สธ.ยืนยันจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ครอบคลุมบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขทุกกลุ่ม รวมนักศึกษา อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่กู้ภัยเก็บศพ ยกเว้นผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 - 3
.......................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2564 กระทรวงสาธารณสุขจัดแถลงข่าวสถานการณ์โควิด ประเด็นการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีที่กระแสในโซเชียงมีเดียมีการพูดถึงเรื่องการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่าบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโควิดโดยตรงอื่นๆ จะได้รับด้วยไหม ขอยืนยันว่าการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์รอบนี้นั้นครอบคลุมทั้งบุคลากรแพทย์ด่านหน้าและผู้ปฏิบัติงานทุกระดับที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโควิดโดยตรง รวมถึงสาธารณสุขผู้มีความเสี่ยงทุกคน เช่น อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่กู้ภัยเก็บศพ
โดยวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสนั้น จะแจกจ่ายให้ 4 กลุ่ม ดังนี้
1. บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จำนวน 700,000 โดส
2. กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และเด็กอายุ12 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย กทม., ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, นครปฐม, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 และคนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น โดยจะมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศจัดทำบัญชีรายชื่อให้ สธ. แล้วสธ.จะนำไปแจ้งหน่วยบริการฉีดให้กลุ่มเป้าหมายต่อไป จำรวน 150,000 โดส
4. สำรองไว้เพื่อการควบคุมการระบาดสายพันธ์เดลต้า ซึ่งอาจใช้วัคซีนตัวอื่นได้ยาก จำนวน 3,450 โดส
"ทางกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วง และได้จัดลำดับจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงในระยะนี้ ถ้ามีวัคซีนเข้ามาเพิ่มแต่อย่างใด จะจัดสรรเพิ่มต่อไป" นพ.สุระ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า วันนี้ได้มีพิธีรับส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์อย่างเป็นทางการ จำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการที่สถานฑูตสหรัฐอเมริกาแถลง จึงขอยืนยันตัวเลขตามนี้
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเมื่อวานนี้ และได้ออกคำแนะนำการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ว่า กลุ่มเป้าหมายจะต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคน รวมถึงนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงาน เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ แผนกผู้ป่วยวิกฤต ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลสนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ในสถานกักกัน หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ตามการพิจารณาของสถานพยาบาลและหน่วยงานต้นสังกัด
ทั้งนี้กลุ่มอื่นๆ จะเป็นไปตามการพิจารณาของสถานพยาบาลต้นสังกัด
โดยมีหลักการให้วัคซีน ดังนี้
1. บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์กระตุ้น 1 เข็ม
2. บุคลากรที่ได้รับวัคซีนใดๆ มาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก
3. บุคลากรที่ไม่เคยได้รับวัคซีนใดๆ มาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
4. บุคลากรที่เคยติดเชื้อโควิดและไม่เคยได้รับวัคซีน พิจารณาให้รับวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน
นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา พิจารณาอีกว่าขณะนี้ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้นสำหรับบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยได้รับ ดังนี้
1. วัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2
2. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
3. วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม
โดยให้เหตุผลว่าที่ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวยังมีภูมิคุ้มกันในระดับสูงเพียงพอ รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อบุคลากรกลุ่มนี้ไว้ จะมีการพิจารณาข้อมูลวิชาการ และดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์ตามข้อมูลวิชาการและจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มในระยะต่อไป
ส่วนที่มีข่าวว่า มีการฉีดให้กลุ่มวีไอพีนั้น นพ.โอภาส กล่าวชี้แจงว่า หลังจากที่วัคซีนเดินทางมาถึง ขณะนี้ยังจัดเก็บไว้ที่คลังสินค้าของบริษัท ซิลลิก เนื่องจากต้องควบคุมอุณหภูมิ ขอยืนยันว่า ไม่ใช่วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขในล็อตนี้
ขณะที่ นพ.อิทธิพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวด้วยว่า บุคลากรด่านหน้าได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นส่วนใหญ่ โดยจะครอบคลุมขอบคุณบุคลากรด่านหน้าทุกระดับ ด้วยเหตุที่เชื้อไวรัสมีการปรับเปลี่ยนตลอด ทำให้ชุดความรู้ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การตัดสินใจของคณะกรรมการนั้น ตั้งอยู่ในหลักฐานความเป็นวิชาการ ซึ่งจะกระทำด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ 200 คน ที่ลงทะเบียนขอรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 3 สามารถลงทะเบียนเปลี่ยนไปรับวัคซีนไฟเซอร์ได้
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้เราได้ตัวเลขจำนวนบุคลากรแพทย์ของแต่ละแห่งมาส่วนใหญ่แล้ว ซึ่งวัคซีนจะเริ่มทยอยออกไปตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. โดยวัคซีนไฟเซอร์อาจจะไม่ได้จัดส่งให้ทุกโรงพยาบาลโดยทันที เนื่องจากกระบวนการจัดส่ง จะถูกส่งเป็นถาด ถาดละ 1,170 โดส และถูกส่งไปในภาวะที่ต้องรักษาอุณหภูมิแช่แข็งติดลบ พอไปถึงก็จะนำเข้าตู้เย็น ดังนั้นโรงพยาบาลใหญ่ๆ เช่น โรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลอำเภอใหญ่ ก็จะมีวัคซีนไว้ เวลาให้บริการ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีขวดจำนวน 6 โดส เมื่อเปิดใช้ต้องใช้ให้คุ้มค่าให้รครบ 6 คน ดังนั้นจะมีการกำหนดจุดที่จะมีการให้บริการให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดการสูญเสีย
นอกจากนั้นในที่ประชุมคณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์มีข้อเสนอว่าให้โรงพยาบาลทุกแห่ง แสดงหรือประกาศจำนวนบุคลากรแพทย์ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ต่อสาธารณชน เพื่อความโปร่งใส ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วย จะสามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าบุคลากรด่านหน้าจะได้รับการฉีดวัคซีนครบเพื่อสร้างขวัญกำลังใจต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/