สธ.ยันจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้า 5 แสนโดส เริ่มฉีดต้น ส.ค.นี้ โต้ข่าวลือฉีดวัคซีนให้วีไอพี ยืนยันเรียงลำดับตามความสำคัญของกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ไม่ให้กลุ่มใดเป็นพิเศษ
......................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2564 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (รก.11) กล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ว่า กรณีมีข่าวปรากฏในสื่อว่าบุคลากรการแพทย์จะได้รับวัคซีนเพียง 200,000 โดสนั้น ขอยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม วัคซีนไฟเซอร์ที่จะได้รับมาจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส ในช่วงปลายเดือน ก.ค.2564 จะจัดสรรให้บุคลากรการแพทย์ เพื่อเป็นบูสเตอร์โดสไม่น้อยกว่า 500,000 โดส
ส่วนที่เหลือจากนั้นจะจัดสรรให้กับกลุ่มเสี่ยงอื่นๆต่อไป อาทิ กลุ่ม 608 ประกอบด้วย ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มสตรีมีครรภ์ รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งมีการระบาดหนัก โดยจะเร่งฉีดได้ในต้นเดือน ส.ค.2564
นอกจากนี้บุคลากรส่วนหนึ่ง ได้มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อเป็นบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 ไปแล้ว พบว่ามีระดับภูมิคุ้มสูงขึ้นมาก มากกว่าการฉีดวัคซีนทุกตัว ได้แก่ วัคซีนซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม, วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม, วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และการมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติกรณีติดเชื้อ พร้อมยืนยันว่าไม่มีการบังคับให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซนเนกา แต่เป็นการสมัครใจ
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส ที่จะเข้ามาในเดือน ต.ค.-ธ.ค.2564 จะเน้นให้กลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน พร้อมขอย้ำว่าวัคซีนไฟเซอร์จำนวนทั้งหมด 21.5 ล้านโดส จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หากพบว่ามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือให้ข่าวปลอม ทางกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินคดีจนถึงที่สุด
ส่วนข่าวลือว่าจะมีการจัดสรรวัตซีนไฟเซอร์จำนวนหนึ่งนำไปฉีดให้วีไอพีและญาติของวีไอพีนั้น นพ.รุ่งเรือง กล่าวยืนยันว่า การฉีดวัคซีน จะเรียงลำดับตามความสำคัญของกลุ่มเสี่ยง และพื้นที่เสี่ยง จะไม่มีการให้กลุ่มพิเศษ วีไอพี หรือกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในลำดับความสำคัญ ดังนั้นหากพบให้แจ้งมาที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทันที
@ แนะ 6 มาตรการป้องกันในช่วงล็อกดาวน์ 14 วัน
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวสรุปถึงสถานการณ์การระบาดภายในประเทศไทยว่า ยังพบการติดเชื้อในระดับค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก และกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วย ทั้งจากโครงการรับกลับบ้านของรัฐและการเดินทางกลับภูมิลำเนาเองของประชาชน ซึ่งปัจจุบันการติดเชื้อจะเป็นในลักษณะที่เราไม่อาจทราบว่าบุคคลรอบข้างใครติดเชื้อไปแล้ว เนื่องจาก 80% ของผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการ
สำหรับการฉีดวัคซีน ตอนนี้เราฉีดวัคซีนให้ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีเข็มแรก ได้เพียง 2,504,362 ราย หรือคิดเป็น 20% จากประชากรเป้าหมาย 12,500,000 ราย ขณะเดียวกันกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ฉีดเข็มแรกได้เพียง 1,301,699 โดส คิดเป็น 24.3% จึงอยากให้ทุกคนแนะนำหรือพากลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรครีบมารับวัคซีน เนื่องจากกลุ่มนี้หากติดเชื้อจะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิต
ดังนั้นประชาชนควรดำเนินมาตรการป้องกันที่สำคัญในช่วงล็อกดาวน์ 14 วัน ดังนี้้
1.การป้องกันโรคส่วนบุคคล DMHTT ควรป้องกันตนเองเสมือนคนรอบข้างติดเชื้อแล้ว ทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จัก เช่น ซื้อของตลาด ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และการโดยสารขนส่งสาธารณะ
2. ป้องกันการระบาดในโรงงานและสถานประกอบการ โดยโรงงานที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ให้ผู้ประกอบการศึกษาแนวทางการควบคุมโรคแบบ Bubble and Seal กับทางสาธารณสุขจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อม และช่วยกันลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของพนักงาน
ส่วนโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อแล้ว ไม่จำเป็นต้องปิดโรงงาน เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายออกของแรงงาน ซึ่งจะเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน แต่จะให้แยกกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง แยกกลุ่มที่ติดเชื้อแล้ว จัดหาเตียงหรือห้องแยกกัก จัดระบบควบคุมกำกับ การเดินทาง การกินข้าว การพูดคุยกัน ให้ปลอดการติดเชื้อและแพร่เชื้อ ตรวจคัดกรอง
3. ป้องกันการแพร่เชื้อจากตลาด ตลาดนัด โดยให้ผู้ค้าที่มีอาการป่วย หรือมีคนในบ้าน คนใกล้ชิด สงสัยติดเชื้อ ต้องงดขายของก่อน และให้สวมหน้ากากตลอด แยกกินข้าว ที่สำคัญต้องรีบไปพบแพทย์ และรับการตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit
สำหรับแรงงานรับจ้างในตลาด ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีการขึ้นทะเบียน และคัดกรองอาการป่วยทุกวัน ส่วนลูกค้านั้น หากมีอาการป่วย หรือมีคนใกล้ชิดสงสัยติดเชื้อ ต้องงดไปซื้อของทุกกรณี อาจสั่งของผ่านออนไลน์แทนไปก่อน และต้องสวมหน้ากากตลอด แยกกินข้าว และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาเชื้อ
4. งดออกจากบ้านหากไม่จำเป็น ยกเว้นเพื่อซื้ออาหาร ยา หรือไปพบแพทย์
5. งดเดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นเพื่อไปโรงพยาบาล โดยจะต้องมีการลงทะเบียนและแจ้งโรงพยาบาลปลายทาง ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ก่อน
6. ช่วยกันแนะนำและพาผู้สูงวัย ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ เข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อ
@ ชี้ลดการแพร่กระจายเชื้อให้มากที่สุด ทางแก้ปัญหาเตียงตึงตัว
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า สถานการณ์เตียงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีขีดความสามารถในการรองรับที่จำกัด ไม่เหมือนในชาติตะวันตกอย่างยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเตียงและบุคลากรการแพทย์ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามในช่วงการระบาดที่ผ่านมาขนาดชาติตะวันตกยังรับมือค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นการจะเพิ่มจำนวนเตียง แต่บุคลากรไม่สามารถผลิตได้ทัน เป็นภาระสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนเตียงได้มากนัก ดังนั้นการบริหารจัดการในตอนนี้ คือ การทำให้ผู้ป่วยอาการน้อยไม่กลายเป็นผู้ป่วยหนักให้ได้มากที่สุด ส่วนการตั้งศูนย์รับกลับบ้านที่ต่างจังหวัด แม้จะช่วยได้มาก แต่อาจเป็นการเพิ่มภาระให้กลับบุคลากรการแพทย์ต่างจังหวัดให้เพิ่มมากขึ่้น ดังนั้นตอนนี้เราจะต้องรณรงค์ให้หยุดการแพร่กระจายเชื้อให้มากที่สุด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage