ศาล ปค.ไม่รับฟ้อง! คดี 2 รร.ภูเก็ตขอให้ สธ.-นายกฯ-จังหวัดฯ ชดเชยค่าเสียหาย หลังประกาศใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สั่งปิดโรงแรม เพราะโควิด-19 ระบาด ชี้เป็นอำนาจในการบริหาร ไม่ใช่เรื่องทางปกครอง
......................................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ศาลปกครองภูเก็ต มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 73/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 64/2564 คดีที่บริษัท กมลา บีชอินน์ จำกัด และบริษัท กัมพลธุรกิจ จำกัด เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1-2 มีกระทรวงสาธารณสุข นายกรัฐมนตรี จังหวัดภูเก็ต และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4
โดยคดีนี้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และเมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 ราย
โดยรายละเอียดคดีนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 ศาลปกครองภูเก็ต อ่านคำพิพากษาสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ประกอบกิจการโรงแรมชื่อ โรงแรมภูเก็ตทาวน์อินน์ ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้รับใบอนุญาตประกอบโรงแรมชื่อ โรงแรมกะรนวิว รีสอร์ท ตั้งอยู่ที่ จ.ภูเก็ต โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 ได้รับความเดือดร้อนจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 เนื่องจาก กระทรวงสาธารณสุข ใช้อำนาจตามมาตรา 5 และ 6 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ต่อมานายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค และปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ส่วนจังหวัดภูเก็ต ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยปิดโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ยกเว้นโรงแรมที่ราชการใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม ทำให้ธุรกิจโรงแรมของผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 ได้รับความเสียหาย โดยคำสั่งปิดมีผลทันทีช่วงเดือน เม.ย. 2563 ทำให้โรงแรมภูเก็ตทาวน์อินน์ ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 150 ล้านบาท โรงแรมกะรนวิว รีสอร์ท ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 50 ล้านบาท และโรงแรมกมลาบีชอินน์ ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 70 ล้านบาท จากการขาดกำไรในการดำเนินธุรกิจเฉลี่ย 36-48 ล้านบาท และถูกบริษัททัวร์ต่างประเทศเรียกร้องให้จ่ายเงินยกเลิกการจองทั้งหมด รวมทั้งถูกสถาบันการเงินฟ้องเรียกเงินกู้
จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ร่วมกันจ่ายค่าเสียหายและค่าความรับผิดจากการทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่น เป็นเงิน 48 ล้านบาท ให้ชดเชยความเสียหายเป็นเงิน 36 ล้านบาท ให้ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินโดยให้กู้ยืมในระยะยาวไม่น้อยกว่า 10 ปี ดอกเบี้ยต่ำในวงเงิน 3 เท่าของความเสียหาย หรือค่าชดเชยหรือในวงเงิน 108-144 ล้านบาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 หรือกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายจากมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4
ศาลปกครองภูเก็ต วินิจฉัยกรณีมีประเด็นว่าคำฟ้องนี้เป็นคำฟ้องที่ศาลรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 197 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 9 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณา … (3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐฯ ส่วนมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บัญญัติว่า กรณีมีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็วให้นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด … (5) ห้ามใช้อาคารหรือเข้าไปอยู่ในสถานที่ใด ๆ มาตรา 16 บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดตาม พ.ร.ก.นี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาทางปกครอง
จากบทบัญญัติและข้อกำหนดข้างต้น เห็นได้ว่า มาตรา 197 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติจำกัดอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองไว้ โดยคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองบางประเภทที่มีกฎหมายบัญญัติจำกัดอำนาจศาลปกครองไว้โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 ฟ้องว่า คำสั่งของจังหวัดภูเก็ต ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาชดใช้ค่าเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.ก.จัดตั้งศาลปกครองฯ
อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เมื่อ 25 มี.ค. 2563 อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 จึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา 197 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 16 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และเมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของผู้ฟ้องคดีทั้ง 2
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage