‘สคฝ.’ เผยยังไม่พบการเคลื่อนย้าย ‘เงินฝาก’ ที่ผิดปกติ ก่อนการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท มีผลวันที่ 11 ส.ค.นี้ พร้อมระบุผู้ฝากเงิน 98% ของบัญชีทั้งหมด ยังได้รับการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน
.......................
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ชี้แจงรายละเอียดการกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ว่า การเปลี่ยนแปลงวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2564 และครอบคลุมสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 35 แห่ง นั้น จะยังทำให้ผู้ฝากเงิน 98% ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ ได้รับการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน
ขณะที่การคุ้มครองวงเงินเงินฝากดังกล่าว จะเป็นการคุ้มครองวงเงินในผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เป็นสกุลบาทเท่านั้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เป็นกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน โดยวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาท นั้น จะเป็นการคุ้มครองวงเงินฝาก ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ส่วนวงเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาท จะไม่ได้รับการคุ้มครอง
“เราไม่ได้คุ้มครอง แต่ละบัญชี ในแต่ละธนาคาร แต่เราจะคุ้มครองแต่ละคนในแต่ละธนาคาร เช่น สมมติว่าเรามี 3 บัญชี ในธนาคารที่ 1 และมีอีก 2 บัญชี ในธนาคารที่ 2 เราจะเอา 3 บัญชี ในธนาคารที่ 1 มารวมกัน แล้วดูว่ายอดเงินเป็นเท่าไหร่ และเอา 2 บัญชีในธนาคารที่ 2 รวมกัน ว่ายอดเงินเป็นเท่าไหร่
ถ้ายอดเงินในธนาคารที่ 1 ไม่เกิน 1 ล้านบาท เราจะให้ความคุ้มครองเต็มจำนวน แต่ถ้ายอดเงินฝากในธนาคารที่ 2 รวมกันแล้วเกิน 1 ล้านบาท เราก็ความคุ้มครองที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าเราไม่ได้เอา 2 ธนาคารมารวมกัน แต่เราจะแยกคุ้มครองวงเงินฝากเป็นต่อ 1 คนต่อ 1 ธนาคาร ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา บัญชีร่วม และบัญชีเพื่อฯ ที่มีบัญชีเงินฝากเป็นสกุลเงินบาท จะได้รับความคุ้มครองทั้งหมด” นายทรงพลย้ำ
นายทรงพล ระบุว่า หากสถาบันการเงินมีปัญหาเกิดขึ้นจริงและต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากเงินไม่ต้องยื่นคำร้องต่อ สคฝ. และไม่ต้องตกใจ เพราะปัจจุบัน สคฝ. ได้วางระบบการจ่ายคืนภายใต้ระบบการคุ้มครองเงินฝากไว้แล้ว โดย สคฝ. ได้สำรองข้อมูลการฝากเงินของผู้ฝากเงินทุกราย ซึ่งนำมาจากสถาบันการเงินแล้ว ส่วนการคืนเงินจะทำใน 2 ช่องทางหลัก คือ 1.จ่ายเงินคืนผ่านระบบพร้อมเพย์ และ 2.จ่ายเงินคืนเป็นเช็ค สำหรับคนต่างชาติและคนที่ไม่มีพร้อมเพย์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวงเงินฝากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองนั้น ไม่ได้หมายความว่า ผู้ฝากเงินจะไม่ได้เงินส่วนนั้นคืน โดย สคฝ. จะทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี และเอาทรัพย์สินของธนาคารที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาดำเนินการจำหน่าย และชำระคืนให้กับเจ้าหนี้ตามลำดับ ได้แก่ เจ้าหนี้ภาษี และเจ้าหนี้พนักงาน จากนั้นจึงนำทรัพย์มาเฉลี่ยคืนให้ผู้ฝากเงิน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ลำดับที่ 3 ในช่วงเวลาการชำระบัญชี
สำหรับวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ผู้ฝากเงินจะได้รับนั้น จะต้องหักหนี้ที่ผู้ฝากเงินค้างชำระกับสถาบันการเงินนั้นๆก่อน ส่วนหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระจะไม่หัก
นายทรงพล ระบุ สคฝ. เชื่อมั่นว่าระบบสถาบันการเงินต่างๆมีความแข็งแรง ขณะที่ ธปท. เองก็ยืนยันว่า ธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันแข็งแรง มีเงินกองทุน และเงินสำรองต่างๆแข็งแรงมาก และที่ผ่านมาไม่ได้มีสัญญาณการย้ายเงินฝากที่ผิดปกติหรือมีนัยสำคัญ ซึ่งการย้ายเงินฝากระหว่างธนาคารนั้น เป็นการย้ายเงินฝากไปธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า ไม่ได้เป็นการย้าย เพราะว่าธนาคารไหนมีความเสี่ยงมากกว่ากัน และยังพบว่าเงินฝากในระบบธนาคารเฉลี่ย 5 ปี เติบโต 4-6%
นายทรงพล กล่าวว่า ปัจจุบันการคุ้มครองวงเงินฝากจะไม่ครอบคลุมเงินฝากที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ การลงทุนในตราสราต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หรือเงินฝากอื่นๆ เช่น แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) และเงินที่ชำระไปก่อน (prepaid) แต่ สคฝ. อยู่ในช่วงการศึกษาว่าจะขยายความคุ้มครองไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆหรือไม่ เช่น อี-มันนี่ ของบริษัทที่นำไปฝากไว้กับธนาคาร หรือ อี-มันนี่ ของบริษัทที่ถูกปิดหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น
นายทรงพล ยังกล่าวว่า ในอนาคมอันใกล้นี้ จะไม่มีการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงไปอีก แต่มีความเป็นไปได้สูงว่า หากจะการทบทวนวงเงินคุ้มครองเงินฝากจริง ก็จะเป็นการเพิ่มวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นมากกว่า 1 ล้านบาท เนื่องจากประชากรมีรายได้สูงขึ้น และมีการฝากเงินมากขึ้น เป็นต้น
อ่านประกอบ :
‘สคฝ.’ ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท ตั้งแต่ 11 ส.ค.64
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/