"...หนึ่ง คำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางขัดต่อกฎหมายและคำสั่งศาลฎีกาหรือไม่ เพราะในคดีเดียวกันนี้ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาว่า เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องแล้ว ..."
กรณีพิพาทที่ดินเนื้อที่ 26 ไร่ ย่านราษฎร์บูรณะ ริมฝั่งเจ้าพระยา มูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท กลายเป็นเรื่องร้องเรียนกันใหญ่โตถึงระดับองคมนตรี ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ คณะกรรมการตุลาการ(ก.ต.) และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
ได้มีโอกาสอ่านเอกสารหลักฐาน คำพิพากษาในคดี จึงขอเรียบเรียงเพื่อให้เข้าใจง่ายที่สุด ดังนี้
1.เจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำที่ดินแปลงนี้ซึ่งยึดจาก บริษัท น. เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ได้ออกขายทอดตลอดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ปรากฏว่า บริษัท ช.ประมูลซื้อทรัพย์ได้ในราคา 1,136 ล้านบาทเศษ และวางเงินมัดจำ 3 ล้านบาท โดยบริษัทต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือภายใน 15 วันตามระเบียบของกรมบังคับคดี
2.ต่อมา วันที่ 26 ธันวาคม 2556 บริษัท ช. ยื่นคำร้องขอไม่ชำระเงินค่าซื้อที่ดินในส่วนที่เหลือ เนื่องจากมีการร้องขัดทรัพย์(ทำให้ไม่สามารถโอนที่ดินได้ จนกว่าคดีร้องขัดทรัพย์จะถึงที่สุด) แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้บริษัท ช.วางเงินมัดจำเพิ่มให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อที่ดินเป็นเงิน 59 ล้านบาทเศษ ตามระเบียบของกรมบังคับคดีภายในวันที่ 25 มกราคม 2557
อย่างไรก็ตามในวันที่ 9 มกราคม 2557 บริษัท ช. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งธนบุรีขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีและขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปก่อนจนกว่าคดีต่างๆ(ร้องขัดทรัพย์)จะถึงที่สุดโดยไม่ต้องวางเงินเพิ่มแต่อย่างใด แต่ศาลฯมีคำสั่งยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า “กรณีคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอน”
บริษัท ช.ยื่นอุทธรณ์
3. วันที่ 28 มกราคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดี ทำรายงานว่า บริษัท ช. ไม่วางเงินเพิ่มให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อที่ดินภายในกำหนดเวลา จึงมีคำสั่งริบเงินมัดจำ 3 ล้านบาท และให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดใหม่
อย่างไรก็ตาม วันที่ 24 มิถุนายน 2557 บริษัท ช.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งธนบุรี ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินมัดจำ 3 ล้านบาท แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า “กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี”
4.วันที่ 30 มีนาคม 2558 ศาลแพ่งธนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นทั้งในประเด็นการริบเงินมัดจำ 3 ล้านบาทของบริษัท ช.ว่า ชอบด้วยกฎหมายและยกคำร้องที่ขอให้งดการนำที่ดินในคดีนี้ออกขายทอดตลาดใหม่ (งดการบังคับคดี)
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า “ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องไม่ได้วางเงิน มัดจำเพิ่มให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาที่ผู้ร้องซื้อจากการขายทอดตลาดภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด จึงถือได้ว่า ผู้ร้อง(บริษัท ช.)เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานบังคับคดี(ตามระเบียบให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งริบเงินมัดจำ รวมทั้งให้นำทรัพย์ดังกล่าวออกทำการขายทอดตลาดด้วย)
ดังนั้น คำสั่งที่ให้ผู้ร้องวางเงินมัดจำเพิ่มและริบเงินมัดจำผู้ร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับประเด็นการขอให้งดการบังคับคดีหรือการนำที่ดินออกขายทอดตลาดใหม่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องไม่ได้วางเงิน มัดจำเพิ่มให้ครบร้อยละ 5.5 ...ภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ริบเงินมัดจำและมีการขายทรัพย์ทอดตลาดใหม่แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดการบังคับคดีตามคำร้องของผู้ร้องอีกต่อไป”
บริษัท ช.ยื่นฎีกา
5. วันที่ 1 สิงหาคม 2559 ศาลแพ่งธนบุรีอ่านคำสั่งศาลฎีกาไม่รับฎีกา เพราะเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องแล้ว
เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว คิดว่า คดีนี้น่าจะยุติหรือถึงที่สุดแล้ว กล่าวคือ สัญญาการซื้อที่ดินของบริษัท ช.จากกรมบังคับคดีจากการขายทอดตลาดน่าจะสิ้นผลผูกพัน เนื่องจาก บริษัท ช.ผิดสัญญา จนโดนริบเงินมัดจำซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว และกรมบังคับคดีมีอำนาจนำที่ดินออกขายทอดตลาดใหม่
แต่เนื่องจากที่ดินแปลงนี้มูลค่ามหาศาล มีการประเมินราคาที่ดินจากบริษัทประเมินล่าสุด พบว่า มูลค่าสูงกว่า 2,600 ล้านบาทหรือประมาณ 250,000 บาทต่อตารางวา ถ้าขายได้ในราคานี้หมายความว่า กลุ่มเจ้าหนี้ที่รอการรับชำระหนี้หลังการขายทอดตลาดจะได้กำไรเพิ่มขึ้นมหาศาล
เช่นเดียวกัน ถ้าบริษัท ช. สามารถบังคับทำให้กรมบังคับคดีโอนที่ดินแปลงให้ให้ตามราคาที่ประมูลได้คือ 1,136 ล้านบาทจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านบาท
6.กรณีพิพาทเพื่อแย่งชิงที่ดินแปลงนี้จึงเริ่มขึ้นใหม่ โดย บริษัท ช.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งธนบุรี เพื่อขอให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายทอดตลาดที่ดินเมื่อ 10 ตุลาคม 2556 ยอมรับชำระค่าซื้อที่ดิน 1,136 ล้านบาทและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับบริษัท ช.
แต่ศาลเห็นว่า เนื่องจากบริษัทเจ้าของที่ดินเดิมล้มละลายแล้ว ที่ดินที่ขายทอดตลาดถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ให้บริษัท ช. ไปยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ
7. วันที่ 8 ตุลาคม 2562 บริษัท ช.ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย ขอให้ มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รับเงินค่าซื้อที่ดิน 1,136 ล้านบาท และให้โอนกรรมสิทธิ์ให้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และกลุ่มเจ้าหนี้ร้องคัดค้านเพราะเห็นว่าคดีถึงที่สุดแล้วด้วยคำสั่งศาลฎีกา
8.วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 องค์คณะศาลล้มละลายกลาง 2 ท่าน มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับเงินค่าซื้อทรัพย์ทั้งหมดตามสัญญาซื้อขาย ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 จำนวน 1,136 ล้านบาท และให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ช. โดย ให้เหตุผล กรณีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ควรรับค่าซื้อทรัพย์และโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ว่า แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะริบเงินมัดจำไปแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ หรือแม้ผู้ร้องจะวางเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจโอนดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ผู้ร้องจนกว่าคดี จะถึงที่สุด
และ “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่นำสืบให้เห็นว่า หากนำทรัพย์ออกขายใหม่จะได้ราคามากกว่าเดิม ประกอบกับในช่วงเวลานี้ประเทศไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยและติดลบ กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ถึง 4 ปี หากเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ ก็อาจไม่มีผู้เข้ามาประมูลสู้ราคาหรือใช้เวลานานหรืออาจขายได้ราคาต่ำกว่าเดิมก็เป็นได้
“เมื่อพิเคราะห์ประกอบคดีร้องขัดทรัพย์ถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องพยายามที่ขวนขวายในการขอชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตลอดมา เมื่อพิจารณาประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 123 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ทรัพย์สินซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมได้ เมื่อลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด ดังนั้น หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับเงินค่าซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากผู้ร้อง และโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้อง ก็จะได้เงินเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ เป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ซึ่งศาลเห็นว่าวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดตามบทบัญญัติ ดังนั้น ข้ออ้างของผู้ร้องฟังขึ้น”
9.แน่นอนว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลางย่อมอาจทำให้กลุ่มเจ้าหนี้ที่จะได้รับการชำระหนี้หลังจากการขายทอดตลาดที่ดินแปลงนี้สูญเสียผลประโยชน์เพราะกลุ่มเจ้าหนี้เห็นว่า ถ้าขายทอดตลาดที่ดินแปลงนี้ใหม่ อาจได้ราคาไม่ต่ำกว่า 2,600 ล้านบาทซึ่งจะเงินจากการชำระหนี้มากขึ้น
แต่ถ้ายอมให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้บริษัท ช. ในราคา 1,136 ล้านบาท กลุ่มเจ้าหนี้ที่ซื้อหนี้และเข้าสวมสิทธิ์แทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ก็จะขาดทุนเป็นจำนวนมาก
10.อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการร้องเรียนกันขึ้นมาเพราะกลุ่มเจ้าหนี้เห็นว่า
หนึ่ง คำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางขัดต่อกฎหมายและคำสั่งศาลฎีกาหรือไม่ เพราะในคดีเดียวกันนี้ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาว่า เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องแล้ว
เมื่อดูรายละเอียดในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ระบุชัดเจนว่า จึงถือได้ว่า ผู้ร้อง(บริษัท ช.)เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานบังคับ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งริบเงินมัดจำ รวมทั้งให้นำทรัพย์ดังกล่าวออกทำการขายทอดตลาดด้วย รวมถึงยกคำร้องของบริษัท ช.ที่ให้งดการขายทอดตลาดที่ดินแปลงนี้
ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งไม่ให้มีการขายทอดตลอด แต่ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ช. จึงเป็นการขัดแย้งกับคำสั่งศาลฎีกา
สอง เมื่อคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว แต่บริษัท ช. นำคดีมาร้องต่อล้มละลายกลางอีก เป็นลักษณะการฟ้องซ้ำหรือไม่ ซึ่งการฟ้องซ้ำเป็นหลักกฎหมายสำคัญที่ไม่สามารถกระทำได้
สาม เมื่ออ่านเหตุผลจากคำพิพากษาที่ให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์รับชำระเงินค่าที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้ว สรุปได้ 3 ประเด็นคือ
1.การนำที่ดินแปลงนี้ออกขายใหม่ อาจไม่ได้ราคามากกว่าเดิมหรือต่ำกว่าเดิมและยังอ้างเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลกตกต่ำเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวใช้เวลา 3-4 ปี
เมื่ออ่านคำพิพากษาโดยละเอียดแล้ว ไม่มีการนำสืบและพูดในประเด็นนี้ทั้งจากฝ่ายผู้ร้องหรือผู้ร้องคัดค้านเลย
ขณะเดียวกันการยื่นคำร้องในคดีนี้ของบริษัท ช. เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ซึ่งยังไม่มีการการแพร่ระบาดของโควิด-19 การให้เหตุผลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำจนกระทบต่อการขายทอดตลาดที่ดินในคำพิพากษามาจากไหนและใช้สมมุติฐานอะไร
คำพิพากษายัง คาดการณ์ว่า กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต้องใช้เวลานาน 3-4ปี มีสมมุติฐานมาจากอะไร เพราะแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจยังให้ความเห็นในเรื่องนี้แตกต่างกัน
2.บริษัท ช. พยามยามขวนขวายหาเงินมาชำระค่าที่ดินมาตลอดซึ่งประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้ว บริษัท ช.ทำผิดสัญญาตามหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คำวินิจฉัยนี้จึงขัดกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือไม่
3.ศาลล้มละลายกลางมีอำนาจกำหนดวิธีการที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด คำว่า เป็น “ผลดีที่สุด“ ย่อมหมายถึงเป็นผลดีกับกรมบังคับคดีที่จะได้ค่าธรรมเนียมการขายที่ดินจากราคาขายที่สูงขึ้น และเป็นผลดีกับเจ้าหนี้ที่จะได้รับการชำระหนี้คืนมากที่สุดหรือไม่
แต่คำพิพากษาดังกล่าว กลุ่มเจ้าหนี้เห็นว่า ผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ บริษัท ช. เพราะได้ที่ดินในราคาเพียง 1,136 ล้านบาท ขณะราคาประเมินสูงถึง 2,600 ล้านบาท
ขณะผู้ที่เสียประโยชน์คือกรมบังคับคดีหรือรัฐ เพราะถ้าขายที่ได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 2,600 ล้านบาท จะได้ค่าธรรมเนียมสูงขึ้นนับร้อยล้านบาทและกลุ่มเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้เพิ่มขึ้นด้วย
กรณีพิพาทที่ดิน มูลค่า 2,600 ล้านนี้จะจบลง อย่างไร คงต้องอาศัยการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะจากประธานศาลฎีกาและคณะกรรมการตุลาการที่จะได้พิสูจน์ถึงความศักดิ์สิทธิ์และเที่ยงตรงของกระบวนการยุติธรรม
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://siamrath.co.th/n/158102