สธ.นำร่องใช้ชุดตรวจ ATK ในพื้นที่ กทม.แล้วกว่า 5 หมื่นราย พบติดเชื้อ 10 เปอร์เซ็นต์ เผยผลผิดพลาดไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ เตรียมขยายใช้ชุดตรวจในทั่วประเทศ พร้อมขู่เอาผิด รพ.เอกชนเรียกเก็บเงินค่าประกันเตียง ย้ำทรัพยากรมีจำกัด ต้องช่วยกันดูแลประชาชน
------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตั้งแต่ 12 ก.ค. 2564 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) มีนโยบายที่จะใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) สำหรับตรวจคัดกรองกรณีผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด โดย 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สปสช. ร่วมกับ กทม. และ สธ.ทดลองนำร่องตรวจในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ พบว่า สามารถใช้ชุดตรวจ ATK ไปแล้ว 50,000 กว่าราย ได้ผลติดเชื้อประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ และเมื่อนำไปเทียบกับการตรวจแบบมาตรฐาน RT-PCR พบมีการตรวจผิดพลาดไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ทำให้พบว่าชุดตรวจ ATK ใช้ได้ผลดี
นพ.จเด็จ เปิดเผยว่า ทั้งนี้ในที่ประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา มีมติขยายให้มีการเพิ่มชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงบางส่วนเพื่อตรวจเอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดหา และทีมวิชาการโดยกรมควบคุมโรคกำลังวางแผนที่จะกระจายชุดตรวจให้ประชาชน ทั้งนี้ เมื่อตรวจแล้วให้ผลตรวจเป็นบวก ก็จะนำเข้าสู่การรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือ รักษาตัวในชุมชน (Community Isolation) หากมีอาการก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลต่อไป
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ได้นำร่องสื่อสารกับคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ กทม. 200 กว่าแห่ง และศูนย์สาธารณสุข 69 แห่ง ก็เริ่มทยอยตรวจมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศเพิ่มเติมด้วย เพราะจะมีการทยอยให้ตรวจด้วยเช่นกัน
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK เป็นชุดตรวจที่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง ทราบผลเร็วใน 15 นาที จะช่วยให้สามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อได้มาก อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกคน คนที่ควรตรวจคือ กลุ่มเสี่ยง เช่น มีญาติ คนใกล้ชิด มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีอาการ เช่น น้ำมูก ไอ จาม มีไข้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด ขณะนี้ยังมีความรุนแรง ดังนั้น หากผลตรวจออกมาเป็นลบ ยังคงต้องปฏิบัติตนเหมือนว่ามีความเสี่ยงตลอดเวลา เพื่อป้องกันตัวเอง และป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วย หากผลตรวจออกมาเป็นบวกให้โทรสายด่วน สำคัญคือ 1330 และดูแลตัวเองเบื้องต้น
นพ.รุ่งเรือง กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีหน่วยตรวจเชิงรุก และสถานพยาบาล เมื่อใช้ชุดตรวจดังกล่าวแล้ว พบผลเป็นบวก บุคลากรจะมีการประเมินอาการว่า มีความจำเป็นต้องเข้า รพ.หรือไม่ เช่น มีอาการหอบเหนื่อย จะนำส่ง รพ.เพื่อรักษาต่อ ส่วนอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ แต่ผลเป็นบวก จะให้ดูแลตัวเองที่บ้าน โดยจะมีทีมบุคลากรสาธารณสุข คอยติดตามอาการ มีทั้งฟ้าทลายโจร และยารักษา ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจนให้ด้วย อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า ในกลุ่มที่ผลเป็นบวก จะต้องตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR เพื่อยืนยันผล
นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า ในกรณีคนที่มีอาการหวัด อาจจะใช่ หรือไม่ใช่โควิดก็ได้ หากผลออกมาเป็นลบ สามารถตรวจซ้ำได้หลังตรวจครั้งล่าสุด 3-5 วันได้ ระหว่างนี้ก็ต้องแยกตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น พร้อมกล่าวเน้นย้ำว่า ผลตรวจออกมาจะมีความถูกต้องมากที่สุดอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีอาการ ชุดตรวจจะมีความแม่นยำสูง แต่ก็อาจจะมีผลลวงได้เช่นกัน แต่ไม่มาก ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของชุดตรวจว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ถึงได้ย้ำให้มีการซื้อในร้านขายยา ไม่ควรซื้อออนไลน์ เนื่องจากมีโอกาสเป็นชุดตรวจปลอมสูง นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างตรวจด้วยตัวเองก็สำคัญ
นพ.รุ่งเรือง กล่าวถึงสถานการณ์จำนวนเตียงว่า ขณะนี้ในส่วนของอัตาครองเตียงสีแดงและสีเหลือง มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ มีช่องว่างที่จะรับผู้ป่วยเพิ่มจำกัดมากๆ สิ่งสำคัญที่แก้ปัญหาขณะนี้ คือ การดูแลที่บ้านเพื่อให้เตียงที่ดูแลผู้ป่วยสีเขียวที่ดูแลผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการ สามารถปรับเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเพิ่มให้ดูแลผู้ป่วยสีแดงได้
"ขณะนี้มีเตียงผู้ป่วยหนักเหลือน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ และ 1 สัปดาห์ที่มีการให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน มีแพทย์ พยาบาล มียา เครื่องมือต่าง และพร้อมนำผู้ป่วยที่ดูแลที่บ้านเข้าระบบการรักษา การขยายขอบเขตดังกล่าวจะทำให้เตียงรองรับมีช่องว่างมีเตียงเพิ่มมากขึ้น ที่จะดูแลผู้ป่วยอาการหนักและอาการหนักไม่มากแต่เสี่ยงที่จะป่วยหนัก" นพ.รุ่งเรืองกล่าว
นพ.รุ่งเรือง ตอบคำถามกรณี รพ.เอกชนเรียกรับเงินล่วงหน้า เพื่อรับประกันว่ามีเตียงรักษา ว่า เรื่องนี้ สธ.รับทราบและจะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย วันนี้ภาพรวมเตียงใน กทม. 70 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ รพ.เอกชน หากประชาชนถูกเรียกรับเงินขอให้ร้องเรียนมาที่สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) โทร 1426 พร้อมเน้นย้ำว่า สธ.จะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะวันนี้ทรัพยากรมีจำกัด แต่ส่วนที่ยังสามารถดูแลผู้ป่วยได้ก็ต้องช่วยเหลือ ดูแลประชาชนอย่างเต็มความสามารถ ดังนั้น หากเอกชนที่ยังทำการเก็บเงินอยู่ขอให้ยุติการกระทำ ถ้ายังทำอยู่ก็จะมีการดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage