สธ.เผยล็อกดาวน์รอบก่อนผู้ป่วยเดินทางจาก กทม.กลับภูมิลำเนาประมาณ 50,000 ราย ขอทุกคนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการเต็มที่ คาดช่วยลดจำนวนผู้ป่วย-เสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก ขณะที่สถิติฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศทำได้เพียง 23% ส.ค.นี้เตรียมกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น เน้นกลุ่มเสี่ยงตามเดิม
--------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยหายป่วยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยยังมีมากกว่าจำนวนผู้ที่หายป่วย ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ได้รับรายงานในสถานการณ์จริง กับตัวเลขคาดการณ์จากโมเดล พบว่า มาตรการล็อกดาวน์ในสถานการณ์จริงมีประสิทธิภาพต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตประมาณ 20% แต่ถ้าหากเพิ่มขึ้นอีกสัก 5% ประกอบกับการฉีดวัคซีนผู้สุงอายุ จะทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงค่อนข้างมาก ดังนั้นประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น 5% จะมีผลค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ที่เพิ่มมากขึ้นนั้นจะช่วยทำให้การติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตลดลง โดยจำเป็นต้องล็อกดาวน์เพิ่มอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดกิจกรรมและลดการเคลื่อนที่ จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน หากเราทำได้ สถานการณ์ของไทยจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เราตั้งเป้าหมายให้ทุกเรื่องสงบภายใน 2-4 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน กทม. ส่วนต่างจังหวัดอาจจะต้องใช้เวลาหลังจากนั้น ทั้งนี้หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งที่ผ่านมา หรือประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ พบว่ามีผู้ป่วยใน กทม.ออกไปอยู่ต่างจังหวัดประมาณ 50,000 ราย ทำให้ต่างจังหวัดมีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และต้องใช้เวลาในการควบคุม เราคาดว่าเรื่องการติดเชื้อจะค่อยๆทรงตัวและลดลงไปภายใน 2-4 สัปดาห์
“เรื่องการล็อกดาวน์ครั้งนี้ขออย่าให้เสียเปล่า เรามีประสิทธิภาพแค่ 20% เราต้องการเพิ่มอีก 5% จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกท่าน รวมถึงภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อยากให้ทำงานที่บ้านให้มาก เพื่อลดการเคลื่อนไหว ไม่รวมกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกัน ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง รักษาระยะห่าง ล้างมือ จะเป็นมาตรการที่ทำให้ล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ ขอให้เพิ่มขึ้นอีกสัก 5% แน่นอนว่า กทม.และปริมณฑล จะเป็นจังหวัดแรกๆที่สถานการณ์ต่างๆดีขึ้น จากนั้นจึงจะเป็นต่างจังหวัด ขอความร่วมมือกับประชาชนในการร่วมมือเพื่อให้ประเทศของเราอยู่รอดปลอดภัยเพื่อพวกเราทุกคน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนในเดือน ส.ค. ว่า ตั้งแต่ 7 มิ.ย.เป็นต้นมา กลุ่มที่ได้รับวัคซีนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล อย่างไรก็ตามตอนนี้มีหลายพื้นที่กำลังเร่งรัดการฉีดวัคซีน ขณะนี้กลุ่มผู้สุงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 23% หรือ 2,897,520 ราย จากจำนวนเป้าหมาย 12,500,000 คน และมีคนได้รับการฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 175,141 รายหรือ 1.4% ซึ่งถือว่าน้อยกว่ากลุ่มอื่นเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากที่ต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีน
อย่างไรก็ตามในช่วง มิ.ย.-ก.ค. ผู้สูงอายุใน กทม.ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถือว่าอยู่ในช่วงของการไล่ฉีดเข็มที่ 2 ด้วย ส่วนในต่างจังหวัด ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรวัคซีน โดยอาศัยคำแนะนำจากคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มองเห็นว่าต้องป้องกันผู้สูงอายุในต่างจังหวัดที่เริ่มมีโอกาสเสี่ยงพบการติดเชื้อในพื้นที่ โดยจะมีการจัดสรรเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ส.ค.เป็นต้นไป
“ทำให้เดือน ส.ค.จะกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยวัคซีนที่ได้มาในเดือนนี้มีความคล่องตัว มีจำนวนมากขึ้นกว่าเดือน ก.ค. มีจำนวน 10 ล้านโดสขึ้นไป ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า โดยการจัดสรรวัคซีนจะถูกส่งไปในพื้นที่เป้าหมาย 1-2 ล้านโดสต่อสัปดาห์ ประกอบด้วย วัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งทุกกลุ่มอายุสามารถฉีดซิโนแวคเข็มแรก และฉีดแอสตร้าเซนเนก้าในช่วง 3 สัปดาห์ต่อมา ส่วนพื้นที่ที่มีความสำคัญในแง่การป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุเพราะมีการระบาดในพื้นที่มีดังนี้
นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุไปแล้ว 20-40% ในเดือน ส.ค.จะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น
ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ มีการระบาดเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ที่มีการฉีดวัคซีนต่ำอยู่ เพราะได้รับการจัดสรรในจำนวนที่น้อยกว่า แต่เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดการจัดสรรก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะมีการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยใช้เวลา 1-2 เดือน
ส่วน กทม.ยังฉีดวัคซีนต่อในเดือน ส.ค. แต่จะได้รับจัดสรรน้อยลงเฉลี่ยประมาณล้านกว่าโดส
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage