‘อิศรา’ร่วม ป.ป.ช.จัดกิจกรรม กก.พบ บก.สื่อมวลชน เผยเหลือคดีค้างเก่าไต่สวนไม่ทัน 3 ปี อีก 600 เรื่อง รับไม่อาจทำได้ตามบัญญัติไตรยางศ์เป๊ะ ๆ แต่จะเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว เผยตั้งองค์คณะไต่สวน 26 คดีสำคัญ-สินบนข้ามชาติ
..................................................................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จัดกิจกรรมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ ประเด็น ‘ครบรอบ 3 ปี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561’ ผ่านระบบ Zoom โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยกรรมการ ป.ป.ช. และมีนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าร่วมด้วย
โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต้อนรับสื่อมวลชนโดยสรุปว่า ปีนี้คือปีที่พิเศษเนื่องจากครบรอบ 3 ปีของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 หรือกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 โดยมีเงื่อนไขพิเศษตามกฎหมายใหม่ดังกล่าวว่า เรื่องไต่สวนที่รับไว้ดำเนินการก่อนวันที่ 21 ก.ค. 2561 ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี อย่างไรก็ตามหากยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ป.ป.ช. ยังมีหน้าที่และอำนาจไต่สวนต่อไปได้ตราบใดยังอยู่ในอายุความ แต่มีประเด็นคือการดำเนินการที่ล่าช้านั้น มีปัญหาและอุปสรรคจากอะไร เกิดจากการบกพร่องของผู้รับผิดชอบสำนวน หรือตัวกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยหรือไม่ อย่างไร ตรงนี้จะนำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า นอกจากนี้การดำเนินการตามกฎหมายใหม่ ป.ป.ช. คือ จะมีการแบ่งโครงสร้างใหม่ โดยมีการเพิ่มการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น หากมีมูลจึงจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยในปี 2564 ข้อมูลถึงวันที่ 27 ก.ค. 2564 มีเรื่องรับไต่สวน 1,390 เรื่อง คงเหลืออีก 2,705 เรื่อง ถ้าถามว่าวันนี้มีการไต่สวนเรื่องที่รับไว้ก่อนปี 2561 ครบถ้วนเสร็จสิ้นหรือไม่ ตอบว่าเราไต่สวนหมด แต่ยังมีเรื่องที่ยังไม่สู่การวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. น่าจะเหลือประมาณ 600 เรื่อง แบ่งเป็นไต่สวนเสร็จแล้วส่งสำนวนมารอการพิจารณาคณะกรรมการ ป.ป.ช. กว่า 200 เรื่อง อีก 400 เรื่องอยู่ระหว่างการไต่สวน และได้มอบสำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบรายละเอียดแต่ละเรื่องถึงลำดับความเป็นมา การดำเนินงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบว่า ดำเนินการไปอย่างไร ครบถ้วนหรือไม่ มีปัญหาและอุปสรรคตรงไหน เป็นต้น
“แม้ตามกฎหมายใหม่บอกว่าต้องไต่สวนให้เสร็จภายใน 2 ปีขยายได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ข้อเท็จจริงการทำงานของ ป.ป.ช. การรวบรวมพยานหลักฐาน การอำนวยความยุติธรรม ไม่อาจทำได้แบบบัญญัติไตรยางค์เป๊ะ ๆ ใน 2-3 ปี ทุกอย่างขึ้นกับพยานหลักฐาน พยานบุคคล และการขอความเป็นธรรม โดยตามกฎหมายสำนักงาน ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตามคำขอ” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดแล้วส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) และมีการติดตามการทำงานเพื่อดูว่า อสส. มีข้อสั่งการอย่างไร โดยมีการเก็บรวบรวมเป็นเชิงสถิติไว้หมด โดยตามกฎหมายใหม่ ป.ป.ช. กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ชัดเจนเกี่ยวกับการส่งสำนวนไปยัง อสส. เพื่อส่งฟ้องศาล หรือมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. นอกจากนี้ยังติดตามเรื่องที่ อสส. ไม่เห็นด้วยกับสำนวนของ ป.ป.ช. ด้วย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องเองไปแล้ว 53 คดี โดยศาลพิพากษาลงโทษ 33 คดี ยกฟ้อง 20 คดี หรือมากกว่า 50% สะท้อนว่าเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งทีเดียว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการตั้งองค์คณะไต่สวน (มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) อย่างน้อย 26 คดี โดยเป็นคดีเกี่ยวกับเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือคดีสำคัญอีกด้วย
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage