แฉขบวนการทุจริตขายคิวฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ หัวละ 500-1,000 บาท ผอ.ศูนย์ฯ พบคนลงทะเบียนล่วงหน้า 2,000 ราย ทั้งที่มีนัดฉีดให้ชาวต่างชาติจากกระทรวงการต่างประเทศเพียง 300 ราย เผยมีคนช่วยจองสิทธิ์ 19 บัญชี ขณะที่ 'ทรู' ส่งเจ้าหน้าที่แจ้งตำรวจดำเนินคดีแล้ว
--------------------------------------------------
เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2564 พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อได้ตรวจสอบการทุจริตการจองคิวล่วงหน้า เพื่อขอรับการฉีดวัคซีนโควิด โดยมีผู้เดินทางเข้ามารับการฉีดมีจำนวนมากกว่าคิวที่ถูกจัดสรรไว้ก่อนหน้านี้
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า ในแต่ละวันที่ผ่านมานั้นการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อนั้นมีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนมากกว่า 15,000 คน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากลับพบความผิดปกติก็คือว่าหลังจากที่รัฐบาลได้มีการออกมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้วทางศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อก็ไม่ได้รับนัดจากหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลเข้ามาอีกเลย รับแต่ผู้เข้ามาวอล์กอินฉีดวัคซีนผู้สูงอายุเท่านั้น และ ณ เวลานี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อจะมีการนัดล่วงหน้าเพื่อฉีดวัคซีนให้กับกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งได้ขอนัดล่วงหน้าการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติที่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยชาวต่างชาติที่ว่านั้นได้ลงทะเบียนกับกระทรวงต่างประเทศเอาไว้ ซึ่งได้มีการส่งไฟล์รายชื่อมาให้กับศูนย์ฉีดวัคซีนฯ พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 300-500 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อศูนย์ฉีดวัคซีนฯได้มีการตรวจสอบข้อมูลก็พบว่ามีการส่งไฟล์เข้ามาตรงนี้มากกว่าปกติ
"สมมติว่าเราโหลดข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศว่าเป็น 300 คน แต่มันปรากฎว่านัดเป็น 400 คน ซึ่งเราก็ต้องจับตามองว่าการนัดล่วงหน้าเป็นอย่างไร พบว่าวันที่ 28 ก.ค.มีตัวเลขมากกว่าที่เราอัพโหลดข้อมูลไว้ 2,000 กว่าคน โดยผู้คนทะเบียน มีบัญชีผู้ใช้งานประมาณสิบกว่าบัญชีที่ช่วยกันคีย์ลงทะเบียนผู้ที่มาฉีดวัคซีน และบัญชีทั้งหมดก็ไม่ใช่คนของศูนย์ฉีดฯเลยแต่ว่าเป็นอาสาสมัครทั้งหมด" พญ.มิ่งขวัญ กล่าว
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมานั้นศูนย์ฉีดวัคซีนฯ จะมีการส่งข้อมูลผู้มาฉีดวัคซีนประมาณ 22.00 น. ถึงจะเคลียร์ข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เปิดให้ฉีดวัคซีนเฉพาะผู้ที่มาวอล์กอินกับกรณีผู้ที่มาจากกระทรวงการต่างประเทศ ทางศูนย์ก็จะสามารถเคลียร์ตัวเลขได้เสร็จก่อนเวลา 18.00 น. แต่ปรากฎว่าในกรณีของผู้ที่นัดรับวัคซีนล่วงหน้าที่เขาจะต้องได้รับข้อความยืนยันกลับมีจำนวนมากถึง 2,000 กว่าคน ทั้งๆที่ทางศูนย์ฉีดวัคซีนฯ เปิดรับแค่การนัดหมายล่วงหน้ากับผู้ที่มาจากกระทรวงการต่างประเทศมีเพียง 300 กว่าคน ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นข้อพิรุธมาได้เป็นสัปดาห์แล้ว และที่ยิ่งมีพิรุธมากขึ้นก็คือยังคงมีการอัพโหลดจำนวนตัวเลขผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนถึงเวลา 22.00 น.อยู่ ทั้งๆที่น่าจะเคลียร์ตัวเลขได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น.แล้ว
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า พอเรามีความสงสัย เราก็เริ่มตรวจสอบว่าบัญชีผู้ใช้งานระบบที่ศูนย์ฉีดคนไหนบางที่จะอัพโหลดข้อมูลขึ้นระบบมากเกินไป จนพบว่าในวันที่ 28 ก.ค.นั้นมีการอัพโหลดตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนล่วงหน้ามากถึง 2,000 กว่าคน
"เราจับตาดูในวันนี้พบว่ามีตัวเลขผู้นัดฉีดวัคซีนล่วงหน้ามากกว่าปกติ 2,000 คน เมื่อคืนเราได้หารือแล้วว่าจะทำอย่างไรกับความไม่สุจริตนี้ โดยเราจะยกเลิกนัดไปก็ได้ แต่มันก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ใช้สิทธิเท่านั้น แต่เราไม่สามารถจับได้ จึงได้ตัดสินใจว่าปล่อยให้ผู้ที่นัดฉีดวัคซีนเดินทางมาตามปกติ จนผ่านจุดลงทะเบียน และระหว่างรอการฉีดวัคซีน จึงได้สั่งยกเลิกนัดกระทันหัน เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ไปพบเจ้าหน้าที่ จนเราสามารถกันไว้เป็นพยานได้ประมาณ 300 คน" พญ.มิ่งขวัญกล่าว
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า หลังจากได้พยานแล้ว เราได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเขียนบันทึกข้อความว่าได้รับนัดผ่านทางช่องทางไหนบ้าง มีการจ่ายเงินกี่บาท จึงได้ข้อมูลมาพอสมควรว่ามีทั้งจ่ายเงินสด โอนเข้าบัญชี มีเพื่อนนัดให้ก็มี ดังนั้นทางศูนย์ฉีดวัคซีนฯเป็นผู้ได้รับความเสียหายนั้น จึงได้ดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบปากคำอยู่
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวด้วยว่า ความผิดปกติที่จะตรวจสอบต่อไปในกระบวนการสอบสวน พบว่า มี 19 บัญชีผู้ที่ใช้งานในระบบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องตรวจสอบและเรียกตัวมาสอบปากคำต่อไป เบื้องต้นพบว่ามีการจ่ายค่าหัวรายละ 500 – 1,000 บาท
เมื่อถามว่า 19 บัญชีนั้นเป็นบัญชีของพนักงานของค่ายโทรศัพท์แห่งหนึ่งที่ปรากฎเป็นข่าวว่ามาช่วยลงทะเบียนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนฯหรือเป็นของอาสาสมัคร พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า เป็นของอาสาสมัครของทางค่ายโทรศัพท์ค่ายนั้น ที่เราตามรอยได้ว่าเขามีส่วนในการนัดล่วงหน้าผู้ที่จะเข้ามาฉีดวัคซีนซึ่งเกินกว่าจำนวนในระบบจำนวน 2,000 กว่าราย
ด้าน นายพิชิต ธันโยดม ผู้บริหารกลุ่มทรู เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบรายงาน เหตุผิดปกติ เนื่องจากมีผู้แจ้งว่าได้จองผ่านระบบ แต่ไม่มีการนำ QR CODE มาด้วย ทางเจ้าหน้าที่หน้างานทรู จึงตรวจสอบกลับไป และไม่พบข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้กับทรูแต่อย่างใด ทำให้เห็นพิรุธ พบสิ่งผิดสังเกต จึงได้ดำเนินการแจ้งความ และ แจ้งไปที่กรมการแพทย์ เพื่อทำการตรวจสอบอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้การส่งรายชื่อผู้ที่จองผ่านค่ายมือถือนั้นเป็นระบบปิด ที่ต้องส่งรายชื่อผ่านทางอีเมลล์ เพื่อให้ส่วนกลางคือกรมการแพทย์ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและลงทะเบียนในระบบของกรมการแพทย์แต่ละวันเพื่อความโปร่งใส นอกจากนี้ ขณะนี้บริษัท ยังได้ดำเนินการแจ้งความกรณีดังกล่าวแล้ว เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage