สธ.เผยแนวโน้มติดเชื้อเริ่มคงที่ แจงติดตามผลประสิทธิวัคซีนทุกเดือน ย้ำฉีดสูตรสลับ ภูมิคุ้มกันขึ้นสูง คาดเดือน ก.ย. แอสตร้าฯ ส่งมอบ 7.2 ล้านโดส ตั้งเป้าจัดหาอย่างน้อย 120 ล้านโดสในปี 2565 เตรียมฉีดวัคซีนให้เด็ก-บูสเตอร์
--------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมในระดับโลกว่า ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเชื้อเดลต้า แต่ข้อสังเกตคือ อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างคนที่ เพิ่มเล็กน้อย แตกต่างจากช่วงก่อนหน้า ที่การติดเชื้อเพิ่ม และผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นมากด้วย เมื่อดูรายละเอียดแต่ละประเทศจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รอบ 24 ชั่วโมงประมาณ 6.5 แสนราย โดยสหรัฐพบมาก แม้จะมีการฉีดวัคซีนมาก แต่ก็มีการติดเชื้อได้ นอกนั้น มีอินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แม้ตัวเลขผู้ป่วยมากกว่า 2 หมื่นราย แต่เป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนสูง ซึ่งผู้เสียชีวิตไม่มาก ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงมีผลในการป้องกันการเสียชีวิตได้
ส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 20,571 ราย และเสียชีวิตรายใหม่ 261 ราย ส่วนหนึ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่เพิ่งเสียชีวิตกับที่ตกค้างมารวมด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ประเทศไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 2 หมื่นราย มีแนวโน้มว่าจะไม่พุ่งทะยานต่อ โดยข้อมูลนี้แสดงให้เห็นการติดเชื้อในกทม.และปริมณฑล ซึ่งตกวันละ 8 พันกว่าราย หรือคิดเป็น 72% ที่เหลือเป็นต่างจังหวัด ซึ่งแนวโน้มค่อนข้างคงที่มาหลายวัน อย่างกรุงเทพมหานคร รายงานวันหนึ่งประมาณ 4 พันกว่าราย เช่น วันนี้ 4,342 ราย สมุทรปราการ 1,584 ราย ส่วนสมุทรสาครอีก 1,449 ราย ขณะที่ชลบุรีแม้ตัวเลข 1,235 ราย แต่ตัวเลขน้อยลง ที่เหลือเป็นจังหวัดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ถึง 1 พันราย
นพ.โสภณ กล่าวถึงการตรวจด้วยชุด ATK ว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 ก.ค.-20 ส.ค. โดย กทม.มีการตรวจมากที่สุด เปอร์เซนต์การพบเชื้อค่าเฉลี่ยเมื่อวานนี้อยู่ที่ 5 % ดังนั้น การตรวจพบเชื้อมีแนวโน้มลงลงเมื่อเทียบกับหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
@ ประเมินประสิทธิภาพวัคซีนทุกเดือน
นพ.โสภณ กล่าวถึงผลการศึกษาการประเมินประสิทธิผลวัคซีนที่มีการรายงานโดยกรมควบคุมโรค เป็นกรณีซิโนแวค 2 เข็ม มีการประเมินกันทุกเดือน พ.ค. มิ.ย. และ ก.ค. ส่วนข้อมูล ส.ค.อยู่ระหว่างรวบรวม และ 3-4 เดือนที่ผ่านมาพบว่า วัคซีนซิโนแวคป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 72% โดยเฉลี่ย ภาพรวมคนได้วัคซีนยังได้ประโยชน์สูงอยู่
ส่วนการศึกษาผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ข้อมูลในต่างประเทศป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ประมาณ 70-80% ส่วนข้อมูลไทย จากการศึกษากลุ่มที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค.2564 หากดูจากผลลัพธ์การป่วยหนักและเสียชีวิตยังพบค่อนข้างสูง อย่าง พ.ค. พบ 84% ส่วนมิ.ย. 93% และ ก.ค. ป้องกันได้ 85% สรุปคือตั้งแต่ 80-90%
สรุปได้ว่า การฉีดแอสตร้าเซนเนก้ายังได้ประโยชน์สูงอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องฉีด 2 เข็ม ขณะนี้จะเป็นช่วงของประชาชนที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มสอง
@ หากไม่ฉีดวัคซีนอัตราการตายสูงกว่าฉีด 30 เท่า
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศิริราชพยาบาล ในเรื่องการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันการฉีดวัคซีนที่มีต่อสายพันธุ์เดลตา โดยในส่วนการฉีดวัคซีนซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า สร้างภูมิคุ้มกันได้สูง ในบรรดา 2 เข็มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวคกับซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้ากับแอสตร้าเซนเนก้า หรือซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า ล้วนสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูงอยู่
เมื่อดูข้อมูลประสิทธิผลการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต จะเห็นว่าคนที่ป่วยหนักและเสียชีวิตที่ได้วัคซีนครบสองเข็มมี 26 ราย เมื่อคิดอัตราการเสียชีวิตต่อคนฉีดวัคซีน 100 คน อยู่ที่ 4.4 ต่อล้านคน ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับคนไม่ได้ฉีดวัคซีนและเสียชีวิต เป็นกลุ่มส่วนใหญ่ขณะนี้ โดยกลุ่มไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ หรือยังฉีดไม่ถึง 14 วัน ภูมิคุ้มกันยังไม่ขึ้น จะมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 140 ต่อล้านคน ต่างกันประมาณ 30 เท่า
“จึงอยากชวนทุกคนในกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังให้รีบฉีดวัคซีนโดยเร็ว ไม่ว่าสูตรใดก็ตาม แต่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ฉีดสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ ห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้เร็วและสูง” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวถึงคำถามที่สอบถามว่า ไม่ค่อยมีความมั่นใจในการฉีดวัคซีนตามสูตรสลับยี่ห้อ ว่า การฉีดวัคซีน สูตรสลับ ซิโนแวคกับเอสตร้าเซนเนก้า พบมีเสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นอัตรา 1 ต่อล้านราย ถือว่าน้อยกว่ามาก กับอัตราคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต
@ เตรียมฉีดวัคซีนให้เด็ก-บูสเตอร์ เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่ม
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนว่า การจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาตั้งแต่มิ.ย. - ส.ค. ส่งมอบเฉลี่ยเดือนละประมาณ 5-6 ล้านโดส จากการเจรจราร่วมกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ก็ตอบสนอง โดยส่งสัญญาณว่าในเดือน ก.ย. เป็นต้นไปนั้น ไทยเจรจราขอเพิ่มจำนวนการจัดส่งมากขึ้น ซึ่งบริษัทตอบสนอง โดยบริษัทจะส่ง 7.2 ล้านโดส เชื่อว่าการเจรจาจะมีเข้ามาเรื่อยๆ
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ส่วนการจัดหาวัคซีนปี 2565 แนวโน้มการฉีดวัคซีนอาจจำเป็นต้องฉีดบูสเตอร์โดสเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูง ในกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ อย่างการฉีดวัคซีนในเด็ก ที่มีการวิจัยในหลายหน่วยงาน หลายประเทศ รวมทั้งการฉีดเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส เนื่องจากข้อมูลหลายแห่งพบว่า หลังจากฉีดวัคซีนไป 2 เข็ม ไม่ว่าฉีดวัคซีนอะไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันจะตกลง จึงจำเป็นต้องหาวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อฉีด 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย และกลุ่มบูสเตอร์โดส ฉะนั้น คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้เสนอความเห็น และผ่านความเห็นชอบจาก ศบค. ว่าในปี 2565 จะมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอย่างน้อย 120 ล้านโดส และให้มีวัคซีนที่มีความหลากหลายในการฉีด ทั้ง mRNA เชื้อตาย ไวรัลเวคเตอร์ โปรตีน เป็นต้น
“สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้แสดงเจตจำนง ว่าจะนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์เบื้องต้น 50 ล้านโดส และแอสตร้าฯ 50 ล้านโดส ส่วนจะเป็นแบบไหนนั้นมีหลายบริษัทมีการผลิตรุ่น 2 ดังนั้นหากบริษัทสามารถผลิตรุ่น 2 ที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ก็ขอให้ส่งเป็นรุ่น 2 ส่วนเรื่องจำนวนและระยะเวลาจัดส่งจะมีการเจรจากันต่อ” นพ.โอภาส กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage