงไปแทบไม่มาก ยกตัวอย่าง จำนวนผู้มิสิทธิ์เลือกตั้ง 51 ล้านคน หากแบ่ง 400 เขต ประชากรต่อเขตจะคิดเป็น 127,000 คน หากแบ่ง 350 เขต จำนวนประชากรต่อเขตจะคิดเป็น 145,714 คน สัดส่วนแตกต่างกันไม่ถึง 2 หมื่นคน การดูแลประชาชนที่ ส.ส.เขตต้องเป็นตัวแทนก็ยังมากอยู่ดี การดูแลประชาชนในเขตให้มีประสิทธิภาพก็มีท้องถิ่นอยู่แล้ว และบทบาทของ ส.ส.ควรมีหน้าที่เอาปัญหาของประชาชนมาพูดในสภา ผลักดันกฎหมายให้เกิดประโยชน์ ตรวจสอบการทำงานรัฐบาล เหล่านี้คือภารกิจสำคัญของพวกเรา
“ผมทราบดีว่าทุกข์สุขของพี่น้องในพื้นที่ของท่านมีความสำคัญ แต่ต้องยอมรับว่าหากสภาเข้มแข็ง เราจะมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ประเภทวิ่งไปของบประมาณในพื้นที่อาจจะไม่มีความจำเป็นต่อไป การทุจริตก็มีโอกาสน้อยลงไปด้วย เมื่อบริหารงานได้มีประสิทธิภาพ โอกาสที่เม็ดเงินจะลงสู่ประชาชนก็จะมีมากยิ่งขึ้น” นายรังสิมันต์ กล่าว
ต่อมา นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.เสียงข้างมาก อภิปรายชี้แจง ว่า ในมาตรา 83 นี้มีผู้แปรญัตติไว้ 32 ฉบับ มี กมธ.สงวนความเห็น 10 กว่าท่าน และมีสมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิ์อภิปรายใช้เวลาไปมากพอสมควร ตนได้รับมอบหมายจาก กมธ.เสียงข้างมาก ขอชี้แจงว่า เราต้องยอมรับว่าบ้านเมืองเรามีโจทย์ทางการเมืองหลายโจทย์ในขณะนี้ ปัญหาวิกฤติโรคระบาด เศรษฐกิจ และวิกฤติทางการเมือง โจทย์หนึ่งคือเรื่อง รธน. มาถึงวันนี้มีประเด็นที่เป็นข้อกล่าวหาที่อาจทำให้ประชาชนสับสนได้คือ ประชาชนอยากได้ รธน.ที่กินได้ ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากร่าง รธน.ผ่านความเห็นชอบ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งที่จะถอดสลักทางการเมือง เพื่อต้องการให้การแก้ไข รธน.เป็นไปตามเป้าหมายวัตถุประสงค์
นายชินวรณ์ กล่าวด้วย สำหรับมาตรา 83 มีสาระสำคัญชัดเจน เป็นมาตราหลักที่ได้เสนอร่างแก้ไข รธน. เป็นบทบัญญัติว่าด้วยระบบการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ให้มีสัดส่วน ส.ส.เขต 400 คนและบัญชีรายชื่อ 100 คน เหตุผลที่เราย้อนกลับไปใช้เหมือน รธน.ปี 2540 เราเห็นว่า เราเริ่มต้นจากการยกร่าง รธน.ที่มาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และเคยใช้มาแล้วในปี 2540 และ 2550 นอกจากนั้นคิดว่าการเลือกตั้งที่ดีต้องไม่สลับซับซ้อน ไม่นำไปสู่ ส.ส.ปัดเศษ บัตรเขย่ง หรือมีรัฐบาลแบบผสมที่มีพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก ทำให้เสถียรภาพรัฐบาลไม่เข้มแข็งพอ
“การเลือกตั้งระบบเขตที่มี 400 เขต ไม่ได้หมายความว่าจะผลักดันให้ ส.ส.ไปทำงานท้องถิ่น ผมคนหนึ่งผ่านระบบการเลือกตั้ง 9 สมัยเป็น ส.ส.เขตคนหนึ่งในรัฐสภาที่อาวุโสที่สุดในขณะนี้ ส่วนที่อาวุโสมากกว่าผมก็อยู่ในบัญชีรายชื่อ แต่ผมยืนยันว่าในการทำหน้าที่ คือบทบาทในระดับชาติ พอๆกันกับการดูแลประชาชนในฐานะเป็นตัวแทน และนักการเมือง” นายชินวรณ์ กล่าว
@ มติ 476 ต่อ 6 งดออกเสียง 133 พิจารณาเห็นด้วยแก้ ม.86
เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณามาตรา 86 โดย กมธ.เสียงข้างมาก ยืนยันว่า เป็นการแก้ไขเนื้อหา เพื่อให้สอดรับกับมาตรา 83 คือ กำหนด ส.ส.แบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน อย่างไรก็ตาม มาตรานี้ได้ถูกเพิ่มขึ้นใหม่ในชั้น กมธ. ที่ทำให้บางส่วนเห็นว่าเป็นการแก้ไขเกินกว่าที่มีการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง
โดยนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวยืนยันว่า ในการพิจารณาในชั้น กมธ.มีการลงมติทุกมาตรา โดยมาตรานี้มีผู้เห็นชอบ 25 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และมีผู้ประสงค์ไม่ลงคะแนน 2 เสียงเนื่องจากเห็นว่าเป็นการแก้ไขเกินหลักการ ดังนั้น กมธ.เห็นชอบตามที่มีการแก้ไขมาตรา 86 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการเท่านั้น
ทั้งนี้ที่ประชุมรัฐสภามีมติ 471 ต่อ 6 เสียง งดออกเสียง 133 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 86
@ 'ก้าวไกล' - พรรคเล็ก ค้านลด ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 10.20 น.ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาการแก้ไข รธน. วาระสอง ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเนื้อหาการแก้ไขมาตรา 83 เกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วน ส.ส. 500 คน ทั้งจากเขตและบัญชีรายชื่อ
นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรมีการแก้ไข และควรใช้ ส.ส.เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน เนื่องจากสัดส่วนของ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ไม่ควรห่างกันมากนัก ส่วนการกำหนดให้มี ส.ส.เขตในพื้นที่เพิ่มขึ้น หมายความว่าเราต้องการภาพสะท้อนในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่ในการทำงานระดับชาติ ต้องดูเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงกลุ่มคนที่มีหลากหลาย เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มศาสนา กลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มแม่ค้าหาบเร่แผงลอย เป็นต้น หากใช้แบ่งเขต เขาคงไม่มีตัวแทนมาอยู่ในสภา
“ผมขอเรียนว่า สัดส่วน ส.ส.เขต 350 คนและบัญชีรายชื่อ 150 คน มันจะไปเหมาะสมกับการคำนวณแบบใหม่ที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือการคำนวณโดยใช้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นหลัก เพื่อสะท้อนความต้องการ ตามหลักการที่ว่าเลือกคนที่รัก เลือกพรคที่ใช้ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ตามความต้องการของประชาน ไม่มี ส.ส.ปัดเศษ เพื่อสะท้อนความเป็นตัวแทนของคนไทยเข้ามาทำหน้าที่แทนคนทั้งประเทศ” นายธีรัจชัย กล่าว
เช่นเดียวกับ นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท อภิปรายสนับสนุนให้มี ส.ส.เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน เห็นว่าประเทศควรจะได้ประโยชน์จากความหลากหลายทางอาชีพ ทางหลากหลายทางกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาทำงานในพรรคการเมือง ก่อนที่ประชาชนจะสะท้อนด้วยการเลือกพรรคการเมืองเหล่านั้น ดังนั้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน จะทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากความหลากหลาย ความรู้ความสามารถของคนที่สนใจมาทำงานการเมืองเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
ขณะที่ นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า ว่า การเพิ่ม ส.ส.เขตเป็น 400 คน มีข้อดีทำให้ประชาชนเลือกผู้แทนได้มากขึ้น แต่ข้อเสียทำให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงทวีความรุนแรงมากขึ้น การเลือกตั้งแข่งขันดุเดือดขึ้น จนเป็นธรรมเนียมที่ว่าเงินไม่มา กาไม่เป็น ตอนนี้เป็นทุกภาคส่วนของประเทศ ไปฟังปราศรัยได้ก่อน 200 บาท คืนหมาหอน 500 บาท ดังนั้นระบบเลือกตั้ง ส.ส.เขต 400 คนและบัญชีรายชื่อ 100 คนเหมาะสมกับประเทศไทยจริงหรือไม่ เพราะสร้างปัญหาให้ประเทศมาโดยตลอด ทำให้เกิดเผด็จการสภา สุดท้ายจบด้วยปฏิวัติรัฐประหาร
“ขอถามผู้มีอำนาจว่าไม่กลัวผีแล้วหรือครับ อดีตเคยกลัวผี ว่าผีจะกลับมา วันนี้ไม่กลัวแล้วหรือครับ หรือว่าเพียงเพื่อให้ได้ประโยชน์เท่านั้น ท่านก็ไม่กลัวสิ่งที่ท่านเคยเตรียมไว้ ท่านเลิกกลัวแล้วใช่หรือไม่ครับ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น” นายวิรัตน์ กล่าว
@ รัฐสภาเสียงข้างมากอนุญาต กมธ.แก้เนื้อหา-เดินหน้าถกวาระสอง
นายไพบูลย์ ชี้แจงว่า รายงานที่ กมธ.ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมและนำเสนอเพื่อที่จะขอให้พิจารณาลงมติในวาระที่ 2 นั้น ได้มีการปรับปรุงและตัดออกหลายมาตรา เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น อาทิ มาตรา 85 ว่าด้วยการกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน และบทเฉพาะกาลเรื่องให้อำนาจ กกต.ออกประกาศเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง กรณีที่มีการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งไม่ทัน 120 วัน
ส่วนเนื้อหาที่ กมธ.ยังคงเสนอเพิ่มเติมนอกเหนือจาก มาตรา 83 และ มาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้งนั้น คือ มาตรา 86 เพื่อปรับตัวเลข ส.ส.เขตจาก 350 คนเป็น 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ให้สอดคล้องกับหลักการ รวมถึงคงบทเฉพาะกาลว่าด้วยกรณีที่มีการเลือกตั้งซ่อม จะไม่นำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับ ยกเว้นมีการเลือกตั้งทั่วไป
ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติอภิปรายว่า การที่ กมธ.มีมติแก้ไขรายละเอียดแบบแบบฉุกละหุกเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณา จนถึงเวลานี้ยังไม่เห็นเนื้อหาว่าแก้อย่างไรบ้าง จึงไม่แน่ใจว่ากระบวนการแก้ไข รธน.จะเป็นอย่างไร และเชื่อว่าจะมีผู้ยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ส.
“ผมมีข้อเสนอว่า อะไรที่เราคิดว่าอยากจะแก้ไขในสิ่งที่เราทำมาแล้ว เราก้แก้ไขในระหว่างที่มีการพิจารณา เมื่อถึงข้อนั้น มาตรานั้น ท่านประธานก็สามารถบอกว่า กมธ.ขอตัดออก ขอแก้ไขได้และใช้มติที่ประชุม ดังนั้นการแก้ไขของ กมธ.ควรพิจารณาในที่ประชุม ไม่ใช่ใช้มติ กมธ.แก้ไขเปลี่ยนแปลง” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
ขณะที่ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าในฐานะผู้แปรญัตติ พบว่า มีการแก้ไขคำแปรญัตติที่ไม่ตรงกับคำขอที่เสนอต่อที่ประชุม จึงขอถอนญัตติ เพื่อนำกลับไปแก้ไขให้สมบูรณ์ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติเป็นการเฉพาะ จึงไม่อยากให้มีข้อผิดพลาดจนเป็นปัญหาระยะยาว
ทั้งนี้ นายชวน ยืนยันว่า เมื่อ กมธ.แก้ไขเปลี่ยนแปลง จึงต้องขอมติจากที่ประชุมรัฐสภา ตามข้อ 37 ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 โดยสรุปที่ประชุมมีมติ 357 ต่อ 42 เสียง งดออกเสียง 86 เสียง เห็นด้วยให้ กมธ.ปรับปรุงเนื้อหาตามที่เสนอ จากนั้นเวลา 10.20 น. ที่ประชุมรัฐสภาเข้าสู่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ ...) พ.ศ... ในวาระที่สอง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage