นายกฯถกร่วม รพ.เอกชน วางแผนบริหารเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด หลัง 18 จาก 21 แห่ง เตียงเต็ม 100% ด้านผู้บริหาร รพ.หวั่นเพิ่มเตียงอย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ รัฐบาลย้ำเร่งนำเข้าวัคซีนตามข้อเสนอที่ประชุม ชี้ชีวิตคนไทยต้องได้รับการดูแล ก่อนพูดว่าผมรักทุกคน
...........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด และการเตรียมความพร้อมของหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือ Hospitel และโรงพยาบาลเอกชน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 21 แห่ง ผ่านโปรมแกรม Zoom จากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หรือ ร.1 ทม.รอ. ซึ่งเป็นอีกวันที่นายกรัฐมนตรีปฏิบัติตามมาตรการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและทีมแพทย์สาธารณสุข เข้าร่วมประชุมกับ ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน
โดยที่ประชุมรับทราบรายงานการครองเตียงของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชน 21 แห่ง ทั้งในส่วนหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) และ โรงพยาบาลสนาม พบว่า 21 แห่ง มีเตียงรวม 34,560 เตียง มีการครองเตียงไปแล้ว 32,215 เตียง เหลือเตียงว่าง จำนวน 2,345 เตียง โดยในจำนวนนี้ มีโรงพยาบาลเอกชน 18 แห่ง ที่การครองเตียงเต็ม 100% อาทิ โรงพยาบาลธนบุรี 1,300 เตียง โรงพยาบาลสนาม 600 เตียง โรงพยาบาลวิภาราม มีจำนวนเตียง 600 เตียง โรงพยาบาลวิชัยเวท 1,500 เตียง โรงพยาบาลกรุงเทพ 71 เตียง โรงพยาบาลปิยะเวท 3,000 เตียง โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 2,200 เตียง โรงพยาบาลลาดพร้าว 700 เตียง
ส่วนโรงพยาบาล 3 แห่งที่ยังมีเตียงว่างอยู่ ประกอบด้วย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ มีจำนวนเตียง 11,141 เตียง ใช้งาน 9,221 เตียง เหลือ 1,920 เตียง โรงพยาบาลสนามในสังกัด 508 เตียง ใช้งานครบ 100% โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ มีจำนวนเตียง 100 เตียง ใช้งาน 90 เตียง เหลือ 10 เตียง ส่วนโรงพยาบาลสนามในสังกัด มี 215 เตียง ใช้งานแล้ว 200 เตียง เหลือ 15 เตียง และโรงพยาบาลจุฬารัตน์พร้อมในเครือ คงเหลือ 400 เตียงจากจำนวนเตียงทั้งหมด 4,000 เตียง
ทั้งนี้ ในที่ประชุม เจ้าของและตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนได้นำเสนอปัญหา และแนวทางการรับผู้ป่วย การรักษา และการลดการติดเชื้อ ซึ่งต่างยอมรับว่า ต้องเพิ่มเตียงสีเหลืองและแดง ห้องความดันลบ และต่างนำเสนอปัญหาที่คล้ายกันคือ capacity การรองรับผู้ป่วย นอกจากนี้ที่ประชุมมีข้อกังวลว่าแม้จะขยายเตียงมากเท่าไร แต่จะรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอหรือไม่ หากการควบคุมการระบาดยังไม่เป็นผล โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีนที่เป็นหัวใจสำคัญ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า รัฐบาลเร่งรัดสนับสนุนการนำเข้า จัดหาวัคซีนทั้งของรัฐและเอกชน โดยวัคซีนหลักของรัฐบาลคือ วัคซีนซิโนแวค วัคซีนแอสตราเซเนกา วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และกำลังดำเนินการด้านเอกสารของ วัคซีนสปุตนิกวี ส่วนวัคซีนทางเลือกที่เอกชนซื้อผ่านราชวิทยาลัย เช่น วัคซีนซิโนฟาร์มที่มีเข้ามาแล้ว และวัคซีนโมเดอร์นาที่จะเข้ามาอีกในไตรมาส 4 ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับบริษัทต้นทาง แต่รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเต็มที่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า ชีวิตประชาชนคนไทย ต้องได้รับการดูแล ส่วนข้อกฏหมายที่ติดขัดจะแก้ไข และมีให้แพทย์การบริหารจัดการโรคทำงานได้ รวมทั้งชุด Antigen test Kit (ATK) ที่จะมีการแจกจ่ายไปตรวจ และเมื่อตรวจแล้วจะดำเนินการต่ออย่างไรต้องให้ชัดเจน นอกจากนี้ขอร่วมมือกันและพูดคุยกัน เพื่อไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชน ทุกภาคส่วนต้องทำงานในเชิงรุก และเชิงรับ เชิงรุก เช่น การขยายเตียง เชิงรับ เช่น การตรวจสอบคัดกรอง ต้องมีการบูรณาการงานร่วมกัน
"สำหรับวัคซีนทางเลือกของเอกชน พร้อมจะเร่ง และสนับสนุนให้มีการนำเข้า รวมทั้งชุด ATK ที่จะมีการแจกจ่ายไปตรวจ แต่ตรวจแล้วจะดำเนินการต่ออย่างไร ต้องให้ชัดเจน และขอย้ำว่าวัคซีนที่มีอยู่จะทำการแจกจ่ายให้ทั่วถึงตามสัดส่วนประชากรและการระบาดของโรค ขอร่วมมือกัน พูดคุยกัน เพื่อไม่สร้างความสับสนให้ประชาชน ผมรักทุกคนนะครับ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญในการประชุมดังกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สปสช. เข้ามาดูแลกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดความยืดหยุ่น เพื่อให้ความมั่นใจกับบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยและเพื่อประโยชน์ในการดูแลคนไข้ให้มากที่สุด
พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลและ ศบค.ทำงานแบบบูรณาการ เนื่องจากวันนี้ประเทศกำลังอยู่ในภาวะสงครามโรค โดยมีความพยายามลดจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตให้มากที่สุด ซึ่งได้จัดเตรียมงบประมาณ จาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านไว้รองรับแล้ว นอกจากนี้ยังมีเตรียมพร้อมจัดหาเวชภัณฑ์ไห้เพียงพอ ทั้งยาฟาวิฟิราเวียร์ ตอนนี้ไทยสามารถผลิตได้ 200,000 เม็ด เดือนหน้าผลิตได้ 3,000,000 เม็ด ที่เหลือจะนำเข้าจนครบ 60,000,000 เม็ดในเดือน ก.ย.2564
ทั้งนี้ยังได้สั่งการกระทรวงกลาโหม และกองทัพ เข้ามาช่วยดูแลประชาชน บูรณาการทุกภาคส่วน จัดระบบแพทย์ พยาบาล โดยนำนักเรียนแพทย์ชั้นปีสุดท้ายเข้ามาช่วยดูแล เพิ่มขีดความสามารถทางการแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด รวมทั้งจัดชุดเดินตรวจในชุมชนต่างๆ และมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพยายามสร้างสังคมที่ดูแลกันเป็นพื้นที่สีฟ้า ที่เพื่อนบ้านใส่ใจดูแลซึ่งกันและกัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage