ยอดเด็กป่วยโควิดพุ่ง 1.8 หมื่นคน เสียชีวิตสะสมกว่า 10 คน เป็นกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว กรมการแพทย์เผยมาตรการเพิ่มจำนวนเตียง เตรียมฉีดวัคซีน ด้านกรมสุขภาพเด็กชี้การสูญเสียกระทบจิตใจไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ต้องเร่งเข้าดูแล
--------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และกลุ่มเส้นด้าย จัดแถลงข่าวออนไลน์ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด พร้อมรายงานข้อมูลแนวโน้มสถานการณ์และการช่วยเหลือครอบคลุมทุกปัญหาเร่งด่วน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงหลังของการระบาด พบเด็กติดเชื้อค่อนข้างมาก เพราะมีผู้ป่วยมากขึ้น และเป็นการติดเชื้อในครอบครัว จึงเป็นความเสี่ยง โดยสถานการณ์ติดเชื้อในเด็ก อายุ 0-18 ปี ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 ส.ค. นับว่าเป็นสัปดาห์ที่ 33 ของปี 2564 พบว่า ช่วงแรกก่อนสัปดาห์ที่ 16 มีผู้ป่วยเด็ก สะสม 366 รายต่อสัปดาห์ แต่สัปดาห์ล่าสุด วันที่ 4 - 11 ส.ค. มีผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้น 18,879 ราย คิดเป็น 2-3 พันรายต่อวัน โดยมีเด็กเสียชีวิตสะสม 10 กว่าราย จากข้อมูลผู้ป่วยเด็ก เมื่อแบ่งตามกลุ่มอายุ พบว่า ช่วงอายุ 12-18 ปี ติดเชื้อมากที่สุด เป็นข้อสรุปว่า เมื่อเด็กโตขึ้น อายุมากขึ้นก็มีโอกาสติดมากขึ้น เนื่องจากกิจกกรมของเด็กที่มากขึ้นตามช่วงวัย โอกาสพบผู้คนก็มากขึ้น ความเสี่ยงติดเชื้อก็มากขึ้นด้วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ข้อมูลจากสถาบันสุขภาเด็กแห่งชาติมหาราชินี ณ วันที่ 14 ส.ค. 2564 จากการวิเคราะห์ผู้ป่วยที่มารับการรักษา เมื่อเด็กป่วยส่วนใหญ่จะมีพ่อแม่ป่วยด้วย มีผู้ป่วยอยู่ในการดูแล จำนวน 480 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยเด็ก 300 กว่าราย และผู้ป่วยผู้ใหญ่ ติดเชื้ออีก 1 ร้อยกว่าราย
ขณะนี้มีการจัดการรักษาแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ในเด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการน้อย สำหรับความเสี่ยงของเด็ก มีโอกาสป่วยได้ทุกคน แต่ที่มีอาการรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุน้อยกว่า 1 ปี มีโรคทางพันธุกรรม โรคสมอง โรคหัวใจ ติดเตียง หัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิต ต้องเข้ารับเป็นผู้ป่วยใน และความเสี่ยงจะเหมือนกับผู้ใหญ่ แต่หากเด็กโตไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม เด็กก็จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่
@ เพิ่มเตียง-เตรียมเปิดศูนย์พักคอยเด็กเพิ่ม
ส่วนมาตรการรับมือสถานการณ์ผู้ป่วยเด็ก นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้มอบหมายให้สถาบันสุขภาพเด็กฯ ขยายเตียงผู้ป่วยอาการปานกลางและรุนแรง เนื่องจากเด็กติดเชื้อก็จะมีผู้ปกครองที่ติดเชื้อตามมาด้วย โดยจะมีอาสาสมัครที่ติดเชื้อช่วยดูแลเด็กด้วย ร่วมมือกับโรงพยาบาลลูกข่ายจัดบริการดูแลกลุ่มผู้ป่วยเด็กอาการน้อย ให้แยกกักที่บ้านเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ มีอุปกรณ์ มีอาหารเด็ก 3 มื้อ และมีเทเลเมดิเคิล (Tele medical) โดยได้รับความร่วมมือหลายภาคส่วน เช่น ผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ ทาง กทม. ได้จัดทำการแยกกักในชุมชน หรือศูนย์พักคอย (Community Isolation) ให้ผู้ป่วยเด็กโต อายุมากกว่า 7 ปี ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตดุสิต และกำลังจะเปิดอีกแห่งในค่ายทหาร เขตดุสิต นอกจากนั้น ได้จัดทำร่างแนวทางดูแลผู้ป่วยเด็กที่ผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ เพื่อใช้ในหน่วยงานต่างๆ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกรณีเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ติดเตียงแล้ว มีโอกาสจะเสียชีวิตที่บ้าน ผู้ปกครองไม่อยากให้มาแอดมิตที๋โรงพยาบาล ก็มีการดูแลระยะสุดท้าย ด้วยทีมวิสาหกิจเพื่อสังคม ทีมเยือนเย็น มีการจ่ายยาไปที่บ้าน โดยสร้างห้องความดันลบเพื่อผู้ป่วยเด็กตั้งแต่แรกเกิดที่ สถาบันสุขภาพเด็กฯ และเครือข่ายต่างๆ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงมาตรการที่ปิดโรงเรียนว่าเป็นมาตราการที่ถูกต้องแล้ว เพราะถ้าเด็กไปเรียน ก็จะกลับมาติดที่บ้าน แต่เนื่องจากไม่สามารถห้ามปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและเด็กได้ ดังนั้น ส่วนใหญ่เด็กก็ติดมาจากผู้ปกครอง และมีความเสี่ยงนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุในบ้านได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าเป็นห่วง 2 เรื่อง คือ 1)สุขภาพเด็ก หากโตไม่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่ไม่น่าเป็นห่วง แต่เด็กเล็กมีโรคประจำตัวหลายอย่าง จะพบปัญหาพอสมควร 2)เวลาเด็กติดเชื้อ แล้วนำไปแพร่เชื้อในครอบครัว
@ เตรียมเร่งฉีดวัคซีนให้เด็กกลุ่มเสี่ยง
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงวัคซีนสำหรับเด็กว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ทยอยประกาศวัคซีนที่ใช้ในเด็ก จะต้องติดตามใกล้ชิด วัคซีนบางตัวแม้กระทั่งไฟเซอร์ ก็ยังใช้ในเด็กไม่มาก ยังไม่มีการติดตามผลข้างเคียงระยะยาว แต่จากสถานการณ์การระบาดพบว่า โควิดทำลายล้างทุกทฤษฎีที่รู้จัก อย่างเช่น ปีที่แล้ว บอกว่าวัคซีนมา โควิดจะจบ แต่ปรากฏว่าไม่จบ การติดเชื้อแล้ว ไม่ติดซ้ำ ตอนนี้ก็ติดซ้ำได้ ตอนนี้อยู่ที่การประเมินในสถานการณ์จุดนั้นๆ ว่า ประโยชน์กับโทษอะไรมากกว่ากัน และพบว่า การฉีดวัคซีนในเด็กอายุน้อยที่มีโรคร่วม สามารถลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้
“สถาบันสุขภาพเด็กฯ กำลังเตรียมตัวฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้เด็กอายุน้อยต่ำกว่า 12 ปีที่มีโรคร่วม เพราะเราไปห้ามการแพร่เชื้อได้ยาก แต่จะทำอย่างไรเพื่อห้ามป่วยหนัก ห้ามเสียชีวิต วัคซีนจะเป็นคำตอบ ซึ่งเรากำลังเตรียมแนวทางให้วัคซีนในเด็ก ลดเพื่อการป่วยหนักและเสียชีวิตในเด็กที่มีโรคประจำตัว” นพ. สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า มีการคาดการณ์ 1-2 ปีข้างหน้าว่า โควิดจะคล้ายกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2019 เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะเป็นโรคประจำถิ่น ที่สามารถติดเชื้อกันได้ วัคซีนที่พัฒนาต่อเนื่องจะเป็นตัวเข้ามาช่วยทำให้การติดเชื้อไม่ป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต หรือป้องกันการติดเชื้อได้ คาดว่าปลายปี 2565 โควิดก็อาจเป็นคล้ายไข้หวัดได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีนด้วยว่าจะลดการติดเชื้อ การป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้มากเท่าไหร่ เป็นพัฒนาการที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังทำการอยู่
@ การสูญเสีย กระทบจิตใจเด็กไม่ต่างจากผู้ใหญ่
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขเด็กที่ได้รับผลกระทบในแง่การสูญเสียคนที่รักจากโควิด ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เด็กกลุ่มดังกล่าวจะต้องได้รับการเข้าถึงและช่วยเหลือ เนื่องจากสถานการณ์ยังเดินหน้าต่อ และอัตราการเสียชีวิตยังคงที่ อย่างเช่นวันนี้ มีผู้เสียชีวิตใน 187 ครอบครัวที่สูญเสียคนที่รัก พบว่า มีหลายครอบครัวเสียสมาชิกจากโควิดมากกว่า 1 ราย หรือการเสียชีวิตเกิดขึ้นในขณะที่สมาชิกคนอื่นยังรักษาตัวอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กด้วย อย่างที่เห็นในกรณีที่เด็กไม่ติดเชื้อ แต่พ่อแม่เสียชีวิตจากโควิดทั้งคู่
พญ.พรรณพิมล กล่าวถึงผลกระทบทางจิตใจของเด็กว่า เด็กที่สูญเสียผู้ปกครอง คนที่ทำหน้าที่พ่อแม่ให้กับเด็กนั้น ส่งผลกระทบด้านจิตใจกับเด็กแน่นอน เด็กเสียใจกับการสูญเสียเหมือนผู้ใหญ่ มีอารมณ์ความเศร้า แต่ปฏิกิริยาต่างกัน เด็กต้องการคนที่อยู่รอบข้างมาช่วยให้ความเศร้าผ่านไป จากการศึกษาหลายประเทศพบว่า การสูญเสียจากโควิดส่งผลกระทบมาก เพราะไม่มีโอกาสได้ร่ำลา ไม่มีแม้โอกาสได้ร่วมส่งเขาเป็นครั้งสุดท้าย หรือเป็นการติดเชื้อในครอบครัว ก็จะเกิดประเด็นว่าเราเป็นจุดเริ่มต้นติดเชื้อไปสู่คนอื่นในครอบครัว และเสียชีวิต เป็นความรู้สึกผิดที่รบกวนความรู้สึกเสียใจโดยปกติ
พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องทำคือ ไม่ให้เด็กรู้สึกเศร้ากับการสูญเสีย ต้องผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ และหากสูญเสียผู้ทำหน้าที่พ่อแม่ มักมีผลกระทบมากขึ้น เช่น เป็นเด็กกำพร้า ไม่มีพ่อแม่อีกต่อไป เด็กก็จะต้องดูแลตัวเองในรูปแบบใหม่ หรือหากสถานะเดิมก่อนมาเจอโควิด ยากลำบากอยู่แล้ว เมื่อเสียผู้นำครอบครัวอีก เด็กจะหวั่นไหวมากขึ้น เพราะอาจถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่กับญาติ เปลี่ยนเพื่อน เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น จะต้องทำให้เด็กไม่อยู่กับความทุกข์ใจ เพราะเด็กจะขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ที่จะเติบโตที่จะมองไปข้างหน้า ก้าวผ่านสิ่งนี้ไป
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กทุกคนที่ประสบความสูญเสียคนรัก หรือเขารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตบางอย่าง เขาจะยังมีความรู้สึกที่มั่นคง มั่นใจว่าระบบจะเข้าไปช่วยโอบอุ้ม ดูแล ซึ่งสัมพันธ์กับ 1)อายุของเด็กที่สูญเสียเพราะเด็กรับรู้ต่างกันตามอายุ 2)ความสัมพันธ์ของคนที่จากไป และ 3)การเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับเขา ซึ่งกระทบกับเด็กโตมาก ส่วนในเด็กเล็กจะกังวลเรื่องคนใกล้ชิดที่จะดูแลเขา เช่น ใครจะเข้าใจเขา ใครจะถักผมเปียให้เขาในตอนเช้า เหมือนที่แม่ทำให้ทุกวัน หรือถ้าพ่อยังอยู่ก็อาจสิ่งนั้นแทน หรือถ้าไม่มีทั้งพ่อและแม่ ไม่มีใครถักผมเปียให้เขา” พญ.พรรณพิมลกล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า เมื่อเด็กต้องโตต่อไปด้วยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ที่อยู่ในระบบการรักษาที่โรงพยาบาล รวมถึงการแยกกักที่บ้าน เด็กที่สูญเสียจะต้องได้รับความช่วยเหลือ ดูแลให้ดำเนินชีวิตผ่านไปได้ และการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่มากกว่าสุขภาพกายและจิตใจ เช่น สังคม การศึกษา
@ เด็กกำพร้าเพราะโควิดแล้ว 182 คน
ด้าน นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ 2-3 วันที่ผ่านมาจะเห็นว่าตัวเลขแตะ 2,900 กว่าราย ทางกรมกิจการเด็กฯ ได้จำแนกกลุ่มเพื่อให้การช่วยเหลือให้ตรงประเด็น ได้แก่ 1)กลุ่มเด็กติดเชื้อที่ผู้ปกครองติดเชื้อ 2)กลุ่มเด็กที่ผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ 3)กลุ่มเด็กกลุ่มเสี่ยง คือเด็กที่ยังไม่ติดเชื้อ รอการยืนยันผลตรวจ รวมถึงเด็กที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงในครอบครัวติดเชื้อ 4.กลุ่มเด็กกำพร้า
ทั้งนี้ หากต้องการขอความช่วยเหลือ พม. มีสายด่วน 1300 โดยทางกรมก็มีบ้านพักเด็กและครอบครัวในทุกจังหวัด และยังมีแอปพลิเคชั่น คุ้มครองเด็ก เพื่อแจ้งเหตุช่วยเหลือเด็กในกลุ่มต่างๆ ที่นอกเหนือจากโควิดด้วย นอกจากนั้น ก็มีไลน์บัญชีทางการ @savekidscovid19 รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด ได้เปิดตัวแล้วเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้รับการแจ้งเหตุปัญหาเข้ามา 174 ราย ส่วนใหญ่แจ้งขอความช่วยเหลือจากการที่เด็กติดเชื้อ
นางสุภัชชา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ข้อมูลถึงวันที่ 28 ก.ค.จากการรายงานของบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัดพบเด็กกำพร้า 182 คน แยกเป็นกำพร้าพ่อ 90 คน กำพร้าแม่ 76 คน กำพร้าทั้งพ่อแม่ 1 คน และกำพร้าผู้ดูแล 15 คน เชื่อยังมีมากกว่านี้ การดูแลเด็กเหล่านี้นอกเหนือจากการดูแลทางกายแล้วยังต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจที่สำคัญอย่างยิ่ง การรองรับเด็กกำพร้าจะเน้นให้เครือญาติเข้ามาดูแลเป็นครอบครัวทดแทนลำดับแรก โดยต้องผ่านการประเมินความพร้อมด้านต่างๆ สถานสงเคราะห์จะเป็นที่สุดท้ายที่จะรองรับเด็ก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage