โฆษกรัฐบาล เผยที่ประชุม ศบค. 16 ก.ค. เห็นชอบปรับกรอบการจัดหาวัคซีน 2 ปี รวม 220 ล้านโดส แบ่งเป็นปี 2564 จำนวน 100 ล้านโดส และ ปี 2565 จำนวน 120 ล้านโดส ขณะที่นายกฯ สั่งเดินหน้าเจรจาซื้อวัคซีนครอบคลุมเชื้อกลายพันธุ์
-----------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การบริหารสถานการณ์โควิดของไทย เป็นการบริหารจัดการแบบบูรณาการมีส่วนราชการที่เข้ามาร่วมกันทำงานในลักษณะคณะกรรมการในนามศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) โดยมีแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่พิจารณาร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งในที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเห็นชอบกรอบการจัดหาวัคซีน 120 ล้านโดสในปี 2565 ส่งผลให้ไทยมีแผนจัดหาวัคซีน ตั้งแต่ปี 2564 – 2565 รวมประมาณ 220 ล้านโดส โดยเฉพาะในปี 2564 ที่มีแผนการจัดหามาแล้ว จำนวน 105.5 ล้านโดส
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ยังเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ในเบื้องต้นจำนวน 20 ล้านโดส โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้เจรจาและสั่งซื้อ รวมทั้งให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลางเจรจากับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ในการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นลำดับ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แผนการจัดหาวัคซีนและการกระจายวัคซีนโดย ศบค.เป็นการทำงานร่วมกันในระดับนโยบายที่มีคำแนะนำด้านวิชาการจากคณะแพทย์ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนหลักที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า , ซิโนแวค , ไฟเซอร์ และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยมีซิโนฟาร์ม และ โมเดอร์นา เป็นวัคซีนทางเลือกภายใต้แนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิดที่มีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงาน ได้เสนอแนวทางในการจัดหาวัคซีน สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐและวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน และให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดหาวัคซีนต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการแล้ว เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดหาวัคซีนในภาพรวมของประเทศต่อไป ขณะเดียวกันในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด เพื่อประชาชนไทย ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิดให้เป็นไปตามแผนและกรอบเวลาที่กำหนด รวมถึงการเจรจาต่อรองกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาวัคซีนโควิดจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศด้วย
นายอนุชา กล่าวย้ำว่า นายกรัฐมนตรี ยังมีแนวทางในการเร่งรัดเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมดังนี้ 1.เร่งเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 หรือ 2nd Generation ที่จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ 2.เร่งรัดการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกเหนือจากชนิดไวรัล เว็กเตอร์ เช่น Inactivated หรือ mRNA เป็นต้น
3.สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส รวมทั้งกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่วิจัยพัฒนาในประเทศ รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 และ 4.สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในประชากรไทย รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์
“นายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะจัดหาวัคซีนให้มากที่สุดและฉีดให้ทุกคนในประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอัตราการป่วย และเสียชีวิตให้มากที่สุด รวมทั้งปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ” นายอนุชา กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage