สธ.เผยกระจายวัคซีนไฟเซอร์ให้โรงพยาบาล 170 แห่ง ทั่วประเทศ กว่า 446,160 โดส ฉีดให้บุคลากรด่านหน้าแล้ว 4.6 หมื่นคน ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะส่งให้ไทย 4.5 ล้านโดส พร้อมเผยหากไม่เข้มมาตรการอีก 2 สัปดาห์ โควิดระบาดต่างจังหวัดถึงจุดพีค
...........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2564 กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวอัพเดตสถานการณ์วัคซีนวัคซีนโควิด โดย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงตัวเลขคาดการณ์สถานการณ์โควิด จากการเปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ได้รับรายงานในสถานการณ์จริง กับตัวเลขคาดการณ์จากโมเดล ว่า เส้นสีน้ำเงินลดได้ 20% เส้นสีเขียว ลดได้ 25% และเส้นสีส้มคือสถานการณ์จริง จะเห็นว่าหากเราเริ่มล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 20 ก.ค.-31 ส.ค.2564 ประมาณ 1 เดือนกว่า มีประสิทธิภาพ 20% และอีกตัวเลขคาดการณ์ล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน ประกอบกับเร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุถึงเป้าหมายใน 1-2 เดือน จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 12,000 ราย
ขณะที่สถานการณ์จริงที่เราเจอติดเชื้อประมาณ 2 หมื่นราย แสดงว่าสถานการณ์ล็อกดาวน์เรามีประสิทธิภาพตรง 20% แสดงว่าการเร่งฉีดวัคซีนตอนนี้ยังไม่ออกผล จนกว่าจะฉีดจนครบถ้วนได้มากกว่านี้ ดังนั้นต้องปรับให้ได้ประสิทธิภาพ 25% มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรคให้ได้ที่สุด
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมมือกับทุกๆเครือข่ายช่วยกัน 3 เรื่อง คือ 1. ค้นหาผู้ติดเชื้อด้วย ATK 2. เพิ่มทีม CCR ในการลงไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และ 3. การเดินทางไปรักษาที่บ้าน ที่ภูมิลำเนา ต้องมีศูนย์พักคอยคอยจัดการระบบเตียงปลายทางให้ชัดเจนขึ้น
เมื่อถามว่าทำอย่างไรจำนวนผู้ติดเชื้อถึงจะลดลงมาได้ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ตอนนี้ สธ.ทำอยู่ 3 อย่างหลักเช่นเดียวกัน คือ 1. งดรับเชื้อนอกบ้าน ให้ออกเฉพาะเวลาจำเป็นเท่านั้น และระหว่างการเดินทางต้องป้องกันตนเองให้ได้มากที่สุด 2.งดแพร่เชื้อในครอบครัว และ 3. สงสัยให้รีบตรวจ ATK เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาตัว
นอกจากนั้น ด้วยสถานการณ์การเสียชีวิตจำนวนมาก สธ.ได้ตั้งธงไว้ว่าผู้สูงอายุในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ภายในสิ้นเดือนนี้ และจังหวัดอื่นๆอีก 47 จังหวัด ต้องฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุอย่างน้อย 50% ขึ้นไป เพราะฉะนั้นตอนนี้ที่สำคัญที่สุดในการลดอัตราเสียชีวิต คือ การงดแพร่เชื้อในครอบครัว และการเร่งพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน นอกจากนั้นควรเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ด้วย
ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่างจังหวัดที่เคยคาดการณ์ว่าจะถึงจุดพีคภายใน 2 สัปดาห์ นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า ในขณะนี้มียังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใน 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่ติดเชื้อที่เดินทางจากกรุงเทพฯ หรือในพื้นที่ระบาด โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง ที่รับผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาต่อเนื่อง 2.กลุ่มผู้ที่เดินทางกลับไปก่อนหน้านี้และไม่ได้มีการประสานกับโรงพยาบาล ซึ่งอาจติดเชื้อแล้วแต่ไม่มีอาการและไปแพร่ต่อให้กับบุคคลที่บ้าน
และ 3.กลุ่มผู้ที่อยู่ในจังหวัดเองที่มีสถานประกอบการหรือโรงงานค่อนข้างมาก ดังนั้นต้องคุม 3 กลุ่มนี้ให้ได้ สถานการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้าที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะถึงจุดพีคสุด หากมีการควบคุมและป้องกันตัวเองได้ดีดูแลไม่ให้คนในครอบครัวติดเชื้อได้จะไม่เห็นสถานการณ์เช่นนั้น
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคมาจากสหรัฐอเมริกาว่า ในช่วง 4-6 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา ได้มีการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้ว 170 โรงพยาบาล ทั่วประเทศใน 77 จังหวัด โดยรอบแรกกระจายออกไป 446,160 โดส และเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าแล้วกว่า 4.6 หมื่นราย ยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง
"จากการสำรวจพบว่า กว่า 80% ของบุคลากรในโรงพยาบาลมีความต้องการวัคซีนไฟเซอร์ ขณะที่บางโรงพยาบาลไม่ถึง 80% เนื่องจากบุคลากรบางส่วนฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เดือน ก.ค.2564 ดังนั้นการจัดสรรวัคซีนในรอบแรกจะส่งให้ประมาน 50-75% ของบุคลาการทางการแพทย์ที่ได้รับวิคซีนซิโนแวกสองเข็มแล้ว ซึ่งจะทำให้เราส่งวัคซีนไปได้ทุกจังหวัด โดยเน้นที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก่อน เนื่องจากวัคซีนต้องจัดเก็บอย่างดี เพื่อป้องกันการเสียคุณภาพของวัคซีน” นพ.โสภณ กล่าว
สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเดือน ส.ค.2564 นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ทางบริษัทแจ้งว่าจะสามารถส่งให้ได้ประมาณ 5.4 ล้านโดส ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาที่ได้รับ 5.3 ล้านโดส โดยในจำนวนนี้สามารถจัดสรรในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้สูตรหลัก คือ ซิโนแวคเป็นเข็มที่หนึ่ง และวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มที่สอง ซึ่งสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เร็วหลังจากฉีดเข็มที่ 2 เพียงสองสัปดาห์ ใช้ป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ผลดี
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้รับบริจาคจากประเทศอังกฤษจำนวน 415,000 โดส หลังจากตรวจคุณภาพแล้วจะกระจายไปให้พื่นที่ที่มีการระบาดของโรคในวันที่ 9 ส.ค.2564 นี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นจังหวัดในปริมณฑล และจะใช้เวลา 1 สัปดาห์จะสามารถฉีดได้ครบจำนวน เนื่องจากปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าได้ประมานวันละ 1.5 แสนโดส
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage