จุฬาฯ เผยผลทดสอบวัคซีน 'ChulaCOV-19' ในมนุษย์เฟสแรก ไม่พบรายใดมีผลข้างเคียงรุนแรง ป้องกันโควิด 4 สายพันธุ์ กระตุ้นภูมิเท่าวัคซีน'ไฟเซอร์' คาดอย่างเร็วที่สุด คนไทยจะได้ใช้ เม.ย.2565
....................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทยและคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวผลการทดสอบวัคซีนจุฬาคอฟ 19 (ChulaCOV-19) ในอาสาสมัครระยะแรก
โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาผู้ป่วยหรือการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งสิ่งหนึ่งที่สำคัญและเป็นความหวังกับพวกเราชาวไทย คือ วัคซีน
การพัฒนาวัคซีนจุฬาคอฟ 19 นี้ พัฒนามาจากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นศูนย์วัคซีนที่ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทั้งในระดับประเทศและในระดับโลกมาร่วมมือวิจัย ต่อยอด และคิดค้น
ทั้งนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเราได้แถลงผลการทดสอบวัคซีนจุฬาคอฟ 19 กับสัตว์ทดลอง และได้เปิดรับอาสาสมัครทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา จวบจนถึงตอนนี้ผลการวิจัยได้ออกมาเป็นที่น่ายินดี
"ผมเองต้องขอขอบคุณทีมนักวิจัยของเรา และทีมนักวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งขอบคุณศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และอีกหลายหน่วยงาน ทั้งในภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานวิจัยชิ้นนี้ ผมหวังว่าผลการดำเนินงานขั้นถัดไปน่าจะเป็นประโยชน์และเป็นความหวัง ซึ่งจะทำให้เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย แล้วก็ใช้กับประชาชนชาวไทย ประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาอีกไม่นาน" ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าว
สำหรับผลการทดสอบวัคซีนจุฬาคอฟ 19 ในระยะแรก ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า จากอาสาสมัครอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 ราย ไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น อยู่ในขั้นเล็กน้อยและปานกลาง อาทิ มีไข้ หนาวสั่น และอ่อนเพลีย ซึ่งจะดีขึ้นภายใน 1-3 วัน
"วัคซีนจุฬาคอฟ 19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดี (Antibody)ได้สูงเทียบเท่าวัคซีนชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์และโมเดอร์นา และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม รวมถึงยังสามารถกระตุ้นภูมิได้สูงในเชื้อข้ามสายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) เบต้า (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) แกมม่า (สายพันธุ์บราซิล) และเดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) นอกจากนั้นยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด T-Cell ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อได้ โดยสามารถยับยั้งการจับของโปรตีนที่กลุ่มหนามได้ 94% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเชื่อกันว่าหากเกิน 70% จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้" ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า คาดการณ์อย่างเร็วที่สุด คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนจุฬาคอฟ ในช่วงเม.ย.2565 แต่จะต้องได้รับความร่วมมือทั้ง 4 องค์ประกอบ ดังนี้
1.ต้องไม่ระดมทุนแบบเดิม คือต้องมีเป้าหมายร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน และต้องมีงบที่เพียงพอรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
2.ต้องมีกติกาในการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่ชัดเจน ภายในเดือนหน้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าการขึ้นทะเบียนจะต้องทำวิจัยระยะ 2B หรือระยะ 3 อย่างไรจึงจะเพียงพอ
3.โรงงานผลิต ต้องเร่งดำเนินการให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพและจำนวนมากได้
4.นโยบายการจองและจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้า ต้องมีความชัดเจน
ทั้งนี้ทางศูนย์วิจัยวัคซีนฯ กำลังดำเนินการทดสอบกับอาสาสมัครอายุ 56-75 ปี อีก 36 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว และจะทดสอบในระยะที่ 2 คาดว่าจะเริ่มในช่วง 25 ส.ค.2564 รวมถึงจะมีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่รองรับไวรัสกลายพันธุ์โดยเฉพาะอีกด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage