ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พบเด็กติดโควิดเชื้อลงปอดเพิ่มถึง 80-90% เตรียมเปิดลงทะเบียนแจก 'ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์' 6 ส.ค.2564
.......................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564 ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะพัฒนายาและคิดค้นสูตรต้นตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ โดยงานเภสัชกรรมฯ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวาจำกัด กล่าวชี้แจงข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์เรื่องการพัฒนาและคิดค้นสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ต้านเชื้อไวรัส สำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ในการผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) เป็นตำรับแรกในประเทศไทย โดยมุ่งหวังช่วยเหลือเด็กและผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ดให้สามารถเข้าถึงยาได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ และพบการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น
ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ได้รับการรับรองในการใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นใช้กันมานาน และในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสอีโบลา ได้ถูกนำไปใช้เช่นเดียวกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันสำหรับเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด มีรายงานเบื้องต้นว่าถ้าได้ยาเร็วภายใน 4 วัน หลังเริ่มมีอาการจะช่วยลดอาการป่วยหนัก และการเสียชีวิตได้
"การยับยั้งการแพร่ระบาดด้วยการฉีดวัคซีนต้องใช้เวลา แต่สถานการณ์เตียงในตอนนี้เริ่มตึงแล้ว เพราะฉะนั้นจะทำอย่างให้ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลหรือใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งจะช่วยลดภาระหนักภายในโรงพยาบาล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นห่วงประชาชนมาตลอด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ใช้ยาลำบาก จึงเป็นที่มาที่ไปในการคิดค้นยาสูตรน้ำเชื่อม เพื่อช่วยให้เด็กและผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลืนยาได้ เข้าถึงยาและได้รับยาในปริมาณที่ถูกต้องมากกว่าการบดยาเอง" ศ.นพ.นิธิ กล่าว
ทั้งนี้ ศ.นพ.นิธิ กล่าวเน้นย้ำอีกว่า ยาดังกล่าวต้องใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น จะไม่มีการขายในร้านขายยาทั่วไป เนื่องจากเราผลิตในกรณีฉุกเฉิน ต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด การใช้ยาที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ร่วมกับฟ้าทะลายโจร ซึ่งส่งผลต่อตับ อย่างไรก็ตามยานี้มีอายุการใช้งาน 30 วัน ควรจัดเก็บไม่ให้โดนแสงแดด และไม่ควรเก็บในตู้เย็น เพราะจะทำให้ตกตะกอน
พญ.ศรัยอร ธงอินเนตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ญี่ปุ่นมีการใช้ในโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนการนำมารักษาโควิดจะใช้ในขนาดที่มากพอสมควร โดยวันแรก 70 มก./กก./วัน วันต่อมาใช้ 35 มก./กก./วัน แบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ดังนั้น หากเด็กน้ำหนัก 10 กิโลกรัมจะต้องทานถึง 1 เม็ดกับอีก 3 ส่วน 4 เม็ด แต่หากใช้เป็นยาน้ำจะป้อนเด็กได้ง่ายขึ้น โดยวันแรกจะใช้ 27 ซีซีต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง และวันต่อมาจะใช้ 12 ซีซี หรือ 3 ส่วน 4 เม็ด
ทั้งนี้ การใช้ยาในเด็ก จะใช้ในปริมาณที่แตกต่างกันตามน้ำหนักตัว ได้แก่ นำ้หนัก 10 กิโลกรัม วันแรกทาน 27 ซีซี วันต่อมา 12 ซีซี, น้ำหนัก 15 กิโลกรัม วันแรกทาน 40 ซีซี วันต่อมาทาน 17 ซีซี, น้ำหนัก 20 กิโลกรัม วันแรกทาน 53 ซีซี วันต่อมา 23 ซีซี, น้ำหนัก 25 กิโลกรัม วันแรกทาน 66 ซีซี วันต่อมาทาน 29 ซีซี, น้ำหนัก 30 กิโลกรัม วันแรกทาน 79 ซีซี วันต่อมาทาน 34 ซีซี และ น้ำหนัก 35 กิโลกรัม วันแรกทาน 92 ซีซี วันต่อมาทาน 40 ซีซี
ขณะที่ พญ.ครองขวัญ เนียมสอน กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางเดินหายใจในเด็ก กล่าวด้วยว่า ในเดือน ก.ค.2564 พบเด็กติดโควิดเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ด้วยสายพันธุ์กลายพันธุ์ ทำให้เชื้อลงปอดมากขึ้น โดยพบเด็กมีเชื้อลงปอดเพิ่มจาก 50% เป็น 80-90% แต่อาการเบากว่าผู้ใหญ่ เด็กที่ปอดติดเชื้อยังมีสุขภาวะที่ดี ไม่ต้องการออกซิเจน ส่วนใหญ่ยังคงออกซิเจนสูง 95-96 %
ทั้งนี้ยามีทั้งข้อดี ข้อเสีย ยาเม็ดบดละลายน้ำข้อดีคือเจือจางในปริมาณน้ำ หรือนมที่ต้องการ แต่ข้อเสียคือมีปริมาณยาที่ตกตะกอนตกค้าง ทำให้ได้ปริมาณยาไม่คงที่ และการที่บดไม่ละเอียดจะทำให้มีรสขม จะทำให้เกิดการอาเจียนหรือปฏิเสธการกินยาในครั้งต่อไป ส่วนยาน้ำเชื่อมมีข้อดีคือพร้อมใช้ มีปริมาณยาคงที่ เด็กได้รับการดูดซึมดี แต่มีปริมาณยามากว่ายาเม็ดทั่วไป โดยในวันแรกต้องได้ยาเยอะ ส่วนวันถัดไปก็กินยาในปริมาณที่ไม่ต่างยาน้ำเด็กตำรับทั่วไปนัก
"จากการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์น้ำเชื่อมจริงในผู้ป่วยเด็กภายในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อายุ 8 เดือน ถึง 5 ปี จำนวน 12 คน พบว่า ตอบสนองต่อการรักษาดี ไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง กินยาได้ดี มีเพียงเด็ก 8 เดือน ที่แหวะยาในช่วงแรก ปริมาณ 1 ซีซี ทั้งนี้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่เคยได้รับการรับรองให้ใช้ภายในเด็กมาก่อนแล้ว ขณะเดียวกันได้มีการเจาะเลือดตรวจค่าตับและค่าของเสียที่กรองออกจากไต เด็กส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็กไม่พบค่าใดๆที่อันตราย ดังนั้นตั้งแต่เด็กแรกเกิดสามารถทานยานี้ได้ ” พญ.ครองขวัญ กล่าว
ด้าน พล.อ.ต. นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวด้วยว่า การผลิตยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ครั้งนี้ เรามองไปถึงผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่ผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ด้วย เราวางแผนไว้ว่าเราจะมีบริการให้ยาภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และเปิดโอกาสในโรงพยาบาลอื่นที่อยากผลิตยาภายในโรงพยาบาลของตนเอง สามารถเข้ามาร่วมผลิตยาได้ ตามมาตรฐานของเรา
โดยในวันศุกร์ที่ 6 ส.ค.2564 จะเปิดให้ผู้ป่วยโรงพยาบาลอื่นที่ต้องการยาฟาวิพิราเวียร์สูตรน้ำ และโรงพยาบาลนั้นๆ สามารถลงทะเบียนผ่าน https://favipiravir.cra.ac.th เพื่อขอรับยาได้โดยไม่เสียราคาใดๆ ทั้งนี้ในระยะแรกให้บริการได้ 100 รายต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ย 20 รายต่อวัน อนาคตจะเพิ่มขึ้น และจะได้รับยานี้ภายใน 1 วัน หลังจากลงทะเบียน สำหรับค่าจัดส่งผู้ป่วยอาจรับผิดชอบเอง หรืออนาคตจะพยายามหาผู้ช่วยในการจัดส่งยาอีกครั้งหนึ่ง
อ่านข่าวประกอบ:
ตำรับแรกไทย! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดตัวน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์เด็กต้านโควิด-19
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage