ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย กำหนดจำนวนหนี้มีสามารถร้องขอฟื้นฟูกิจการฯได้เป็น 50 ล้านบาท จากเดิม 10 ล้านบาท พร้อมเร่งรัดกระบวนการพิจารณาแผนฟื้นฟูฯให้เร็วขึ้น
............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้) ซึ่งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามแผนปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ที่สามารถร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการได้ จาก “จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท” เป็น “ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท”
พร้อมทั้งกำหนดกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีลักษณะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผลักดันให้เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิรูปในระยะเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้) มีดังนี้
1.กำหนดให้เมื่อลูกหนี้ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่น ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ และเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บุคคลตามมาตรา 90/4
ได้แก่ เจ้าหนี้ซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกันและมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านบาท ลูกหนี้ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา 90/3 ธนาคารแห่งประเทศไทยในกรณีที่ลูกหนี้เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบริษัทหลักทรัพย์ กรมการประกันภัยในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิต และหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการได้
2.กำหนดกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
2.1 กำหนดให้ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ จึงจะสามารถร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการได้
2.2 กำหนดให้ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ โดยที่ลูกหนี้ยังไม่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอศาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และกำหนดให้มีการพักชำระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการได้
3.กำหนดให้มีกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัดซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ ลูกหนี้ที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถเลือกยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แบบเร่งรัดได้ โดยแนบแผนพร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้มีมติยอมรับแผนแล้ว (prepackaged plus) ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดต่อศาล
โดยให้ศาลพิจารณาคำร้องขอดังกล่าวเป็นการด่วน และถ้าได้ความจริงและมีเหตุอันสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการและแผนเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งลูกหนี้ยื่นคำร้องขอโดยสุจริต ให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน แต่หากศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอเพราะแผนไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะสามารถให้ความเห็นชอบได้ ลูกหนี้อาจยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อีกได้ โดยไม่ติดเงื่อนไขข้อห้ามเรื่องระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ศาลยกคำร้องขอกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/