สธ.แจงตัวเลขเสียชีวิต 312 ราย ไม่ใช่ตัวเลขวันเดียว แต่เป็นการรวมตัวเลขตกหล่นย้อนหลังก่อน ส.ค. จาก 20 จังหวัด รวม 100 ราย แจงผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แนะโรงงานสุ่มตรวจหาเชื้อ ใช้มาตรการซีลพื้นที่ ให้กิจการเดินต่อ-กันเชื้อกระจาย
-----------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ประจำวันนี้ พบผู้ป่วยติดเชื้อ 20,515 ราย และเสียชีวิต 312 ราย สำหรับตัวเลขเสียชีวิต จะเป็นการเก็บยอดสถิติย้อนหลัง โดยยอดผู้เสียชีวิต 312 รายในวันนี้ ไม่ใช่เพิ่งเสียชีวิตใน 1-2 วันนี้ แต่เป็นการตรวจสอบระบบว่า มีการยอดเสียชีวิตส่วนไหนที่ตกหล่นหรือไม่ เนื่องจากหลายกรณีมีการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ และต้องในเวลาในการส่งตรวจชันสูตร ทำให้มีตกหล่น ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ
นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า จากการสอบถามทาง ผอ.กองระบาดวิทยา พบว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิต 312 ราย มีตัวเลข 100 รายที่เป็นตัวเลขย้อนหลังที่ตกหล่น และมีข้อมูลวันที่เสียชีวิตมาจากหลายพื้นที่เกือบ 20 จังหวัด บางรายย้อนหลังไปถึงเดือน เม.ย. โดยประมาณ 50 รายจาก 100 ราย เสียชีวิตก่อนเดือน ส.ค. และอีก 50 รายมาจากต้น ส.ค.ถึงปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ระบบจะมีการประเมินเป็นรอบๆ เพื่อนำข้อมูลมาใช้อย่างโปร่งใส ดังนั้น ยอดเสียชีวิตที่ไม่รวมตกหล่นอยู่ที่ประมาณ 200 ราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรายละเอียดเสียชีวิต 312 รายนั้น เป็นพื้นที่กทม. 78 ราย ปริมณฑล 70 ราย ภาคใต้ 16 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37 ราย เป็นต้น ชายมากกว่าหญิง โดยอายุค่ากลาง 65 ปี แสดงว่าผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันยังพบเหมือนเดิม 86% ในสองกลุ่ม คือ กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และอายุน้อยกว่า 60 ปีแต่มีโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ เป็นเรื่องน่าเสียใจที่บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าสูญเสียไปอีกท่าน ท่านทำหน้าที่เวรเปลของรพ.แม่สอด มีโรคประจำตัว และยังไม่ได้รับวัคซีน เจ็บป่วยด้วยโควิดและเสียชีวิต ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงกรณีมีข้อสงสัยว่า ผู้เสียชีวิตมีประวัติรับวัคซีนมากน้อยแค่ไหน ว่า วัคซีนทุกตัว ไม่ว่าชนิดไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นชนิดเชื้อตาย mRNA หรือไวรัลเวกเตอร์ แม้ฉีดแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ เพราะป้องกันไม่ได้ 100% แม้ผลวิจัยการป้องกันเสียชีวิต ก็เป็นการประมาณว่าเกือบ 100%
สำหรับผู้เสียชีวิต 312 ราย มีผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีน 147 รายคิดเป็น 47% ส่วนคนที่รับมาแล้วเพียง 1 เข็มมี 33 ราย หรือ 8% และยังอยู่ระหว่างตรวจสอบอีก 132 รายคิดเป็น 42% หากตัดส่วนที่รอตรวจสอบแล้วจะเห็นว่า ทั้งหมดที่เสียชีวิตคือ ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ
@ ป้องกันตัวเองตลอดเวลา กันเชื้อเข้า-กระจาย
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงการป้องกันการติดเชื้อครอบจักรวาล (Universal Prevention for Covid-19) ว่า เป็นการป้องกันการติดเชื้อโควิดตลอดเวลาต้องตื่นรู้ตลอดเวลาในการระวังตัวเอง ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นผู้ทำงานในโรงพยาบาลที่จะถูกสอนให้ป้องกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่จะขยายไปถึงประชาชนที่ใช้ชีวิตปกติ ก็ทำป้องกันตลอดเวลา แม้ไม่มีความเสี่ยง คิดเสมอว่าคนรอบตัวที่จะสนิทหรือไม่ ก็อาจมีเชื้อแฝงอยู่ การป้องกันเต็มที่จะทำให้ปลอดภัยไม่ติดเชื้อ และต้องคิดเสมอว่า ตัวเองอาจติดเชื้อแฝงอยู่ การป้องกันเต็มที่ก็จะช่วยให้คนใกล้ตัวเราปลอดภัย
@ แนะโรงงานใช้มาตรการซีลพื้นที่ ป้องปิดกิจการ-แรงงานกลับแพร่เชื้อต่อ
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงมาตรการตรวจหาเชื้อโควิดแบบสุ่มในโรงงานหรือสถานประกอบ ด้วยชุด ATK (Antigen Test Kit) ว่า หลักการควบคุมโรคของเราจะมีมาตรการ Bubble and Seal เพื่อกำหนดขอบเขตคนที่สามารถทำงานร่วมกันได้ หรือต้องแยกส่วนไม่ให้สัมผัสกัน รวมถึงการเดินทางจากที่พักไปทำงานจะต้องไม่แวะจุดอื่น ลดการสัมผัสให้มากที่สุด โดยที่ผ่านมา เวลาพบการติดเชื้อในโรงงาน ก็จะสอบสวนโรคเพื่อหาคนที่มีความเสี่ยง ด้วยการสุ่มตรวจ หากพบติดเชื้อ 10% ต้องใช้มาตรการ Bubble and Seal อย่างเข้มข้น ต้องแยกผู้ป่วยที่มีอาการออก จัดพื้นที่คล้ายโรงพยาบาลสนามในโรงงาน เพื่อลดการสัมผัส เฝ้าระวังต่อเนื่อง 14 วัน
นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า หลักการสุ่มตรวจหาเชื้อในโรงงาน หากมีแรงงานน้อยกว่า 100 คน จะสุ่มตรวจ 50 คน เช่น 75 คน จะตรวจ 50 คน เช่นกัน หากมี 100-150 คน จะสุ่มตรวจ 75 คน แต่หากมากกว่า 1,000 คน จะสุ่ม 150 คน ในทุก 1,000 คน ทั้งนี้ การสุ่มตรวจจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย ส่วนคนในโรงงานที่ไม่ได้ตรวจเชื้อ ก็ให้ใช้มาตรการเฝ้าระวัง 14 วัน ที่ไม่ได้ตรววจทุกคนเพราะแม้ว่าจะตรวจวันนี้แล้วไม่พบเชื้อ พรุ่งนี้ก็จะอาจจะติดเชื้อก็ได้ ทั้งนี้ หากทุกคนใช้มาตรการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ หากมีเชื้อแฝงอยู่ก็ไม่แพร่ต่อให้คนอื่น
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า การสุ่มตรวจหาเชื้อคนในโรงงาน สามารถปรึกษากับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ได้ เนื่องจากโรงงานขนาดเล็กอาจไม่มีควาพร้อมด้านสถานที่ ในส่วนนี้ต้องมีปรึกษากับสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้โรงงานยังสามารถทำงานต่อไปได้ด้วยความปลอดภัย กิจกรรมต่างๆ มีมาตรการที่เหมาะสม และเพื่อป้องกันการต้องปิดกิจการ เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานเดินทางกลับบ้าน นำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่น ฉะนั้น มาตรการเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยได้อย่างดี ขณะนี้ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กำลังปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสรุปแนวทางมาตรการเพื่อความชัดเจนและสื่อสารกับประชาชนอีกครั้ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage