นายกรัฐมนตรีย้ำมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือนักเรียน-ผู้ปกครอง-ครู บรรเทาพิษโควิด หนุนใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา 'ตรีนุช' ยันเร่งจ่ายภายใน 7 วัน หลังได้งบ คาดเริ่มโอน 31 ส.ค.นี้ พร้อมเตรียมปรับวิธีประเมินผลแทนการสอบ
------------------------------------
ผู้สื่อข่าวราบงานว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานในงานแถลงข่าว 'จุดยืนลดภาระทางการศึกษา' กล่าวว่า จุดยืนของรัฐบาลคือการลดภาระทางการศึกษาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมมือกัน ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทุกคนทราบดีว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ต้องหยุดชะงัก ทำให้เกิดรูปแบบการดำรงชีวิตวิถีใหม่หรือที่เรียกว่า นิวนอร์มอล ที่เชื่อมโยงกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และรวมถึงกิจกรรมทางด้านการศึกษา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาตามรูปแบบวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนการสอนทางไกล นักเรียนต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาโดยไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ทั้งในส่วนของโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา ทั้งมาตรการทางการเงิน อุปกรณ์สำหรับเรียนการสอน รวมถึงอินเตอร์เน็ตฟรีสำหรับการศึกษาเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เด็กและเยาวชนทั้งประเทศได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแม้จะอยู่ในสถานการณ์วิกฤต ผู้เรียนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ โดยรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกัน พร้อมทั้งให้มีการปรับรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เฉพาะองค์ความรู้ แต่ต้องสามารถนำองค์ความรู้ต่างๆไปประยุกต์กับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในอนาคตถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ทั้งนี้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันพัฒนารูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่โดยผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐาน ตลอดจนการสนับสนุน อุปกรณ์ด้านการศึกษาและระบบอินเตอร์เน็ตที่จำเป็น ต่อการศึกษาที่บ้านเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับความรู้อย่างครบถ้วนและมีศักยภาพสูงสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมการปลูกฝังวินัย จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ประวัติศาสตร์และความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป
“ผมขอเน้นย้ำโดยขอให้ใช้โอกาสนี้ ทำให้ทั้งครู เด็ก ผู้ปกครอง มีโอกาสเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน สนับสนุนซึ่งกันและกันในลักษณะของแอคทีฟ learning ขอให้สร้างแรงจูงใจกระตุ้นให้เด็กสนใจเอาใจใส่การเรียน แม้จะอยู่ที่บ้านก็ตาม ผู้ปกครองหลายคนมีภาระ อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่ที่ตัวเด็ก ครูและวิธีการสอนว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ถือเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องดูแลครูทั้งในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับการศึกษารูปแบบใหม่ในอนาคต เพราะนับวันจะยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในโลกยุคหลังสถานการณ์โควิดเมื่อยุติลงแล้ว ผมเคยให้แนวทางไปกับ รมว.ศึกษาธิการ รวมทั้ง รมช.ในหลายเรื่อง ขอให้นำสิ่งที่ผมได้มอบนโยบายลงไปนำสู่การปฏิบัติให้ได้ มีการประเมินผลทั้งครู เด็ก มีการเปลี่ยนแปลงปรับรูปแบบปรับหลักสูตร รวมทั้งเอกสารตำราต่างๆให้มีความทันสมัย สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เด็กได้เรียนรู้ว่าเราศึกษาไปเพื่ออะไร ทั้งเพื่อให้มีงานทำ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ สำคัญที่สุดคือเมื่อเรียนทางวิชาการแล้ว ต้องเรียนรู้ในทางปฏิบัติไปด้วยพร้อมๆ กัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ขอขอบคุณและชื่นชมทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการผลักดันพัฒนารูปแบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูง สอดคล้องกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ในสถานการณ์ โควิดได้ช่วยกันสนับสนุนมาตรการการช่วยเหลือลดภาระให้กับผู้ปกครอง นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา เพื่ออำนวยให้การศึกษาไทยก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงแม้ในยามสถานการณ์วิกฤต เพราะเราไม่ทราบว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่บัดนี้ เพื่อให้เด็กมีความพร้อมตั้งแต่วันนี้ เป็นเด็กที่เข้มแข็ง เป็นคนดีในสังคม มีจิตสาธารณะเผื่อแผ่ แบ่งปัน เคารพในสถาบันหลักของชาติ สิ่งเหล่านี้เราต้องสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ของเราให้มีอนาคต ประเทศชาติก็จะมั่นคงและยังยืนต่อไป เราต้องสร้างสังคมและครอบครัวให้เข้มแข็ง มีความผูกพันในครอบครัว ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย ต้องดูแลไปพร้อมๆ กันเพื่อให้ทุกคนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
@ คาดเริ่มโอนเงินเยียวยา นร.ภายใน 31 ส.ค.นี้
ด้าน น.ส.ตรีนุช ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ.ออกมาตรการลดภาระทางการศึกษา ได้แก่ 1) การจ่ายเงิน 'เยียวยานักเรียน' ทุกคนทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ สังกัด ศธ. ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ราว 11 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับภายในวันที่ 31 ส.ค.ถึงต้นเดือน ก.ย.นี้ 2) อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน และแบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 79 บาท (ยังไม่รวม VAT) เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับสิทธิได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และรับได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ และ 3) การลดภาระงานครูและนักเรียน โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการต่างๆ ให้คงไว้เฉพาะที่จำเป็น ส่วนนอกเหนือจากนี้ให้ชะลอไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมถึงลดการประเมินต่างๆ ทั้งที่เป็นงานของหน่วยงานภายในและภายนอก ให้เหลือ 3 โครงการ หรือร้อยละ 1 จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือร้อยละ 32 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น
"ส่วนเงินเยียวยาจำนวนดังกล่าว ขณะนี้ตนทราบดีว่าผู้ปกครองกำลังรออยู่ ซึ่ง ศธ.ได้เร่งรัดกระบวนการจ่ายเงินจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งเป็นเรื่องระบบของทางราชการ ดังนั้นเมื่อเงินมาถึงศธ.เราจะรีบดำเนินการภายใน 7 วันทันที " น.ส.ตรีนุชกล่าว
@ ปรับรูปแบบประเมินผลแทนการสอบ
สำหรับการวัดและเมินผลนักเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ขณะนี้กำลังสอบปลายภาคเรียนที่ 1 แล้ว โดยเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดประกาศเรื่องการวัดและประเมินผลนักเรียนใหม่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดโดยเฉพาะเรื่องการสอบต่างๆ จะลดลง โดยจากนี้ไป การวัดและประเมินผลด้วยการสอบจะเปลี่ยนใหม่ให้สอดคล้องกับการเรียนในยุคนี้ เช่น การมอบหมายการทำโครงงาน หรือ โปรเจคชิ้นงาน รวมถึงการนับชั่วโมงเรียน เป็นต้น ซึ่งการวัดและประเมินผลจะต้องยืดหยุ่นมากขึ้น"รมว.ศธ.กล่าว
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า การวัดและประเมินผลนักเรียนในภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 นั้นจะต้องมีการปรับรูปแบบจากเดิมอย่างแน่นอน เนื่องจากนักเรียนไม่ได้เรียนในหลักวิชาการแบบเต็มรูปแบบ แต่มีการเรียนในด้านทักษะชีวิตเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงการเรียนก็ได้เปลี่ยนแปลงจากการเรียนที่โรงเรียน มาเรียนที่บ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด โดยยืนยันการประเมินยังคงมีอยู่แต่จะมีการปรับให้ยืดหยุ่น เช่น การทดสอบผ่านรูปแบบใบงาน การปฏิบัติ แฟ้มสะสมงาน เป็นต้น
ขณะที่ในส่วนรูปแบบประเมินภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 นั้น ต้องมองในหลายมิติ เช่น ในส่วนชองนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หากไม่มีการประเมินก็จะไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และนักเรียนที่ประสงค์จะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เหล่านี้จะต้องมีการจัดสอบเพื่อไม่ให้นักเรียนเหล่านี้ต้องเสียสิทธิ์ไป แต่วิธีการและรูปแบบการประเมินก็ต้องมีการปรับให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยให้สถานศึกษาเป็นคนกำหนดเอง
"ส่วนมาตรฐานของการวัดและประเมินผลของแต่ละสถานศึกษานั้นต้องยอมรับว่า โดยบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่งไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่ในขณะนี้ต้องการประเมินเพื่อให้เห็นว่านักเรียนมีการพัฒนาขึ้นเท่านั้นก็ถือว่าดีแล้ว ซึ่งได้เน้นย้ำกับสถานศึกษามาตลอดว่าการจัดการเรียนการสอนขณะนี้ต้องยึดความปลอดภัยของครูและนักเรียนเป็นสำคัญที่สุด ส่วนมาตรฐานที่นักเรียนสามารถแข่งขันได้คงต้องรอหลังจากที่สถานการณ์โควิด คลี่คลายหายไปแล้วคอยมาฟื้นฟูให้ดีขึ้น"เลขาฯ กพฐ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage