ศบค.มีมติขยายเวลาล็อกดาวน์ 29 จังหวัดออกไปจนถึง 31 ส.ค.2564 แต่ผ่อนปรนให้เปิดธนาคาร-สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้ พร้อมเร่งจัดหาวัคซีนให้ครบตามเป้า 100 ล้านโดสในปี 2564 มอบสถาบันวัคซีนฯ สั่งไฟเซอร์อีก 10 ล้านโดส - ซื้อยี่ห้ออื่นเพิ่ม 10 ล้านโดส ส่วน อภ.ให้จัดซื้อซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส ขณะเดียวกันยังรับทราบแผนต่อยอด 'ภูเก็ต แซนด์บอกซ์' และนำร่องโครงการ 'แฟกตอรี แซนด์บ็อกซ์' ด้วย
----------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ครั้งที่ 12/2564 ว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานผลการประเมินผลมาตรการป้องกันโควิดในช่วงที่ผ่านมา ผ่านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อคาดการณ์สถานการณ์จนถึงเดือน ธ.ค.2564 พบว่า หากไม่มีการล็อกดาวน์ เราอาจพบผู้ป่วยสูงขึ้นถึง 6-7 หมื่นรายในช่วงเดือนหน้า แต่หากมีการใช้ล็อกดาวน์ ทำงานอยู่บ้าน ปิดสถานที่เสี่ยง จะลดได้ประมาณ 20% หากเพิ่มมาตรการเข้มขึ้น 25% จะสามารถทำให้สถานการณ์ผู้ป่วยลดลงจนถึง ต.ค.2564 ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต จะพบว่าสถานการณณ์ใกล้เคียงกับฉากทัศน์ที่มีผลมาจากการเพิ่มมมาตรการล็อกดาวน์ ทำงานอยู่บ้าน ปิดสถานที่เสี่ยง ที่มีประสิทธิภาพ 25% ที่ประชุมยังได้รับทราบผลของมาตรการจำกัดการเดินทางของ กทม. และ ชลบุรี พบว่าเมื่อเปรียบเทียบปัจจุบันกับการบังคับใช้มาตรการก่อนหน้านี้ช่วง เม.ย.2564 จะพบว่า ประชาชนให้ความร่วมมือในการทำตามมาตรการ จนทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุข ว่า ให้คงระดับพื้นที่สถานการณ์ตามเดิม โดยให้ขยายเวลาการบังคับใช้ต่อเนื่องจาก 18 - 31 ส.ค.2564 โดยให้เพิ่มมาตรการและจัดการองค์กร ดังนี้
1.ดำเนินการทดสอบ ค้นหา และแยกกันหรือ Test - Trace - Isolate อย่างต่อเนื่อง เพิ่มการตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) ใน กทม.และปริมณฑล และเตรียมทีม CCRT ให้เพียงพอ และจัดระบบการนำเข้าสู่การกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : Hi) หรือกักตัวชุมชน (Community Isolation : Ci) หรือ โรงพยาบาล
2.มาตรการองค์กร สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เน้นทำงานที่บ้าน พนักงานของภาครัฐและเอกชน ที่จำเป็นต้องมาปฏิบัติงาน ให้มีการคัดกรองด้วย ATK ทุกสัปดาห์ รวมถึงเตรียม Company Isolation หรือสถานที่กักตัวสำหรับหน่วยงานที่มีพนักงานเกิน 50 คน และเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการติดตามการคัดกรอง และลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Hi หรือ Ci ต่อไป
3.มาตรการควบคุมโรคเฉพาะสถานที่ สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โรงงาน สถานประกอบการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน ให้ดำเนินมาตรการ Bubble and Seal เต็มรูปแบบ ส่วนตลาด ทั้งค้าส่งและตลาดขนาดใหญ่ ให้คัดกรอง ATK ผู้ค้า แรงงาน ทุกสัปดาห์ และสุ่มตรวจผู้มาใช้บริการเป็นระยะ รวมทั้งกำกับมาตรการควบคุมโรค
4.มาตรการลดการเสียชีวิต เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่ม 608 อย่างน้อย 80% ใน กทม. และอย่างน้อย 70% ในพื้นที่ 12 จังหวัด และอย่างน้อย 50% ในพื้นที่อื่น ทั้งนี้ให้เพิ่มอัตรการหมุนเวียนการรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ลดจำนวนผู้ป่วยที่คอคอยหรืออาการหนักในโรงพยาบาล รวมถึงเร่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยสีเขียว ทั้งในระบบ Hi และ Ci
5.สำหรับประชาชน องค์กร สถานประกอบการ ควรตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเองได้ รัฐควรสนับสนุนให้มีการใช้โดยไม่เป็นภาระของประชาชน เช่น จำหน่ายราคาถูก หรือ จัดหาได้ง่าย มีระบบการดูแลรักษารองรับ เมื่อตรวจพบเชื้อ และเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันตนเองทุกกรณี และสื่อสารให้ทุกคนปฏิบัติตามหลักการ การป้องกันตนเองของประชาชนในทุกกรณี (Universal Prevention) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำแนวทางดำเนินการ ร่วมกันจัดทำ Thai Covid Pass ยืนยันการฉีดวัคซีนครบโดส เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวย้ำว่า ปรับมาตรการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็น กิจการที่จำเป็นในห้างสรรพสินค้า โดยเปิดกิจการธนาคาร สถาบันการเงิน โดยมีมาตาการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 26 ข้อ ตามที่สมาคมศูนย์การค้าไทยจัดทำไว้ ทั้งนี้อนุญาตให้เปิดเฉพาะธนาคาร ส่วนเรื่องการเปิดพื้นที่ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ประชุมรับฟัง แต่กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่ายังมีทางเลือกอื่นเช่นสั่งสินค้าออนไลน์ได้ ส่วนครั้งต่อไปหากเป็นไปได้จะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
@ ฉีดวัคซีนไขว้ยี่ห้อได้ภูมิสูง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนการให้บริการวัคซีนโควิด จนถึงวันที่ 15 ส.ค.2564 เวลา 18.00 น.มีการฉีดวัคซีนแล้ว 23,592,227 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีน 1 เข็ม จำนวน 17,996,826 คน คิดเป็น 25% ผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็ม จำนวน 5,109,476 คน คิดเป็น 7.1%
ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับวัคซีนไขว้เข็ม 1 เป็นซิโนแวค และ เข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ใช้ไปแล้ว 974,563 คน ไม่พบอาการที่ไม่พึงประสงค์รุนแรง และไม่พบผู้รับวัคซีนสูตรนี้เสียชีวิตจากโรคโควิด นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับการกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 195,520 คน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนไขว้ 2 ยี่ห้อ จำนวน 77 คน กระตุ้นภูมิได้ถึง 3,962 ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม จำนวน 79 คน กระตุ้นภูมิได้ 1,006 และกลุ่มที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม จำนวน 80 คน กระตุ้นภูมิได้ 1,207 เรียกได้ว่า การฉีดไขว้ 2 ยี่ห้อกระตุ้นภูมิได้มากกว่าแนวทางอื่นเกือบ 4 เท่า
@ สั่งจัดซื้อซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดส - ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อด้วยว่า ที่ประชุมได้รับทราบเป้าหมายจะต้องหาวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านโดสในเดือน ก.ย.2564 พร้อมเร่งฉีดให้กลุ่ม 608 เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนเดือน ก.ย.2564 จะปูพรมฉีดเข้ม 2 และเพิ่มความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุให้ได้ 70% ในทุกจังหวัด ส่วนกรณีจัดหาวัคซีนได้น้อยกว่า 10 ล้านโดส ให้ลดลงตามสัดส่วนวัคซีนที่จัดหาได้
ที่ประชุมเห็นชอบการจัดหาวัคซีนช่วง ส.ค.-ก.ย.2564 โดยให้สั่งจองไฟเซอร์เพิ่ม 10 ล้านโดสที่ผ่านที่ประชุมไปแล้วตั้งแต่ 1 ส.ค.2564 และให้องค์การเภสัชกรรม จัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดส และเจรจาจัดหาวัคซีนอื่นๆ เพิ่มเติมจำนวน 10 ล้านโดสภายในปี 2564
โฆษก ศบค. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมรับทราบการแลกวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้า ระหว่างรัฐบาลภูฏาณกับรัฐบาลไทย จำนวน 150,000 กว่าโดส รวมถึงรับบริจาคยา Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) ซึ่งเป็นยารักษาในกลุ่มผู้ป่วยหนักมากๆ จำนวน 1,000 -2,000 ชุด จากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเยอรมนี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมอนุญาตให้เรือที่ไม่มีสัญชาติไทย พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมหรือภารกิจอื่นใดบนยานพาหนะ หรือสิ่งปลูกสร้างในทะเล หรือภารกิจยนบน และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับการอนุมัติหลักการนี้ โดยจะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
@เห็นชอบ 'ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์' เชื่อมท่องเที่ยว 3 จังหวัด
นอกจากนั้น ศบค.ยังเห็นชอบดำเนินมาตรการ เปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเชื่อมต่อจังหวัดนำร่องอื่น หรือ มาตรการ 7+7 คือ อยู่ภูเก็ต 7 วันและสามารถเดินทางไปพื้นที่อื่นได้อีก 7 วัน โดยตั้งแต่ 16 ส.ค.2564 นักท่องเที่ยวที่อยู่ภูเก็ต 7 วัน เมื่อตรวจไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวสุราษฎร์ธานี กระบี่ หรือพังงา ได้ต่อไป
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม ยังอนุญาตผ่อนผันการจัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมร่วมกันของรัฐสภา และการผ่อนผันการเคลื่อนย้ายในห้วงเวลาการห้ามเข้าออกนอกเคหสถาน
@ รับทราบนำร่อง 'แฟกตอรี่ แซนด์บ็อกซ์'
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวปิดท้ายว่า ที่ประชุม ศบค. รับทราบโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) และให้มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคเฉพาะพื้นที่ หรือ Bubble and Seal
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage