สตง. สอบเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว พบปัญหาหน่วยงานรับตรวจ ฝ่าฝืนระเบียบสรรพากรไม่นำส่งเงินรายได้กระทรวงคลัง ช่วง ต.ค.62-ม.ค.63 กว่า 87.42 ล้าน จี้ดำเนินการแก้ไขทำตามระเบียบแล้ว
.............................
ระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว ที่ได้ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบVat Refund for Tourists (VRT) และเดินทางออกนอกราชอาณาจักรตามเงื่อนไขที่กำหนดมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระไปแล้ว ของหน่วยงานรับตรวจแห่งหนึ่ง ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติงานกรณีการไม่นำส่งเงินตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึงมกราคม 2563 ทำให้กระทรวงการคลังไม่ได้รับเงินรายได้แผนดิน เป็นจำนวนเงินกว่า 87.62 ล้านบาท พร้อมเร่งรัดทำให้มีการแก้ไขปัญหาแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ เรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของหน่วยงานรับตรวจแห่งหนึ่ง
ระบุว่า การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว ที่ได้ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบVat Refund for Tourists (VRT) และเดินทางออกนอกราชอาณาจักรตามเงื่อนไขที่กำหนดมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระไปแล้ว โดยนักท่องเที่ยวมีสิทธิขอคืนได้ 4 วิธี คือ (1) เงินสด (สกุลเงินบาทเท่านั้น) (2)ดราฟต์ โดยระบุสกุลเงินได้ 4 สกุล ได้แก่ USD, Euro, Yen, Pound Stering (3) โอนเข้าบัญชีบัตรเครดิต VISA Master Card และ JBC (4) คืนผ่าน MobileApplication ในรูปแบบ E-Wallet (Wechat - Allpay)
ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มีสิทธิจะได้รับคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราที่กำหนด สำหรับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนต่างระหว่างจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่นักท่องเที่ยวจ่ายกับจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่ายคืนให้นักท่องเที่ยวจะถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวและนำส่งกรมบัญชีกลางด้วยระบบ GFMIS โดยนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินประเภทรายได้เบ็ดเตล็ดอื่น และเงินนอกงบประมาณประเภทค่าใช้จ่ายในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ตามสัดส่วนที่กระทรวงการคลังกำหนดในแต่ละปีงบประมาณ ในกรณีไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้ใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประจำปีงบประมาณจากกระทรวงการคลัง
จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานในการจ่ายคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมกราคม 2563 พบว่า การนำส่งเงินค่าใช้จ่ายในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามระเบียบกรมสรรพากรดังนี้
1. กรณีส่งคืนเป็นดราฟต์และโอนเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิตฯ พบว่า เมื่อเจ้าหน้าที่กองบริหารการคลังและรายได้ ได้รับเอกสารจากหน่วยพิจารณาคืนภาษีและได้ตรวจทานจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายคืนให้นักท่องเที่ยวว่าได้มีการหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของธนาคารในการจัดทำดราฟต์ให้นักท่องเที่ยวถูกต้องตรงกันแล้ว ได้ออกเช็คระบุจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนให้นักท่องเที่ยว 1 ฉบับ สั่งจ่ายเงินจากบัญชี “เงินสำรองเพื่อการจ่ายคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว” แต่มิได้ออกเช็คที่ระบุจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมิได้นำเช็คดังกล่าวส่งกรมบัญชีกลางด้วยระบบ GFMIS
2. กรณีจ่ายคืนเป็นเงินสด พบว่า เมื่อสิ้นเวลาทำการแต่ละผลัด หัวหน้าเจ้าหน้าที่หน่วยตรวจสินค้าและจ่ายคืนมีหน้าที่รวบรวมเงินคงเหลือที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่แต่ละคนฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยแยกเป็นเงินคงเหลือจากการจ่ายคืนฝากเข้าบัญชี “เงินฝากภาษีอากรเพื่อการจ่ายคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว" และเงินค่าธรรมเนียมฯ ฝากเข้าบัญชี“เงินค่าธรรมเนียมคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว" และเมื่อเจ้าหน้าที่กองบริหารการคลังและรายได้ ได้รับเอกสารและได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้วต้องถอนเงินจากบัญชี “เงินค่าธรรมเนียมคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว” อย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยเขียนเช็คสั่งจ่าย “กรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง" แต่มิได้ออกเช็คเพื่อถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว และมิได้นำเช็คส่งกรมบัญชีกลางด้วยระบบ GFMIS
จากการตรวจสอบข้อตรวจพบทั้ง 2 กรณีดังกล่าว หน่วยรับตรวจต้องนำเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวส่งกรมบัญชีกลางด้วยระบบ GFMIS โดยนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินและเงินนอกงบประมาณ แต่ยังมิได้ดำเนินการนำส่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมกราคม 2563 จำนวนรวมทั้งสิ้น 87.42 ล้านบาท จำแนกเป็น กรณีขอคืนเป็นดราฟต์และโอนเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิต จำนวน 3.55 ล้านบาท และกรณีขอคืนเป็นเงินสด (ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) จำนวน 83.87 ล้านบาท
เบื้องต้น หน่วยรับตรวจ ชี้แจงว่า สาเหตุเกิดจาก หน่วยรับตรวจได้มีหนังสือขออนุมัติประมาณการหักเงินค่าใช้จ่ายในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติตามหนังสือ ที่ กค 0407/7727 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 เรื่อง ขออนุมัติหักเงินค่าใช้จ่ายในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ส่งผลให้เงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวที่จัดเก็บได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2563 สะสมอยู่ในบัญชีที่ยังมิได้นำส่งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและสัมพันธ์กับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นปีงบประมาณเช่น ค่าตอบแทนพนักงาน ค่าล่วงเวลาพนักงาน ณ ท่าอากาศยานฯ จึงไม่สามารถนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินก่อนที่กระทรวงการคลังจะมีหนังสืออนุมัติจัดสรรงบประมาณไว้ใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวได้
สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อนักท่องเที่ยวที่มีสิทธิได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องดำเนินการหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวและนำส่งกรมบัญชีกลางด้วยระบบ GFMIS โดยนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินประเภทรายได้เบ็ดเตล็ดอื่น และเงินนอกงบประมาณประเภทค่าใช้จ่ายในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว ทั้งนี้ ตามสัดส่วนที่กระทรวงการคลังกำหนดในแต่ละปีงบประมาณตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2551
การที่หน่วยรับตรวจไม่นำเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวส่งเป็นรายได้แผ่นดินและเงินนอกงบประมาณตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2551 ทำให้กระทรวงการคลังไม่ได้รับเงินรายได้แผ่นดินและเงินนอกงบประมาณตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมกราคม 2563 จำนวน 87.42 ล้านบาท ไว้สำหรับการใช้จ่ายตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี
สตง. จึงได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ เพื่อให้การนำส่งเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับมติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการ และเพื่อเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ให้หน่วยรับตรวจดำเนินการนำส่งเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว ให้เป็นไปตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2551 ต่อไป
ต่อมา หน่วยรับตรวจมีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ว่าได้ดำเนินการแจ้งผลการตรวจสอบของ สตง. ให้หน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการแล้ว
สตง. ยังระบุด้วยว่า ผลการตรวจสอบและการแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยรับตรวจมีการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานในด้านการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องด้วย
อย่างไรก็ดี ในการเผยแพร่รายงานการตวจสอบเรื่องนี้ สตง.มิได้เปิดเผยรายชื่อหน่วยงานรับตรวจเป็นทางการ สำนักข่าวอิศรา จึงไม่สามารถติดต่อผู้บริหารหน่วยงานรับตรวจ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage