กรมการแพทย์แนะผู้ป่วยโควิดตรวจหาเชื้อเอง ต้องลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation เผยมาตรฐานกักตัวที่บ้าน ต้องมีส่งอาหาร-ยา-หมอโทรตรวจวันละ 2 ครั้ง ยันมียาฟาวิพิราเวียร์-ยาแรมดิซิเวียร์มีเพียงพอ ด้านต่างประเทศมียาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ แต่มีราคาแพง
-----------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลว่า การตรวจหาเชื้อโควิดในปัจจุบัน แบ่งได้ 3 วิธี คือ การตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลด้วยการตรวจแบบ RT-PCR การตรวจเชิงรุก ด้วยการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) โดย CCRT 226 ทีม ขณะนี้มีแพทย์ชนบทเข้ามาช่วยเหลือในการตรวจเชิงรุกอีก 30 ทีม โดยตั้งเป้าการตรวจที่ 2 แสนราย แบ่งเป็นเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นราย และการตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง ด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการตรวจด้วยวิธี RT-PCR และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษาได้เร็วขึ้น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผลตรวจ ATK เป็นบวก ถือว่าเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่าย สามารถรับยา และเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation ได้ทันที โดยลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ สปสช. ผ่านสายด่วน 1330 หรือ Line Ofiical เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะมี SMS แจ้งว่าได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว โดยมาตรฐานการดูแลสำหระบผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน จะต้องมีแจกข้าว เพื่อป้องกันการแพร่รกระจายของเชื้อ แจกยา และการโทรติดตามของแพทย์ผ่านระบบ Telenet วันละ 2 ครั้ง
"สปสช.ได้เพิ่มคู่สายเป็น 3,000 คู่สาย รองรับการลงทะเบียนผู้ป่วย ทั้งนี้ กทม. ได้จัดตั้งสายด่วนประจำเขต จำนวน 1,000 คู่สาย เขตละ 20 คู่สาย โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยรับโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโดยเร็ว" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในลักษณะ Community Isolation หรือในสถานพยาบาล ปัจจุบันมีจำนวน 48 แห่ง ทั้งนี้มีเป้าหมายจะขยายเพิ่มให้มากกว่า 68 แห่ง สำหรับผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่จะเข้าสู่การกักตัวที่สถานพยาบาล/ชุมชน จะต้องลงนามใบยินนอมเข้ารับการรักษา และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR คู่ขนาน โดยแยกจากผู้ป่วยโควิดในระหว่างรอผลตรวจ เนื่องจากการตรวจด้วย ATK ให้ผลบวกลวงได้ 3-5 เปอร์เซ็นต์
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อในกลุ่มสีแดงเร่งด่วน ว่า มีการประสานงานร่วมกับ 1669 ศูนย์เอราวัณ กทม. เป็นคู่สายในกรณีการรับผู้ป่วยเร่งด่วน ในการนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยโรงพยาบาลจะต้องรับรักษา ทั้งนี้หากมีการปฏิเสธ จะต้องมีการใช้มาตรการบังคับทางกฎหมาย
"สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน หลังจากการนำส่งอาจจะไม่ได้แอดมิดเข้ารักษาในวอร์ด เพราะว่าเตียงเต็มหมด อาจจะต้องรักษาในห้องฉุกเฉินก่อน" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
@ เผยยาฟาวิฯ-ยาแรมดิฯ เพียงพอ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ ว่า การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการ โดยเฉลี่ยตกคนละ 50-90 เม็ด คาดการณ์ว่าสถานการณ์ยายังไม่ขาดแคลน โดยองค์การเภสัชกรรม จะมีการนำเข้า 43.1 ล้านเม็ดในเดือนนี้ และอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับเอกชนในการขยายการผลิต
สำหรับการจัดสรรกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การจัดสรรในแต่ละพื้นที่ต่างจังหวัด มีหลักเกณฑ์ จัดสรรโดยกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับผู้ตรวจแต่ละเขตพื้นที่ ทั้งนี้แต่ละจังหวัดจะมีคลังเก็บยาอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัด ก่อนกรพจายไปให้โรงพยาบาลชุมชน โดยจะมีการเบิกยาให้ครบเต็มจำนวนทุกครั้ง เมื่อมีการเบิกใช้ ทั้งนี้จำนวนคลังขึ้นอยู่กับความต้องการผู้ป่วยแต่ละพื้นที่
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงยาแรมดิซิเวียร์ว่า เป็นยาใช้รักษาโควิด มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสและออกฤทธิ์ที่เกียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ใช้สำหรับคนท้อง หรือผู้ที่มีปัญหาด้านระบบการดูดซึม จึงมีความจำเป็นต้องฉีดแทนการรับประทาน แต่มีราคาสูงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์กว่า 10 เท่า โดยสถานการณ์ยสแรมดิซิเวียร์ในขณะนี้ มีเพียงพอ และจะมีการสั่งซื้อเพิ่มอีกหลายหมื่นขวด
สำหรับกรณีการงดจำหน่ายยาแรมดิซิเวียร์ให้กับโรงพยาบาลเอกชน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้วไม่มีการจำหน่ายให้ แต่สามารถเบิกได้ฟรี
@ ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ โดสละ 41,000 บาท
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึง ยาแอนติบอดีแบบผสม หรือ แอนติบอดี ค็อกเทล จัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing Monoclonal Antibodies) มีรายงานวิจัยในต่างประเทศ มีข้อบ่งชี้ในการใช้ในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่มีอาการน้อย แต่ไม่มีข้อรับรองสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีการขึ้นทะเบียนแล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและบางประเทศในยุโรป โดยมีราคาโดสละ 41,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่จะใช้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage