สธ.แจงแผนสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดส นำมาฉีดไขว้ ยันกระตุ้นภูมิดี ช่วยฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้เร็ว-กว้างขวาง ชี้เป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในการควบคุมโรค ย้ำได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้ว ขออย่าด้อยค่าวัคซีน
...................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดการแถลงข่าวรายงานสถานการณ์โควิด และประสิทธิผลวัคซีนในประเทศไทยประจำวัน โดย นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า วันนี้มีการฉีดวัคซีนเพิ่ม 508,498 โดส รวมสะสม 24,100,631 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 18,370,997 ราย คิดเป็น 25.5% เข็มที่ 2 จำนวน 5,228,157 ราย คิดเป็น 7.3% และเข็มที่ 3 จำนวน 501,477 ราย
หากแยกตามยี่ห้อของวัคซีน พบว่า วัคซีนซิโนแวค 11,399,453 โดส วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 10,255,294 โดส ซิโนฟาร์ม 2,036,818 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ 409,066 โดส
นพ.เฉวตสรร กล่าวย้ำด้วยว่า สำหรับวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนเพื่อบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า หากท่านใดมีข้อสงสัย และแจ้งความผิดปกติต่างๆ สามารถแจ้ง สธ. เราจะช่วยกันตรวจสอบ เพื่อให้สามารถจัดสรรวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมายอย่างถูกต้องและได้วัตถุประสงค์อย่างแท้จริง ทั้งนี้ทางกรมควบคุมโรคได้ออกเอกสารแจ้งไปยังจังหวัดต่างๆ ให้เฝ้าระวังและสอบสวนความผิดปกติในการจัดสรรวัคซีนด้วย
ส่วนแผนการจัดหาวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีก 12 ล้านโดสนั้น นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า วัคซีนทุกตัวที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรอง จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานในการป้องกันการเสียชีวิต ลดการป่วยรุนแรง เราไม่ควรด้อยค่าตรงนั้น ซึ่งตัวเลขจากการใช้งานจริงๆ จะมีการเก็บรวบรวมศึกษา และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนในสูตรที่จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม การที่เราทำให้เป็นวัคซีนไขว้กัน ปรากฏว่าภูมิคุ้มกันขึ้นสูงดีมาก และไม่ต้องรอ 3 เดือนเหมือนกับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เนื่องจากเราสามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้เลยเมื่อครบ 3 สัปดาห์จากการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ในช่วงที่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา หากเราฉีดครอบคลุมได้ช้า โอกาสป้องกันจะยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะวัคซีนทุกตัว เมื่อเจอสายพันธุ์ใหม่ ประสิทธิภาพจะลดลง ก็ทำให้เกิดการพยายามมองหาการไขว้วัคซีน เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีหลายระบบมากขึ้น ข้อดีการฉีดวัคซีนซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูง นอกจากนี้ยังเร็วใช้เวลาฉีด 3-4 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจะเกิดได้เร็ว การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้บริษัทวัคซีนต่างๆ เริ่มคิดถึงวัคซีนรุ่นที่ 2 มีโอกาสที่จะเป็นวัคซีนต่อไป
"การทำให้ฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมและกว้างขวาง จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคของเราให้เกิดประสิทธิผล และเราจะได้กลับมาใช้ชีวิตในแบบนิวนอร์มอล ที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดำเนินชีวิตได้ เปิดประเทศได้ต่อไป" นพ.เฉวตสรร กล่าว
ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในบุคลากรการแพทย์ พบว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา บุคลากรการแพทย์จำนวน 3,901 คน มีผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม นานเกิน 14 วัน ติดเชื้อ 2,154 ราย ซึ่งประสิทธิผลของการป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตอยู่ที่ 98% และมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ 72% แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ไปสู่เดลต้า (อินเดีย) แต่ประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อยังคงเดิม ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
"ดังนั้นการฉีดวัคซีนซิโนแวคที่เราใช้ในประเทศไทยในการฉีดวัคซีน 2 เข็มขณะนี้ ยังมีประสิทธิผลดีทั้งแง่การป้องกันการติดเชื้อ และการป้องกันการเสียชีวิตและป่วยรุนแรง" นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว
ส่วนประสิทธิผลของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พบว่า กรณีได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มากกว่า 14 วัน วัคซีนมีอัตราการป้องกันการติดเชื้อและการป่วยอยู่ที่ 96% และกรณีได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว มากกว่า 14 วัน วัคซีนมีอัตราการป้องกันการติดเชื้อและป่วยอยู่ที่ 88%
"วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการติดเชื้อ ลดการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต วัคซีนที่เราใช้ในประเทศไทยขณะนี้ ทั้งวัคซีนซิโนแวค หรือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ช่วยเราลดการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้การฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเสียชีวิต ยังค่อนข้างต่ำอยู่ จึงอยากเน้นย้ำให้พวกเราทุกคนเชิญชวน และพาผู้สูงอายุไปรับวัคซีน" นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว
ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการฉีดวัคซีนไขว้ด้วยว่า มีเหตุผลทางด้านการวิจัยและการเก็บข้อมูลมารองรับ เนื่องจากตั้งแต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ เข็ม 2 แบบไขว้ชนิดได้นั้น ประเทศไทยได้เริ่มฉีดวัคซีนแบบไขว้และเก็บข้อมูลมาโดยตลอด โดยข้อมูลที่ได้พบว่า ถ้าเป็นผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มจะมีภูมิต่ำกว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่ที่สำคัญก็คือผลการเก็บข้อมูล พบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดซิโนแวคเข็ม 1 ไขว้ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 จะทำให้ภูมิขึ้นสูงกว่าการฉีดซิโนแวค 2 เข็มกว่า 4 เท่า นี่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยจะมีการฉีดลักษณะนี้ ให้ซิโนแวคเป็นเข็ม 1 และตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็ม 2 ซึ่งทำให้ภูมิขึ้นสูง และป้องกันเดลต้าได้ส่วนหนึ่ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage