ครม.เคาะขยายกรอบการช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33 จาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัดสีแดงเข้มตามประกาศ ศบค. พร้อมเคาะ 3.34 หมื่นล้านบาท จ่าย 5,000 บาท 1 เดือนให้ผู้ประกันตน ม.39-40 อาชีพอิสระ เริ่ม 24 ส.ค.
--------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม ปรับปรุงรายละเอียดสาระสำคัญของโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 สำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยขยายพื้นที่ดำเนินการจาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัดตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การโควิด (ศบค.) มีคำสั่งที่ 11/2564 ขยายพื้นที่สถานการณ์ไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ให้ขยายกรอบวงเงินโครงการจากเดิม 15,027.68 ล้านบาท เป็น 17,050.41 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,022.72 ล้านบาท รวมถึงขยายเวลาให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ถึง 24 ส.ค.2564
(ข่าวประกอบ : แพร่ข้อกำหนด ฉ.30 ล็อกดาวน์ 29 จว.'สีแดงเข้ม'มีผล 3-31 ส.ค.ประเมินสถานการณ์ทุก 14 วัน)
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า ครม.ยังเห็นชอบกรอบวงเงิน 33,471 ล้านบาทเศษ เพื่อใช้สำหรับเยียวยาผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด โดยเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 5,000 บาท รวมจำนวนผู้ได้รับการเยียวยาทั้งสิ้น 6,694,201 คน โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
1.อยู่ในพื้นที่ดำเนินการ 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี
2.กลุ่มเป้าหมายรวมประมาณ 6,694,201 คน แบ่งเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1,436,171 คน และมาตรา 40 จำนวน 5,258,030 คน และต้องไม่เป็นข้าราชการหรือผู้รับบำนาญของกรมบัญชีกลาง
3.วิธีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 จะโอนเงินให้กับผู้ประกันตนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ เฉพาะที่ผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชน
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า ครม.ยังให้กระทรวงแรงงาน เร่งตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประกาศและขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวม 3 ครั้ง แบ่งเป็นครั้งที่ 1 จำนวน 10 จังหวัด ครั้งที่ 2 ประกาศเพิ่ม 3 จังหวัดรวมเป็น 13 จังหวัด และ ครั้งที่ 3 ประกาศเพิ่ม 16 จังหวัด รวมเป็น 29 จังหวัดในปัจจุบัน ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่าให้มีการเร่งดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดกลุ่ม 10 จังหวัดแรกภายในวันที่ 24 ส.ค.2564 เนื่องจากเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า สำหรับมติ ครม.ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทเป็นจำนวน 1 เดือน ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัดแรก ที่ ครม.ได้เห็นชอบเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะเยียวยาเพิ่มเติมให้อีก 1 เดือนนั้น คาดว่ากระทรวงแรงงานจะนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในสัปดาห์ถัดไป จึงเท่ากับว่า 13 จังหวัดแรกจะยังได้รับการเยียวยา 2 เดือนตามที่มีมติไปก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัดแรกที่จะได้รับการเยียวยารวม 2 เดือน ประกอบด้วย กทม. ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
@ รับทราบผลการช่วยเหลือประชาชนบรรเทาภาระหนี้สิน
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบรายงานผลการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ดังนี้
1.มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และลูกหนี้รายย่อยด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) , ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมทั้งสถาบันการเงิน ได้ดำเนินมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สินโดยพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง เริ่มตั้งแต่งวดชำระหนี้เดือน ก.ค. หรือ ส.ค.2564 แล้วแต่กรณี และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้แล้วจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้
นอกจากนี้จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่มีรายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมโควิดของภาครัฐตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้เป็นกรณีไป อย่างไรก็ตามมาตรการดังล่าวอาจจะกระทบต่อฐานะ และผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งตัวชี้วัดทางการเงินที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ผูกพันไว้กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จึงได้มอบหมายให้ สคร.พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว
2.มาตรการควบคุมการทวงถามหนี้ที่ดำเนินการไม่เป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2564 ที่มี รมว.มหาดไทยเป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับติดตามทวงถามหนี้ เรื่อง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ และมอบหมายฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ กรณีประชาชนพบผู้ทวงถามหนี้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด และประจำกรุงเทพมหานครได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/