สธ.ยันผลบวก ATK เข้ารักษาที่บ้านได้ทันที ไม่ต้องตรวจซ้ำ! ส่วนผู้ที่เข้าศูนย์พักคอยจะต้องมีการแยกกักตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างการรอผลตรวจ RT-PCR เร่งเปรับฮอสพิเทล รับกลุ่มสีเหลือง เผยติดปัญหาเครื่องผลิตออกซิเจน-พบลักลอบนำออกชายแดน
----------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวชี้แจ้งถึงประเด็นการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit : ATK) และการเข้าสู่ระบบการรักษาว่า ขณะนี้เกิดข้อสงสัยสำหรับการตรวจด้วย ATK เมื่อได้ผลบวกแล้วจะต้องทำอย่างไร สำหรับการตรวจด้วย ATK เมื่อได้ผลบวกแล้ว จะใช้คำว่าเป็นผู้ที่น่าจะติดเชื้อโควิดหรือคนที่น่าจะติดเชื้อ เนื่องจากชุดตรวจมีหลายชนิด บางชนิดคุณภาพอาจไม่สู้ดี ผลหรือความไว ความจำเพาะอาจไม่ถึง 90% แต่ส่วนใหญ่ที่ อย.ให้การรับรอง และทาง สธ.และสปสช.นำไปใช้ส่วนใหญ่ได้ผลบวก 95% ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอีกประการคือ ผลตรวจจากชุดตรวจ ATK สามารถให้ผลบวกลวงได้ถึง 3-5% แปลว่า มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ผลบวกแล้ว อาจไม่ได้ติดเชื้อจริง ตรงนี้น่ากังวล เพราะหากนำผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อจริงไปรวมกับผู้ติดเชื้อ ก็อาจติดเชื้อไปด้วย และในกรณีผู้ที่ผลเป็นลบ และสงสัยอาการอยู่ ก็ต้องทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง 3-5 วันภายหลัง ดังนั้น ผลบวกและผลลบมีผลปลอมได้
@ ผลตรวจ ATK เป็นบวก แยกกักตัวที่บ้านได้ทันที
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีผลตรวจเป็นบวก สามารถแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ได้ทันที แต่ต้องแยกกักที่บ้านแบบอยู่ห้องนอนคนเดียว ใช้ห้องน้ำคนเดียว โดย สปสช.จะให้การสนับสนุนอาหาร 3 มื้อส่งถึงบ้าน รวมถึงเครื่องมือดูแล ทั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ยาที่จำเป็น และหากเป็นคนไข้ที่มีโรคประจำตัว ทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด หากเข้าเกณฑ์สามารถส่งยาไปที่บ้านได้
@ เซ็นใบยินยอมก่อนเข้าศูนย์พักคอยชุมชน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวเน้นย้ำว่า หากผลเป็นบวก สามารถทำแยกกักตัวที่บ้านได้เลย ไม่ต้องตรวจซ้ำ แต่หากทำไม่ได้ และต้องเข้าสถานแยกกักที่ชุมชนที่เปิดแล้ว 20 กว่าแห่ง จัดตั้งโดย กทม. ทั้งนี้ หลักการสำคัญคือ ไม่สามารถนำผู้ที่ไม่แน่ใจว่าติดเชื้อ ไปรวมกับผู้ติดเชื้อได้ แต่จะทำการรักษาล่าช้าก็ไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องสื่อสารว่า สำหรับผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวก ในกลุ่มเสี่ยงสงสัยน่าจะติด และต้องเซ็นใบยินยอมรักษา และนำตัวพาไปที่ศูนย์แยกกักชุมชน ศูนย์พักคอย ฮอสพิเทล หรือโรงพยาบาล แต่ให้ตรวจมาตรฐานด้วย RT-PCR คู่ขนานกันไป แต่จะไม่ตรวจ ก็ไม่ได้ เพราะอาจไม่ได้ติดเชื้อ แต่จะตรวจช้าก็ไม่ได้เช่นกัน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อด้วยว่า ดังนั้น ศูนย์พักคอยจะมีการจัดมุมหนึ่งให้สำหรับคนที่รอผล ไม่เช่นนั้น หากไม่ติดเชื้อจะปนกับคนติดเชื้อ ทั้งหมดก็เพื่อผลประโยชน์ผู้ป่วย จะเร่งการทำการตรวจ RT-PCR ควบคู่กันไป ขณะนี้ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม.แจ้งว่าจะยกระดับศูนย์พักคอยทำ RT-PCR ทุกแห่ง และจะพยายามเร่งรัดผล เนื่องจากปัจจุบันบางห้องปฏิบัติการ สามารถใช้วิธีอย่างรวดเร็ว 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ ทราบผล หากเป็นลบก็ต้องแยกออกมาไม่ให้ปะปน ต้องแยกให้ชัดเพื่อความปลอดภัย จริงๆ RT-PCR ยังจำเป็นในกลุ่มที่ต้องเข้าศูนย์พักคอยชุมชน หรือโรงพยาบาล
@ Temple Isolation ดูแลพระ-เณร
เมื่อถามถึงกรณีพระภิกษุสงฆ์ในโรงเรียนปริยัติธรรม ย่านบางนามีการติดเชื้อกว่า 200 รูป ทางรพ.สงฆ์ดูแลอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีพบพระสงฆ์ติดเชื้อนั้น กรณีนี้ รพ.สงฆ์ได้เข้าไปทำ หลักการคล้ายๆ ศูนย์พักคอยในชุมชน โดยกรณีเรียกว่า Temple Isolation โดยดูแลพระที่นั่นเลย หากอาการไม่มาก ทางรพ.สงฆ์ได้จัดแพทย์ พยาบาล และร่วมกับชุมชนมาดูแลพระภิกษุสงฆ์ ดูอาการภาพรวมทั้งหมด หากพระรูปใดอาการมากขึ้น เข้าข่ายสีเหลืองเข้ม ต้องการออกซิเจนก็จะนิมนต์มาดูแลที่รพ.สงฆ์ แต่หากเริ่มมีอาการก็จะเริ่มให้ยา หลักการเดียวกันกับศูนย์พักคอยในชุมชน
@ สถานการณ์เตียงตึง เตรียมแปลงฮอสพิเทลรับกลุ่มสีเหลือง
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงกล่าวถึงสถานการณ์เตียงว่า ขณะนี้เตียงรองรับผู้ป่วยทั้รพ.รัฐและเอกชน ติดลบแล้ว หลายแห่งรับได้แค่ 10 ใส่เข้าไป 12 ดังนั้น เตียงรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองและแดงตึงหมด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กำลังรอเครื่องผลิตออกซิเจนในหลายๆ ส่วนทั้งรัฐและเอกชน เพื่อนำไปใช้ในฮอสพิเทล เพื่อรับคนไข้สีเหลืองที่จะเข้มขึ้น และต้องการออกซิเจน ให้นอนในฮอสพิเทลได้ ฮอสพิเทลใน กทม.และปริมณฑล มีห้องกว่า 2 หมื่นห้อง ถ้าจะแค่แปลง 10% จะมีเตียงสีเหลืองเพิ่มอีก 2 พันกว่าเตียง ก็จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ แต่ตอนนี้ติดขัดเรื่องเครื่องผลิตออกซิเจน ถังออกซิเจนมากพอสมควร เพราะได้ข่าวว่ามีการลักลอบนำออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะชายแดนพม่า
@ ลดทอนขั้นตอน ให้ ปชช.เข้าถึงยาให้มากที่สุด
ส่วนสถานการณ์จำนวนยาฟาวิพิราเวียร์ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยืนยันว่าในประเทศไทยมียาประมาณ 10 ล้านเม็ด และจะทยอยเข้ามา โดยเดือนหน้าจะเข้ามาทีละสัปดาห์ รวมแล้วประมาณ 40 ล้านเม็ดในเดือน ส.ค.นี้ ดังนั้น อัตราการใช้ไม่มีปัญหา ขณะเดียวกัน เดิมมีเรื่องเบิกยาค่อนข้างวุ่นวาย พยายามตัดขั้นตอนทั้งหมด ปัจจุบันมีความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ยกตัวอย่าง การทำโรงพยาบาลเสมือนจริง โดยเอาคนไข้ที่โทรเข้ามา 1668 มาขึ้นทะเบียนเป็น Home Isolation คนไข้ที่เริ่มมีอาการ ก็ส่งยาฟาวิพิราเวียร์ และยังมีภาคประชาสังคมต่างๆ มาช่วยเหลือ ประสานเข้ามากรณีคนไข้เริ่มมีอาการ ก็จะจัดส่งยาไปให้ หลักการเอื้อในส่วนนี้มากที่สุด
“ส่วนใครจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์นั้น หลักเกณฑ์คือ หากอาการดี ไม่มีโรคร่วมก็จะไม่ต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ก็กินยาลดไข้ หรือฟ้าทะลายโจร แต่ถ้ามีอาการ ขอให้เริ่มยาเร็วที่สุด ซึ่งตรงนี้เป็นแนวทางจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ทั้งโรงเรียนแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อ ระบว่า ต้องเริ่มยาให้เร็วที่สุดเมื่อเริ่มมีอาการ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว แต่ไม่มีอาการขอให้อยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ตรงนี้เป็นการป้องกันไม่ให้อาการสีเขียวเป็นสีเหลือง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
@ 5 ปัจจัยคุมโควิด
นพ.สมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า สำหรับปัจจัยสู่ความสำเร็จในการควบคุมโควิด มี 5 ด้าน คือ 1.นโยบายที่ชัดเจน 2. ระบบการควบคุมโรคดี 3.ระบบการรักษาพยาบาลเข้มแข็ง 4.การฉีดวัคซีนครอบคลุม และ5.ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ ขณะนี้ขอย้ำว่า บุคลากรเจ้าหน้าที่หน้างานยินดีดูแลผู้ป่วยเต็มที่ แต่ด้วยตอนนี้ล้นเตียงจริงๆ อย่าง รพ.ราชวิถี มีรอเตียงอีก 10 กว่าเตียง รอที่ ER เมื่อเตียงบนตึกว่าง ก็จะต้องนำส่วนที่รอขึ้นไปทันที ซึ่งไม่ใช่แค่ รพ.ราชวิถี แต่ะทุกรพ.เหมือนกันหมด ทั้งนี้ พวกเราคนไทยไม่ทิ้งกัน ขอสัญญาว่าจะทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต
@ แนวทางดูแล หลังผลตรวจ ATK เป็นบวก
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อพบว่ามีผลตรวจ ATK เป็นบวก ขณะนี้ได้ร่วมเปิดศูนย์คัดกรอง ATK ในหลายพื้นที่เช่น ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สามารถตรวจได้วันละประมาณ 2,500 คน โดยแนวทางคือ จะนำรายชื่อ หมายเลขบัตรประชาชนมาขึ้นทะเบียนในระบบฐานข้อมูล (Home Isolation Data Base) จากนั้นจะจับคู่ว่าประชาชนอยู่ใกล้กับคลินิกใดหรือศูนย์สาธารณสุขใด และศูนย์ฯนั้นก็จะรับคนไข้ไปดูแล
ระหว่างการดูและจะยืนยันซ้ำด้วยการตรวจ RT-PCR เพื่อที่จะเป็นประโยชน์สำหรับกรณีที่คนไข้ไม่สามารถอยู่บ้านได้ โดยเงื่อนไขที่จะอยู่ได้คือ ผู้ป่วยสีเขียว หรือผู้ที่เคยป่วยและนอนรักาาตัวที่โรงพยาบาลเกิน 10 วัน จากผู้ป่วยสีเหลืองมาจนไม่มีอาการ อายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคอ้วน และแพทย์พิจารณาว่าอยู่ กักตัวรักษาที่บ้านได้ แต่อีกกลุ่มที่อยู่บ้านไม่ได้ต้องไปอยู่ศูนย์พักคอย ซึ่งจะต้องมีผล RT-PCR ซึ่งการตรวจยืนยันผลตรวจจะไม่เป็นอุปสรรคในการักษา
ทพ.อรรถพร กล่าวเน้นย้ำว่า คนไทยทุกสิทธิสามารถเข้าตรวจคัดกรอง ATK ได้ รวมถึง RT-PCR ด้วยหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหากผลเป็นบวกเข้ารักษาตัวที่บ้านได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยลงทะเบียนผ่านฐานข้อมูล ทั้งเว็บไซต์ หรือ โทรศัพท์ไปที่ สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 ก็จะสามารถลงทะเบียนเข้าระบบได้ทันที เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว สถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยจะเยี่ยมผู้ป่วย 2 ครั้ง โดยผ่านระบบไลน์ วิดีโอคอลพูดคุยสอบถามอาการต่างๆ รวมถึง สปสช.สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิและออกซิมิเตอร์ เพื่อวัดความเข้มข้นของออกซิเจน ซึ่งจะมีแพทย์ดูอาการและให้ยาที่จำเป็น และจัดส่งอาหารให้ 3 มื้อตลอดการกักตัวที่บ้าน 14 วัน
ทพ.อรรถพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่ในรายของคนไข้ที่รักษาเป็นระยะเวลา 10 วัน และอาการดีขึ้น หรือเป็นผู้ป่วยสีเหลือง นะต้องนำส่งตัวจากสถานพยาบาลกลับมายังบ้านเพื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation ทาง สปสช.จะออกค่ารถส่งต่อให้ รวมถึงค่าเอกซเรย์ด้วย ทั้งนี้ การจ่ายเงินจะจ่ายให้กับคลิกนิกเมื่อรับคนไข้ไปดูแล จะให้เงินสำหรับการดูแลคนไข้ คนละ 3,000 บาทต่อคนต่อสัปดาห์ โดยจะจ่ายล่วงหน้าสำหรับการดูแลคนไข้โดยจ่ายในทุก 15 วัน
ฃ#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage