‘วิโรจน์’ จี้ รัฐบาลส่งตัวแทนตรวจศักยภาพ ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ หลังส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเดือน ก.ค. ไม่ครบ 10 ล้านโดส กังขาเอกสารสัญญาให้ทุน 600 ล้านบาท ไม่ระบุส่งมอบไทยก่อน ขัดแย้งหนังสือคณะกรรมการกลั่นกรองขอเงินกู้ไปใช้ ชี้รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจน พร้อมห่วงการส่งยาฟาวิพิราเวียร์ใหผู้ติดเชื้อ เกรงขั้นตอนเยอะอาจจะไม่ทันการ
-------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2564 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงเปิดเอกสารสัญญาให้งบประมาณสนับสนุน 600 ล้านบาท ระหว่างรัฐบาลไทย-สยามไบโอไซเอนซ์ ว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564 จากเว็บไซต์ของสำนักสารนิเทศ สํานักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงยอดรับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และยอดที่ได้รับมาจากแหล่งอื่นๆ โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ค.2564 ได้รับวัคซีนมาแล้วทั้งสิ้น 8,193,500 โดส ในจำนวนนี้นับรวมถึงยอดที่ได้รับบริจาคมาประเทศญี่ปุ่นด้วย ถ้าหากไม่นับรวมยอดบริจาค จะมีวัคซีนโดยประมาณ 7,140,500 โดส
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงข้อจำกัดในเรื่องของการขาดแคลนวัตถุดิบที่อาจจะทำให้สามารถส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทยหรือรัฐบาลไทยได้ประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน โดยสาระสำคัญ มีการระบุว่า ณ วันที่ 24 ก.ค.2564 บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้ส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลไทยไปแล้ว 9 ล้านโดส แต่ในจำนวนนี้มีการตั้งคำถามว่าเป็นยอดที่ได้ผลิตจากสยามไบโอไซต์อย่างเดียว หรือนับรวมยอดบริจาคจากประเทศญี่ปุ่นด้วย
หมายความว่าในวันที่ 24 ก.ค.2564 มีการส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติมอีก จากวันที่ 16 ก.ค.2564 อีก 1,859,500 โดส โดยเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา ทาง แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้ชี้แจงว่าได้ส่งมอบวัคซีนอีก 2.3 ล้านโดสเสร็จสิ้นแล้วในเดือน ก.ค. เท่ากับว่ารัฐบาลไทยหรือกระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ทั้งสิ้น 5,810,600 โดส แต่ถ้าในจำนวนนี้ นับรวมวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 1 ล้านโดส เท่ากับว่าได้รับวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ที่ส่งต่อมาจากทางแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จะอยู่ที่ 4,757,600 โดส อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่ายอดการส่งมอบวัคซีนในเดือน ก.ค.ไม่ถึง 10 ล้านโดส โดยเป็นการประเมินจากข่าวที่ออกมา เนื่องจากในปัจจุบันระบบติดตามการตรวจสอบย้อนหลัง ที่พัฒนาโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ปิดไม่ให้ประชาชนเข้าไปติดตามตรวจสอบข้อมูลการส่งมอบวัคซีน
นายวิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ส.ค. โฆษกรัฐบาลได้ชี้แจงผ่านรายงาน แจงให้เคลียร์ ว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นเพียงบริษัทที่รับจ้างผลิตวัคซีนให้กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย เท่านั้น รัฐบาลไม่มีอำนาจบังคับให้มีการส่งมอบวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนฯ ให้กับประชาชนคนไทยก่อนได้ โดยประเด็นที่สำคัญ คือในสัญญาจองรับสิทธิ์วัคซีนล่วงหน้า 26 ล้านโดส ในภาคผนวก ส่วนของวัตถุประสงค์ จะปรากฏชื่อของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ ในสัญญาฉบับนี้ชัดเจน ระบุอยู่ในส่วนที่เรียกว่าวัตถุประสงค์โดยเฉพาะเจาะจงในข้อที่ 1 เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในด้านความสามารถ และกำลังการผลิตวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ฯ หมายความว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ เป็นเงื่อนไขและข้อผูกพันที่อยู่ในสัญญาที่ทำระหว่างกระทรวงสาธารณสุขรัฐบาลไทยกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ดังนั้น ยืนยันได้ว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯไม่ได้เป็นอิสระจากสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยและแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2563 หนังสือ นร.106/คนกง. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2563 ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการอุดหนุนเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิดไวรัล เวกเตอร์ให้กับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ โดยหนังสือฉบับดังกล่าวมีเนื้อความที่เป็นเงื่อนไขในการอุดหนุนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ อย่างชัดเจน โดยในตอนหนึ่งระบุว่า "เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิ์ในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการและมีเงื่อนไขที่จะจำกัดการส่งออกได้" และเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2563 ได้มีมติ ครม.อุดหนุนวงเงินดังกล่าวนี้ เพื่ออุดหนุนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ จึงเป็นคำถามว่า ทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่สามารถจำกัดสิทธิการส่งออกและขอใช้สิทธิ์ในการซื้อ ตามเงื่อนไขที่ได้อุดหนุนเงิน 600 ล้านบาทได้ และสัญญารับทุนอุดหนุน โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการฝึกวัคซีนโควิดที่มีการลงนามในวันที่ 18 ธ.ค. 2563 นั้นลงนามได้อย่างไร ถ้าไม่มีเงื่อนไขมดังกล่าว เพราะการอนุมัตินั้น มติ ครม.อนุมัติภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว
นาววิโรจน์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ พรรคก้าวไกลมีการเปิด สัญญารับเงินอุดหนุน โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการผลิตวัคซีนโควิดให้กับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ โดยเนื้อความในสัญญาไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ระบุว่าวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ จะต้องส่งมอบให้กับประเทศไทยก่อน หรือต้องส่งมอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งตัวเลขให้ได้รับสิทธิ์ในการสั่งซื้อเป็นอันดับแรกก่อน แต่ข้อความดังกล่าวก็อาจจะอยู่ในสัญญาในส่วนของถมดำ หรือเอกสารแนบก็ได้ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องชี้แจงว่ามีข้อความนี้คือ เงื่อนไขจำกัดการส่งออก การสั่งซื้อเป็นอันดับแรกตามความต้องการก่อนหรือไม่ ถ้าไม่มีเงินอุดหนุน 600 ล้านบาท อนุมัติอุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ ได้อย่างไร ใครตั้งเงื่อนไข เนื่องจากขณะนี้ ประชาชนมีความกังวลลในเรื่องวัคซีน ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า และประชาชนต้องการวัคซีนที่มีคุณภาพ
ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะสงสัยกำลังการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้น ยังคงมีความสมบูรณ์อยู่หรือไม่ มีปัญหาหรือไม่ โดยในสัญญารับทุนอุดหนุนในข้อที่ 8.6 ได้ระบุสัญญาไว้ชัดเจนว่า "ผู้รับคุณยินยอมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้ทุนหรือผู้ที่ให้คุณมอบหมายเข้าไปในสถานที่ทำการของผู้รับทุนหรือสถานที่ดำเนินการโครงการได้ในเวลาอันควรเพื่อประโยชน์ในการติดตามและประเมินผลงานตามโครงการได้ภายใต้สัญญาอุดหนุนได้"
"ท่ามกลางความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ ว่าทำไมถึงส่งมอบได้ไม่ครบ 10 ล้านโดสต่อเดือน มีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างไร มีปัญหาการผลิตหรือไม่ ความโปร่งใสจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด พรคคก้าวไกลจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยสัญญาข้อ 8.6 ให้ตัวแทนของภาคประชาชน เข้าไปติดตามตรวจสอบการผลิตของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ หลังจากได้เงินอุดหนุน 600 ล้านบาท" นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อด้วยว่า นอกจากนี้ ระหว่างที่รอวัคซีนคุณภาพสูงในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์จะมาถึง เปรียบเสมือนรอทัพหลวงมาถึง แต่ทัพหน้าคือประชาชนที่กำลังต่อสู้กับโรคระบาดจะต้องไม่เเตกไปก่อน หมายความว่าขณะนี้ประชาชนที่ติดเชื้อจะต้องเข้าถึงยาต้านไวรัสได้อย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้น ภายในระยะเวลา 4 วัน ตั้งเเต่เริ่มมีอาการ โดยรัฐบาลจะต้องหามาตรการในการลดขั้นตอนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาฟาร์วิพิราเวียอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเสี่ยง อาทิ บุคคลอายุ 60 ปีขึ้นไป บุคคลที่มีน้ำหนักตัวสูง และโรคประจำตัว 7 โรคร้ายแรง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องทบทวนจากการที่เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า จะให้ตรวจ ATK และพักดูระยะ 7 วัน ค่อยตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้ง ถ้าพบว่าผลเป็นบวกจึงให้ยืนยันด้วยการ Swob หรือ RT- PCR ซึ่งถ้าล่าช้าแบบนั้นเกรงว่าไวรัสจะลงปอดและอยู่ในภาวะปอดอักเสบจนเสียชีวิตไปก่อนได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage