‘ศาลอุทธรณ์ฯ’ กลับคำพิพากษา ยกคำร้อง ‘บ.แชมป์ริช’ ที่ขอให้ ‘เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์’ รับเงิน 1.13 พันล้านบาท แลกโอนที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2.6 พันล้านบาท
......................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ศาลล้มละลายกลางอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลาย คดีที่ บริษัท แชมป์ริช จำกัด (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (ผู้คัดค้านที่ 1) รับเงินค่าซื้อทรัพย์เป็นเงิน 1,136.32 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3 แปลง (โฉนดที่ดินเลขที่ 1524 ,1908 และ 1521) ต.บางแจงร้อนนอก อ.ราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ ให้กับ บริษัท แชมป์ริช จำกัด
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฯ มีคำพิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของ บริษัท แชมป์ริช จำกัด
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2556 บริษัท แชมป์ริช จำกัด (ผู้ร้อง) เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาท 3 แปลง (โฉนดที่ดินเลขที่ 1524 ,1908 และ 1521) ของ บริษัท น้อมอนันต์ จำกัด (จำเลย) จากการขายทอดตลาด ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ ตามที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดี (ผู้คัดค้านที่ 1) จากนั้น บริษัท แชมป์ริช จำกัด เข้าทำสัญญาซื้อที่ดินทั้ง 3 แปลง โดยวางเงินมัดจำ 3 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 22 ต.ค.2556 บริษัท แชมป์ริช จำกัด ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อส่วนที่เหลือออกไปเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาต แต่ก่อนครบกำหนดวางเงินในวันที่ 25 ม.ค.2556 ปรากฏว่า บริษัท แชมป์ริช จำกัด ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปจนกว่าคดีร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ขายจะถึงที่สุด (มีผู้ขอเพิกถอนการขายทอดตลาดและคดียังไม่ถึงที่สุด)
แต่เจ้าพนักงานบังคับคดี มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายเวลาตามที่ร้องขอ และให้ บริษัท แชมป์ริช จำกัด วางเงินเพิ่มเป็น 5.5% ของราคาซื้อ หรือเป็นเงิน 59.49 ล้านบาท
ต่อมาในวันที่ 20 ม.ค.2557 บริษัท แชมป์ริช จำกัด ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีอีกครั้ง เนื่องจาก บริษัท แชมป์ริช จำกัด ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลแพ่งธนบุรีแล้ว
อย่างไรก็ตาม เจ้าพนักงานบังคับคดี มีคำสั่งไม่อนุญาต และให้ บริษัท แชมป์ริช จำกัด วางเงินตามกำหนดเดิม คือ ภายในวันที่ 25 ม.ค.2557
แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าว บริษัท แชมป์ริช จำกัด ไม่ได้นำเงินมาวางตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่ง ดังนั้น ในวันที่ 28 ม.ค.2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีคำสั่งริบเงินมัดจำของ บริษัท แชมป์ริช จำกัด และให้นำที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงขายทอดตลาดใหม่
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา คือ ในวันที่ 12 พ.ย.2561 บริษัท แชมป์ริช จำกัด ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งธนบุรีอีกครั้ง โดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย และทาง บริษัท แชมป์ริช จำกัด ขอชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ทั้งหมด (ที่ดิน 3 แปลง) แต่ปรากฎว่า ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งยกคำร้อง และให้ บริษัท แชมป์ริช จำกัด ไปยื่นคำร้องดังกล่าว ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
จากนั้นในวันที่ 23 ก.ย.2562 บริษัท แชมป์ริช จำกัด เข้ายื่นคำร้อง ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับเงินค่าซื้อทรัพย์ (ที่ดิน 3 แปลง) ทั้งหมด และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 3 แปลงให้แก่ บริษัท แชมป์ริช จำกัด
อย่างไรก็ดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ยังคงมีคำสั่งยกคำร้องเช่นเดิม โดยให้เหตุผลว่าเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2557 ศาลแพ่งธนบุรี มีคำสั่งยกคำร้องของ บริษัท แชมป์ริช จำกัด ที่ขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินส่วนที่เหลือออกไป แล้ว
จากนั้น บริษัท แชมป์ริช จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์คำร้องฯต่อศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืน ให้ยกคำร้องของบริษัท แชมป์ริช จำกัด ซึ่งขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ขณะที่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของ บริษัท แชมป์ริช จำกัด และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี
แต่ต่อมา บริษัท แชมป์ริช จำกัด ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอให้ศาลล้มละลายฯ มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รับเงินค่าซื้อทรัพย์ และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3 แปลงให้แก่ บริษัท แชมป์ริช จำกัด
ในเวลาต่อมา ศาลล้มละลายกลาง (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2563 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รับเงินค่าซื้อทรัพย์ 1,136.32 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินทั้ง 3 แปลง (โฉนดที่ดินเลขที่ 1524 ,1908 และ 1521) ให้แก่ บริษัท แชมป์ริช จำกัด
เนื่องจากศาลฯวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีร้องขัดทรัพย์ถึงที่สุดแล้ว หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รับเงินค่าซื้อทรัพย์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ บริษัท แชมป์ริช จำกัด จะได้เงินเข้ากองทรัพย์ของลูกหนี้ เป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายรับคดีไว้พิจารณา กระทั่งเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลาย มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องตามที่เสนอข่าวไปข้างต้น
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับที่ดิน 3 แปลง (โฉนดที่ดินเลขที่ 1524 ,1908 และ 1521) ต.บางแจงร้อนนอก อ.ราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ ในคดีนี้ เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งบริษัทประเมินฯประเมินว่าที่ดินผืนดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 250,000 บาทต่อตารางวา
อ่านประกอบ :
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage