ศาลอาญา ยกคำร้องขอประกันตัว 'ไผ่ ดาวดิน' แม้มิได้ทำผิดเงื่อนไขศาล-ไม่ได้ทำอะไรกระทบสถาบันฯ แต่พอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว มาเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองหลายครั้ง บางครั้งสาดสีใส่พรรคการเมือง-สถานี ตร. เข้าข่าย ป.วิอาญา ม.108/1 (3) เป็นเหตุให้เพิกถอนปล่อยตัวได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งขอปล่อยชั่วคราวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาว ดิน) แกนนำม็อบราษฎร จำเลยที่ 7 คดีหมายเลขดำที่ อ.287/2564 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) แกนนำม็อบราษฎร กับพวกรวม 22 คน เป็นจำเลยกรณีปักหมุดคณะราษฎรใหม่ที่บริเวณสนามหลวง ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ มั่วสุมชุมนุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 โดยสืบเนื่องจากศาลอาญามีคำสั่งถอนประกันเพราะอัยการสำนักงานพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ยื่นคำร้องว่า จำเลยกระทำผิดเงื่อนไข โดยเป็นการนัดอ่านทางไกลผ่านจอภาพไปยังพนักงานอัยการ และทนายจำเลยภายหลังมีการไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของจำเลยที่ 7 และโจทก์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนหน้านี้จำเลยวันที่ 23 เม.ย. 2564 ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยที่ 7ทำกิจกรรมใด ๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ห้ามเดินทางออกนอกประเทศและต้องมาศาลตามกำหนดนัด หลังจากนั้นจำเลยที่ 7ถูกดำเนินคดีอีก 11 คดีโดยส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเนื่องจากบริหารราชการในการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19 ให้มีการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้ราษฎรและให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีปัญหาว่า มีเหตุอันควรเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 7หรือไม่
เห็นว่า กรณีการเข้าร่วมชุมนุมที่บุคคลอื่นจัดขึ้นที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 บนถนนวิภาวดี-รังสิต พ.ต.อ.เทิดไทย สุขไทย พยานโจทก์ตอบคำถามค้านของจำเลยที่ 7 รับว่าจำเลยที่ 7 ได้ขึ้นไปเข้าร่วมการชุมนุมของบุคคลอื่นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการจราจรของผู้เดินทางในการชุมนุมเพื่อให้การสัญจรเป็นไปได้ด้วยดี และพยานโจทก์ปากนี้ยอมรับว่า ความหมายของคำว่าเขตพระราชฐานตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ หมายถึงที่ซึ่งพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าประทับอยู่เท่านั้น ส่วนกรมทหารราบที่ 1 ไม่ใช่สถานที่ที่พระมหากษัตริย์ทรงประทับอยู่ เห็นว่าความหมายของคำว่า ราชฐานตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายความว่า อาณาบริเวณที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 7 บัญญัติห้ามการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวังพระราชวัง วังของพระรัชทายาท หรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประทับ หรือพำนัก ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นการห้ามชุมนุมในสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ใช้เป็นที่ประทับ เมื่อพื้นที่กรมทหารราบที่ 1 ไม่ใช่ที่ประทับจึงไม่เป็นสถานที่ต้องห้ามสำหรับการการชุมนุมสาธารณะการชุมนุมหน้าสถานที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่การกระทำการอันกระทบถึงสถาบันฯ นอกจากนี้โจทก์มิได้มีข้อกล่าวหาใดว่าจำเลยที่ 7 กระทำการอันไม่บังควรต่อสถาบันฯ
กรณีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 7 ไม่ได้กระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อเกียรติภูมิของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด แต่จำเลยที่ 7 ได้ทำการชุมนุมหลายครั้ง หลังได้รับการปล่อยชั่วคราวลักษณะการกระทำเป็นการประท้วงเรียกร้องต่อรัฐบาลให้นายกรัฐมนตรีลาออก และเรียกร้องให้พรรคการเมืองเจ้าพนักงานตำรวจและสถาบันอื่นไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปโดยในการชุมนุมจะมีการปราศัยและบางครั้งมีการสาดสีใส่ป้ายหรือสถานที่ของพรรคการเมืองหรือสถาบันหรือสถานีตำรวจดังกล่าว
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกฯ ร่วมประชุมปรึกษาคดีแล้วมีมติว่า แม้จำเลยที่ 7 จะมิได้กระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลนี้กำหนดในการปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 ก็ตาม แต่หลังได้รับการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7 เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองจนนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาในชั้นเจ้าพนักงานหลายครั้ง การชุมนุมบางครั้งมีการตั้งข้อเรียกร้องต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม บางครั้งมีการสาดสีใส่สถานที่ทำการและป้ายของพรรคการเมืองหรือสถานีตำรวจทำให้เกิดความเสียหายเป็นการก่อให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อยพอจะถือว่าเป็นการก่ออันตรายประการอื่นตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 (3) อันเป็นเหตุที่ศาลจะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยที่ 7 ทราบล่วงหน้าเพื่อปฏิบัติตามก่อน แต่อย่างใดการที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในคดีนี้จึงชอบแล้วให้ยกคำร้อง ส่วนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
นอกจากนี้ศาลอาญายังได้ยกคำร้องขอประกันตัวในชั้นฝากขังอีก 2 สำนวนประกอบด้วยสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฝ.857/2564 (มีนายจตุภัทร์ กับพวกรวม 3 ราย เป็นจำเลย) เเละสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฝ.858/2564 (มีนายจตุภัทร์ กับพวกรวม 4 ราย เป็นจำเลย) โดยให้เหตุผลลักษณะเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ อ.287/2564
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage