สธ.แถลงสถานการณ์โควิด 1 เดือน มีผู้ป่วยเดินทางกลับภูมิลำเนา 9.4 หมื่นคน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน คาดอีก 2 สัปดาห์ถึงจุดพีค ส่วนอัตราการครองเตียงทั่วประเทศ ไม่นับรวม กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ 73.49% เหลือเตียงว่าง 41,185 เตียง เฉพาะสีแดงเหลือพันกว่าเตียง ยอมรับบุคลากรแพทย์เหนื่อยล้า แต่ยังพร้อมดูแลประชาชนอย่างเต็มที่
--------------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564 นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการนำผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ว่า จากการดำเนินการจนถึง 1 ก.ค. – 4 ส.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อเดินทางจาก กทม.และปริมณฑลไปต่างจังหวัด 12 เขตสุขภาพ มียอดสะสม 94,664 ราย เป็นข้อมูลเฉพาะผู้ติดเชื้อ และความจริงคงมีคนเดินทางกลับภูมิลำเนามากกว่านี้ ส่วนใหญ่เกินครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน หรือ เขตสุขภาพที่ 7 – 10 ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในภาคเหนือ เขตสุขภาพที่ 1-3 ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก เขตสุขภาพ 4-6 โดยการดำเนินการที่ผ่านมา แรกเริ่มผู้ป่วยติดต่อและเดินทางกลับไปรักษาตัวที่บ้านด้วยตนเอง หรือบางคนก็ไม่ได้แจ้งข้อมูลที่ชัดเจน ถัดมาจังหวัดเริ่มมีมาตรการและกระบวนการของตนเอง มีการประกาศ มีสายด่วน ให้ประชาชนติดต่อแจ้งความประสงค์ล่วงหน้า โดยขณะนี้คาดว่าทุกจังหวัดได้เตรียมความพร้อมแล้ว และจนปัจจุบันมีการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาตามนโยบายภาครัฐโดยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาคเครือข่าย
“เรียนประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา อยากให้มีการติดต่อประสานงานล่วงหน้า เพื่อประเมินสถานการณ์ว่า อาการป่วยของเราอยู่ในเกณฑ์กลุ่มไหน สีเขียวเสี่ยงน้อย หรือมีความเสี่ยงมากขึ้น ที่เราอาจจะต้องช่วยประสานงานดูแลก่อนเดินทาง ทั้งนี้ยังมีประปรายที่เดินทางไปถึงพื้นที่โดยที่ไม่ได้แจ้งหน่วยงานใดให้รับทราบ ขออนุญาตเรียนว่าท่านอาจมีความเสี่ยงและมีโอกาสแพร่โรคระหว่างเดินทางหรือเมื่อถึงพื้นที่” นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับกระบวนการรับกลับภูมิลำเนายังมาอยู่ทุกจังหวัด โดยขอให้ติดต่อไปที่จังหวัดของท่าน โรงพยาบาลทุกแห่งมีเครือข่ายที่จะติดต่อประสานงานได้ พร้อมมีคำแนะนำในการเดินทางหรือประสานงานในส่วนของภาครัฐ เพื่อให้ท่านสามารถติดต่อและประเมินตนเองก่อนเดินทางได้ สำหรับขั้นตอนเมื่อเดินทางถึงภูมิลำเนา 1.ประเมินสภาพผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อแยกตามอาการรุนแรง 2.ผู้ป่วยสีเขียวหรือผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ให้พิจารณาเข้าระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือกักตัวในชุมชน (Community Isolation) โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 3.ผู้ป่วยสีเหลืองหรือผู้ป่วยติดเชื้ออาการไม่รุนแรง พิจารณารักษาตัวในโรงพยาบาลชุมชน และ 4.ผู้ป่วยสีแดงหรือผู้ป่วยติดเชื้อมีอาการรุนแรง พิจารณารักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โดยทั้งหมดนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินให้ว่าผู้ป่วยควรจะไปรักษาตัวที่ไหน
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการเตรียมตัวของประชาชนก่อนเดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา เมื่อรู้แล้วว่าติดเชื้อ หรือสงสัยว่าติดเชื้อ โดยหลักการต้องใช้มาตรการที่มีการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ลดความเสี่ยงที่จะนำมือมาสัมผัสสิ่งแวดล้อมต่างๆ ลดการแพร่กระจายเชื้อ สำหรับผู้ป่วยที่ถูกประเมินว่าเข้าเกณฑ์สีแดง เราก็จะหาทางที่จะช่วยให้ไม่ต้องเดินทางกลับบ้านไปเสี่ยงระหว่างทาง ดังนั้นขอย้ำว่าให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทาง กรณีเดินทางด้วยตัวเองขอให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการแวะระหว่างทาง หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะขอให้ล้างมือ และลดการสัมผัสพื้นผิวสาธารณะ หากมีข้อสงสัยขอให้ติดต่อ 1669
นพ.ธงชัย กล่าวถึงสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยในต่างจังหวัด ว่า เราได้เตรียมการวางแผนรองรับในส่วนนี้ ภาพรวมทั่วประเทศยกเว้น กทม. เรามีเตียงอยู่ 156,189 เตียง ใช้ไปแล้ว 114,786 เตียง หรือ 73.49% มีเตียงคงเหลือ 41,185 เตียง เมื่อแบ่งเป็นเขตสุขภาพ พบว่า เขตสุขภาพที่ 1 ครองเตียง 52% เขตสุขภาพที่ 2 ครองเตียง 64% เขตสุขภาพที่ 3 จะมีการครองเตียง 70% เขตสุภาพที่ 4-6 มีการครองเตียงประมาณ 80% เขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 62% เขตสุขภาพที่ 12 ที่มีการระบาดเช่นเดียวกัน มีการครองเตียง 74%
นพ.ธงชัย กล่าวยืนยันว่า เรายังมีเตียงว่างในการรองรับผู้ป่วยได้อยู่ อย่างที่เรียนว่าหากเป็นเตียงสีเขียวไม่ค่อยยาก เพราะมีโอกาสในการจัดการได้ ไม่ว่าจะแยกกักตัวที่บ้าน กักตัวในชุมชน ซึ่งเตรียมการได้ไม่ยาก รวมถึงโรงพยาบาลสนาม ฉะนั้นตัวอย่างในหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เราใช้ศูนย์ประชุม 700 ปี ขยายพื้นที่รองรับผู้ป่วยได้ 3,000 เตียง ในช่วงที่การระบาดพุ่งสูงไป 4,000 ราย ฉะนั้นการขยายเตียงเขียวไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนเตียงเหลืองและแดงก็จะมีความยากในการเตรียมพื้นที่ยากขึ้นตามลำดับ แต่ในภาพรวมยังมีเตียงรองรับผู้ป่วยทุกพื้นที่
“เตียงสีเหลืองอาจจะยากขึ้นหน่อย แต่เราใช้โรงพยาบาลชุมชน 800 กว่าแห่งในการรองรับสถานการณ์ตรงนี้ บางจังหวัดนำไปทำเป็นโรงพยาบาลโควิดเลย ส่วนผู้ป่วยสีแดง การเตรียมพื้นที่ค่อนข้างจำกัด แต่ในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งก็ได้ขยายพื้นที่รองรับสถานการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ปัจจุบันสีแดงมีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 75% ยังมีเหลืออยู่บ้างประมาณพันกว่าเตียง ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในเขตสุขภาพไหน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขวางแผนรองรับสถานการณ์ไว้บางส่วนแล้ว และคาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะเป็นช่วงพีคของการส่งคนไข้กลับภูมิลำเนา” นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวย้ำว่า ค่ารักษาพยาบาลโรคโควิดฟรีหมดสำหรับคนไทย เพราะเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะดูแลประชาชน และได้สนับสนุนครุภัณฑ์ต่างๆ มีการพัฒนาพื้นที่เตรียมการไว้แล้ว ส่วนเรื่องบุคลากรเป็นประเด็นสำคัญ อย่างที่ทราบข้อมูลกันว่า ในช่วงปกติบุคลากรแพทย์ก็ไม่ได้มีมาก และทำงานโดยมีภาระอยู่เป็นประจำ แต่ช่วงโควิด เป็นช่วงที่มีภาระสูงขั้น เรายังคงรับไหว แต่มีความเหนื่อยล้า เนื่องจากโควิดต่อเนื่องยาวนานจะครบ 2 ปี ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ส่วนต่างจังหวัด เราส่งทีมแพทย์เข้ามาช่วยงานส่วนกลางจำนวนมาก มีพยาบาล 200-300 คน แพทย์เกือบ 100 คน หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ส่วนกลาง นำเรียนว่าเป็นภาระของเรา แต่อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชนให้อยู่รอดปลอดภัยไป ส่วนขวัญกำลังใจก็อยู่ในความดูแลของรัฐบาลและกระทรวงด้วยเช่นกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/