สธ.เปิดแนวทาง ATK เป็นบวก เข้าระบบรักษาได้ทันที หากเข้ากักตัวชุมชน ต้องตรวจ RT-PCR คู่ขนาน แจงปรับแผนรักษาเหลือ 10 วัน เพื่อให้รับผู้ป่วยใหม่ได้มากขึ้น เผยระบบ GIS สแกนหาวัด กระจายเผาศพโควิด-ลดภาระของเตาเผา ย้ำมาตรฐานห่อร่างผู้ติดเชื้อ เผาอุณหภูมิสูง ยันเชื้อตายแน่ ไม่ปนเปื้อนในอากาศ
-----------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติ การตรวจด้วยชุดตรวจ ATK สู่ระบบ HI / CI ว่า การตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ในช่วงที่ผ่านมามีการตรวจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งทีมแพทย์ชนบท กทม. สธ.ส่งหน่วยตรวจเชิงรุกมาช่วยกันลงในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 30 ทีมต่อวัน โดยพบปัญหาหน้างานว่า เมื่อตรวจ ATK เป็นบวกแต่ไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้ มีความจำเป็นต้องเข้าสถานที่แยกกักตัวในชุมน ( Community Isolation) แต่ต้องตรวจ RT-PCR
นพ.สมศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อมีผลตรวจด้วย ATK เป็นบวก จะเข้าข่ายว่าเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (Probable Case) จะมีทางเลือก 2 ทางคือ การทำ Home Isolation สามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอผล RT-PCR และจะมีสิ่งสนับสนุนจาก สปสช. เป็นอาหาร 3 มื้อ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และยาจำเป็น แต่หากจะเข้ารักษาสถานที่อื่นๆ ทั้งโรงพยาบาล ฮอสพิเทล หรือ Community Isolation โดยการเข้า 3 สถานที่นี้จะต้องเข้าไปปะปนกับคนเป็นโควิด ผลตรวจด้วย ATK อาจมีผลบวกลวง พบได้ประมาณ 3-5% ไม่อยากให้คนที่อาจไม่ติดเชื้อปะปนกับคนติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องทำการตรวจ RT-PCR คู่ขนาน
"แต่ต้องย้ำว่า ระหว่างการทำ RT-PCR ต้องไม่ให้เป็นอุปสรรค โดยให้เข้ารับไปรักษาที่สถานแยกกักชุมชน ฮอสพิเทล หรือโรงพยาบาล แต่ให้ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเซ็นใบยินยอมรับการรักษา และทำ RT-PCR คู่ขนาน ขณะนี้กำลังติดต่อทางเอกชนมารับ SWAB หน้างานด้วย การดำเนินการนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่ตรวจ ATK เป็นบวก เพราะอาจมีผลลวงได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงขั้นตอนการนำผู้ป่วยเข้าระบบการตรวจว่า มี 1.นำผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา โดยเจ้าหน้าที่รับตัวเข้าไปโรงพยาบาลเลย 2) จากการตรวจเชิงรุก ขณะนี้มีทีมแพทย์ชนบท CCRT ของ สธ.ลงพื้นที่ มีการตรวจหน้างาน โดยจะขึ้นทะเบียนผู้ป่วย และสปสช.จะเก็บข้อมูลเพื่อจับคู่ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบรักษา ไม่ว่าจะเข้า แบบกักตัวที่บ้าน หรือกักตัวแบบชุมชน และ 3) ผู้ติดเชื้อโควิดตรวจด้วยตัวเอง หากเป็นชุดตรวจที่ผ่านการรับรองจาก อย.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อผลเป็นบวกให้ถ่ายรูปผลการตรวจ และรับบริการ โดยโทรไปที่ 1330 ขณะนี้มี 3 พันคู่สาย คิดว่าจะเพียงพอ หากไม่สามารถติดต่อได้ สามารถแอดไลน์ของ สปสช. จะมีระบบสอบถาม และส่ง SMS แจ้งกลับมาว่าได้ลงทะเบียนแล้ว โดยทั้งหมดเมื่อผลออกมา จะเข้ารับการรักษาได้ทั้งระบบการแยกกักตัวที่บ้าน หรือชุมชน โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลหลัก เป็นต้น
@ ขอสวน 1669 สำหรับเฉพาะผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน
นพ.สมศักด์ ตอบคำถามกรณีติดต่อ สปสช. ได้รับการตอบรับ แต่ไม่มีการดำเนินการกลับมาภายใน 48 ชั่วโมง จะทำอย่างไร ว่า กรณีติดต่อสายด่วน 1330 ได้แล้ว แต่ยังไม่มีการติดต่อกลับ หรือยังไม่มีข้อมูลจับคู่คลินิก หรือโรงพยาบาล ขณะนี้ กทม.ได้สั่งการให้เขตแต่ละเขต 50 เขต มีเบอร์โทรศัพท์ประจำเขต แต่ละเขตมี 20 คู่สายแต่ละเขต มีทั้งหมดเป็น 1 คู่สาย เพื่อบริการประชาชน หากลงทะเบียนจาก สปสช.แล้ว แต่ไม่มีคลินิกติดต่อมา และติดต่อสปสช.ไม่ได้ ให้สอบถามไปทาง 50 เขตดังกล่าว เปิดบริการ 24 ชั่วโมง และหากมีปัญหาฉุกเฉินเร่งด่วน อาการค่อนข้างวิกฤตให้โทร 1669 โดยขออนุญาตสงวนให้คนวิกฤตฉุกเฉิน เพราะไม่เช่นนั้นคนวิกฤติฉุกเฉินจะไม่ได้รับริการที่ทันถ่วงที
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีผลตรวจ ATK เป็นบวก และติดต่อทาง สปสช.ไม่ได้ว่า พยายามยืนยันกับทางเลขาธิการ สปสช.มาโดยตลอด ยอมรับว่าขณะนี้ผู้ป่วยแต่ละวันมีจำนวนมาก อาจมีผู้ป่วยตกค้างที่เกิน 24 ชั่วโมง และทาง สปสช.พยายามเคลียร์ไม่ให้เกิน 48 ชั่วโมง แต่ทางกทม. มีเบอร์ประจำเขต สามารถติดต่อสอบถามไปทางเขตนั้นได้เลย และทางเขตจะจับคู่คลินิกต่างๆให้ แม้กระทั่งคลินิกความงาม โดยทางเลขาฯ สปสช.มีการอบรมกระบวนการในการดูแลผู้ป่วย
ส่วนคำถามว่า ขณะนี้ยังมี โรงพยาบาลไม่ยอมรับตรวจ RT-PCR หลังผู้ป่วยผล ATK เป็นบวก นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์มีหนังสือแจ้งเวียนโรงพยาบาลทั่วประเทศในส่วนภาครัฐ เกี่ยวกับแนวทาง ATK แล้วว่าต้องดำเนินการอย่างไร และในส่วนของภาคเอกชน ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ก็มีการแจ้งแล้วเช่นกัน
@ ปรับเกณฑ์ผู้ป่วยกลับบ้านเร็วขึ้น แต่ยังให้แยกกักตัวที่บ้านต่อ
เมื่อถามว่า วันนี้ตัวเลขรายงานพบผู้ป่วยหายจากโควิดมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ เพราะ สธ.ปรับให้ผู้ป่วยติดเชื้อรักษาหายแล้ว กลับบ้านเร็วขึ้น เป็นห่วงว่าอาจไปแพร่เชื้อภายนอกได้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การให้กลับไปนั้น เป็นการแยกกักที่บ้านเรียกว่าเข้าสู่ระบบแยกกักตัวที่บ้าน มีทีมแพทย์ติดตามอาการด้วยเทเลเมดิซีน มีอาหาร มียา มีระบบติดตามตลอด ทั้งนี้ เหตุผลของการดำเนินการ เนื่องจากพยายามรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีเชื้อมากกว่าคนที่อยู่ในโรงพยาบาลมาก่อนแล้ว 10 วัน และทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานการดูแล
@ ทำ GIS ระบุพิกัดวัด ลดการกระจุกเผา ยืดอายุเตา
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงประเด็นการฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิดว่า จากประเด็นการเผยแพร่ว่าวัดบางแห่งมีเตาเผาศพร้าว ทาง สธ.จึงมอบหมายให้ทาง สบส.และกรมอนามัยดำเนินการร่วมกัน ทางกรมฯ มีกองวิศวกรรมการแพทย์ร่วมกับวิศกรอาสา ประสานไปที่สำนักพุทธศาสนา เพื่อลงไปตรวจสอบ เป้าหมายเป็นวัดในพื้นที่ กทม. นททบุรี และปทุมธานี รวม 189 แห่ง จากการตรวจสอบแล้ว 31 แห่ง พบว่ามี 4 แห่ง ที่ขณะนี้หยุดทำการเผาศพชั่วคราว เนื่องจากอยู่ใกล้ชุมชน และไม่สะดวกเพราะมีผู้ติดเชื้อ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า การลงพื้นที่ไปตรวจสอบได้พูดคุยกับทางวัด โดยวิศกรอาสาได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับทางวัด เพื่อดูโครงสร้างและระบบปฏิบัติการ จากข้อมูลพบว่า วัดส่วนใหญ่ มีศักยภาพในการเผาวันละประมาณ 2-4 ศพ ขึ้นอยู่กับชนิดของเตา ในพื้นที่ กทม. มีวัด 92 แห่ง ในภาวะปกติเผาได้เฉลี่ยวันละ 184 ศพ ในภาวะวิกฤตเพิ่มได้เป็น 368 ศพ เป็น 2 เท่า ในพื้นที่นนทบุรี มีวัด 42 แห่ง สภาวะปกติเผาได้วันละ 84 ศพ ในช่วงวิกฤตเผาได้ 168 ศพ และปทุมธานี มีวัด 55 แห่ง ภาวะปกติเผาได้วันละ 110 ศพ และในภาวะวิกฤตเผาได้ 220 ศพ จากข้อมูลจึงทำให้ความมั่นใจว่า กรณีที่มีผู้เสียชีวิตจะมีที่สามารถฌาปนกิจได้อย่างเหมาะสมตามมาตรฐาน
นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า สบส.ได้ทำระบบ GIS บอกตำแหน่งวัดที่เผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิดเพื่อให้ตรวจสอบสถานที่ใกล้เคียงได้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีการเผาในบางวัดมากเป็นพิเศษ จึงจัดทำข้อมูลเพื่อให้สถานพยาบาลและพนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน แจ้งให้ญาติกระจายไปตามวัดต่างๆ เพื่อลดภาระงานและให้เตาเผาใช้งานได้นานขึ้น โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ที่ THAI Stop COVID-19 เว็บไซต์ของกรมอนามัย และ สบส. นอกจากนี้ ทางกรมฯ ได้หาข้อมูลบริษัทผลิตและจำหน่ายเตาเผาศพ จำนวน 7 บริษัทที่สามารถติดตั้งและใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 7-14 วันในการติดตั้ง และมีเตาสำรองเพียงพอ ดังนั้นในส่วนที่มีปัญหา ทางกรมฯ จะร่วมกับสำนักพุทธศาสนาเข้าไปดำเนินการ
@ ห่อศพโควิดมิดชิด เผาอุณหภูมิสูง ยันเชื้อตาย-ไม่ปนเปื้อนในอากาศ
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับการดูแลจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด ได้มีการตกลงและทำความเข้าใจภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1) การเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ซึ่งไม่ยุ่งยากมากนัก เพราะมีกลไกระบบทีมจัดการศพ และมีประวัติการรักษาครบ การออกหนังสือรับรองการเสียชีวิตจากสถานพยาบาลให้ญาติไปยืนยันการเสียชีวิตจากโควิด
นพ.ดนัย กล่าวต่อว่า แต่ประเด็นที่ 2) การเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ในส่วนนี้ประชาชนจะต้องแจ้งให้องค์กรสาธารณะกุศล มูลนิธิ หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือ ดูแลบรรจุศพให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยพนักงานดำเนินการจะมีการฝึกอบรมการดำเนินการในสถานการณ์โควิด เมื่อรับแจ้งแล้วจะมีการแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสถานพยาบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อชันสูตรศพ มีการบันทึกสภาพศพ เก็บข้อมูลหลักฐาน ลงสาเหตการเสียชีวิต และขอรับหนังสือรับรองการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน แล้วนำเอกสารต่างๆ ไปแจ้งนายทะเบียนที่ทำการปกครองอำเภอ เทศบาลต่างๆ หรือสำนักงานเขต เพื่อออกใบมรณะบัตรใน 24 ชั่วโมง เมื่อเสร็จแล้ว ญาติสามารถนำหลักฐานไปแจ้งเพื่อนำศพไปประกอบพิธีทางศาสนา
นพ.ดนัย กล่าวถึงวิธีการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโควิดว่า การบรรจุศพในถึงซิปล็อก ฆ่าเชื้อ และซีล 2 ชั้นให้สนิท นำขึ้นยานพาหนะส่งไปยังวัดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา กรณีที่เป็นการเผาในเมรุ ส่วนใหญ่เตาใน กทม. และปริมณฑล มี 2 หัวเผา ห้องแรกเผาศพในอุณหภูมิ 760 องศาเซลเซียส ส่วนห้องที่ 2 เป็นการเผาควัน อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 1,000 องศาเซลเซียส เพื่อกำจัดสารไดออกซิน และสารก่อมลภาวะในชั้นบรรยากาศ
นพ.ดนัย เน้นย้ำขั้นตอนในการเผาว่า ไม่ให้มีการเปิดประตูเผาศพ ไม่ให้เขี่ยหรือพลิกศพเหมือนในอดีต เพราะจะทำให้อุณหภูมิเตาเผาลดลง และอาจจะเกิดการฟุ้งกระจายได้ สำหรับการเก็บเถ้ากระดูก ขอยืนยันว่าเชื้อทุกประเภทตายหมดแล้ว
“การดูแลพนักงานสวมชุด PPE เป็นการสวมตั้งแต่ขั้นตอนการบรรจุศพ และนำส่งศพมาที่วัดหรือส่งขึ้นเมรุ เป็นการป้องกันการแพร่ระบาด และไม่ให้มีการสัมผัสน้ำเหลือง เยื่อเมือกต่างๆ ที่ออกมาจากศพ การเผาในอุณหภูมิสูงก็มั่นใจได้ไม่มีเชื้อโควิดออกมา ส่วนสัปเหร่อที่ต้องสวมชุด PPE โดยข้อเท็จจริง ศพหรือโลงศพส่งมาจากโรงพยาบาล เราไม่ได้สัมผัสเอง ก็ไม่จำเป็นต้องสวม PPE แต่เมื่อกลับบ้านแล้วให้ถอดเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผมทันที เพื่อป้องกันกรณีอาจจะมีการสัมผัสมาจากส่วนอื่นมากกว่า” นพ.ดนัยกล่าว
นพ.ดนัย กล่าวถึงกรณีหลายวัดไม่กล้าให้บริการ ว่า กระบวนการบรรจุศพมีการซีลอย่างดี ไม่ให้มีการรั่วซึมของสารคัดหลั่งหรือของเหลวต่างๆ โอกาสรั่วซึมมีน้อยมาก ดังนั้น วัดสามารถฌาปนกิจได้ตามปกติ กรณีมีพิธีสวดศพก็สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ส่วนการฝังศพผู้เสียชีวิตจากโควิด มีจุดสำคัญคือ ย้ำว่าไม่ให้ญาติ หรือผู้เกี่ยวข้องไปเปิดถุงซิป หรือทำให้แตกเพราะจะทำให้ของเหลว หรือสารคัดหลั่งรั่วซึมออกมา อาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ ดังนั้น ถ้าฝัง จำเป็นต้องฝังทั้งถุง และโลงบรรจุศพ เมื่อฝังแล้ว เชื้อจะตายไปเอง เพราะธรรมชาติของเชื้อไวรัสจะมีอยู่ได้ในคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนคนที่ติดเชื้อเสียชีวิตแล้ว เชื้อจะอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น 2-3 วันเชื้อก็ตายไปด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage