สธ.เปลี่ยนแปลงข้อสั่งการ ปรับถ้อยคำให้ผู้ที่ใช้ชุดตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ถูกรายงานเป็น 'ผู้ป่วยเข้าข่าย' หรือ probable case ก่อนรอตรวจ RT-PCR เพื่อเป็นผู้ป่วยยืนยัน รองปลัด สธ.ย้ำ ไม่มีปกปิดตัวเลขคนติดโควิด - ใช้ ATK ตรวจเชิงรุก ทำให้ผู้ป่วยมีตัวเลขเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง - ผลเป็นบวกเข้าระบบการรักษาได้ทันที
-------------------------------------------------------
จากกรณีที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือที่ สธ. 0211.021/15965 ลงวันที่ 23 ก.ค. เรื่องสรุปการประชุมทางไกล (Web Conference) และข้อสั่งการ โดยเอกสารตอนหนึ่งระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง ได้มีข้อสั่งการ ข้อ 5 ให้ยกเลิกการทำ Active Case Finding (ACF) โดยการทำ RT-PCR และให้ใช้ Antigen Test Kits (ATK) แทนในการคัดกรองเบื้องต้น โดยกรณีที่ผู้ป่วยที่พบผลบวกจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยเข้าข่าย หรือ probable case ซึ่งยังไม่นับเป็นกลุ่มผู้ป่วย ไม่ต้องรายงานในระบบการรายงานโรคติดเชื้อโควิดนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2564 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เนื่องจากข้อความในเอกสารทำให้เกิดการเข้าใจผิด วานนี้จึงได้ลงนามในหนังสืออีกฉบับ เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อสั่งการดังกล่าว โดยให้ยกเลิกข้อสั่งการเก่า และเพิ่มเติมข้อความใหม่ ดังนี้
ข้อ 5 การดำเนินการ Active Case Finding (ACF) ให้ดำเนินการดังนี้
5.1 ปรับให้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) เข้ามาใช้เสริมหรือแทน RT-PCR ในกรณีที่มีข้อจำกัด
5.2 กรณี Antigen Test Kit (ATK) ให้ผลบวก ให้รายงานเป็นผู้ป่วยเข้าข่าย หรือ probable case ตามระบบรายงานที่กำหนด และหากเคสดังกล่าวได้รับการยืนยันด้วย RT-PCR ให้รายงานเป็นผู้ป่วยยืนยัน หรือ confirmed case ต่อไป
นพ.ธงชัย เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของข้อสั่งการฉบับนี้ ต้องการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษาได้เร็วขึ้น จากเดิมที่สถานพยาบาลต้องรอยืนยันจากผลตรวจ RT-PCR เพียงอย่างเดียว ซึ่งบางครั้งใช้เวลานานหลายวัน ทำให้ผู้ป่วยหลายเคสจากเดิมอยู่ในเกณฑ์สีเขียว เปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือแดงและเข้าถึงระบบการรักษาได้ช้า
“เราต้องเอาชีวิตคนไข้เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาผลแลปเป็นตัวตั้ง จึงได้ออกคำสั่งฉบับนี้ ดังนั้นวิธีตรวจหาเชื้อที่เร็วที่สุดคือ ATK ไม่เกิน 30 นาทีจะรู้ผล แม้ว่ามันจะมีผลบวกลวง หรือ False Positive อยู่ประมาณ 3-5% แต่มันจะทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบการรักษาและรู้ตัวว่าตัวเองติดโควิดได้เร็วขึ้น อย่างน้อยกลุ่มผู้ป่วยอาการน้อยหรือสีเขียว ก็เข้าสู่การกักตัวที่บ้านหรือ Home Isolation ได้เร็วขึ้น” นพ.ธงชัย กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ข้อสั่งการดังกล่าวเป็นการปกปิดตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริงหรือไม่นั้น นพ.ธงชัย กล่าวยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่มีการปกปิดอย่างแน่นอน แต่การตรวจด้วย ATK ยังมีผลบวกลวงอยู่ ทำให้บางเคสต้องยืนยันผลตรวจการด้วย RT-PCR เราจึงได้จัดให้ผู้ป่วยที่ตรวจด้วย ATK แล้วผลเป็นบวก อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยเข้าข่าย หรือ probable case ก่อนที่จะมีการตรวจด้วย RT-PCR แล้วจึงจะเป็นผู้ป่วยยืนยัน หรือ confirmed case โดยข้อมูลทั้งหมดมีการรายงานให้กับกรมควบคุมโรครับทราบทุกวัน ทั้งนี้ยืนยันว่า จนถึงปัจจุบันตัวเลขในกลุ่ม ผู้ป่วยเข้าข่าย หรือ probable case ไม่ได้มีเยอะมากเหมือนที่หลายคนเข้าใจ เพราะเราเพิ่งเริ่มจัดระบบนี้ได้ไม่นาน แต่การตรวจด้วย ATK เราทำมาสักระยะหนึ่งแล้ว และส่วนใหญ่ถูกระบุเป็นผู้ป่วยยืนยันไปแล้วด้วย
“เราจะเห็นว่าในช่วงหลายวันที่ผ่านมา การรายงานตัวเลขผู้ป่วยยืนยันของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) มีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK ซึ่งกรองกลุ่มเสี่ยงที่มีผลเป็นลบออกไปได้เร็ว ทำให้การตรวจด้วย RT-PCR ยืนยันผลการติดเชื้อสำหรับผู้ที่มีผลเป็นบวกได้เร็วขึ้น” นพ.ธงชัย กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage