สธ.เผยผลการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคในสนามจริง ภูเก็ต-สมุทรสาคร-เชียงราย-ทั่วประเทศ ช่วงอัลฟาระบาด พบฉีดครบ 2 เข็ม ลดป่วยรุนแรง 75% เผยจำเป็นต้องใช้ เพราะจัดหาได้เร็ว ด้านแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม เกิน 14 วัน ป้องกันติดเชื้อได้ 83.8% เร่งเดินหน้าหาวัคซีนชนิดอื่นเพิ่ม ป้องกันสายพันธุ์ใหม่ พร้อมตั้ง CCRT รุกช่วยกลุ่มเสี่ยงเข้าไม่ถึงการรักษา-ตรวจเชื้อสังคมเมือง
...................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564 นพ.ทวีทรัพย์ ศีรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นประสิทธิผลของวัคซีนโควิดในการใช้จริงของประเทศไทย ว่า ผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิดในการใช้จริงของประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.2564 โดยศึกษาจาก 4 กลุ่มศึกษา แบ่งเป็น 2 การศึกษาแรก จากการศึกษาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และติดตามว่าในบรรดากลุ่มเสี่ยงสูงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ และมีกี่รายได้รับวัคซีนแล้ว กี่รายไม่ได้รับวัคซีน คือ กลุ่มจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสมุทรสาคร อีกกลุ่มเป็นการศึกษาในบุคลากรสุขภาพ จากเหตุการณ์การระบาดในจังหวัดเชียงราย และอีกผลการศึกษาคือ ฐานข้อมูลจากบุคลากรสาธารณสุขที่มีการติดเชื้อในเดือน พ.ค. และมิ.ย.มาทำการศึกษา โดยกรมควบคุมโรค
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ข้อมูลประสิทธิผลเกี่ยวกับวัคซีน จึงเป็นข้อมูลจากการใช้จริงในพื้นที่ทั้งจากภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย และพื้นที่ทั่วประเทศที่กรมควบคุมโรคดึงจากฐานข้อมูล จากการพิจารณาทั้งประสิทธิผลการติดเชื้อ ประสิทธิผลการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงนั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งการศึกษาวัคซีน ว่า ณ ขณะนั้นในแต่ละพื้นที่มีการใช้วัคซีนอะไร ในช่วงเดือน เม.ย. พ.ค. และ มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ คนที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์จะเป็นซิโนแวค จะมีแอสตร้าเซนเนก้าบ้างเฉพาะการศึกษาเท่านั้น
@ ผลการศึกษาประสิทธิภาพซิโนแวค กลุ่มเสี่ยงสูง ภูเก็ต-สมุทรสาคร
นพ.ทวีทรัพย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลการศึกษาประสิทธิผลในพื้นที่จริงที่ภูเก็ต ช่วงเดือน เม.ย.ที่มีการฉีดวัคซีน ขณะเดียวกันมีผู้ติดเชื้อ และได้มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อดูว่าใครได้รับวัคซีนแล้วและติดเชื้อบ้าง หรือไม่ติดเชื้อ จากทั้งหมด 1,500 กว่ารายของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด พบติดเชื้อ 124 ราย ในจำนวนนี้ เมื่อมีการเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนจากภูเก็ตอยู่ที่ระดับ 90.7 เปอร์เซ็นต์
ส่วนสมุทรสาคร พบว่า การศึกษาคล้ายคลึงกับภูเก็ต โดยมีจำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 500 กว่าราย พบการติดเชื้อ 116 ราย เมื่อเปรียบเทียบคนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ว่าใครติดเชื้อบ้างกี่เปอร์เซ็นต์ และเปรียบเทียบคนที่ไม่ได้รับวัคซีนในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงและติดเชื้อกี่เปอร์เซ็นต์ พบว่า ประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อพอๆ กัน คือ 90.5 เปอร์เซ็นต์
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวอีกว่า เมื่อดูข้อมูลในช่วงการศึกษาของทั้งสองจังหวัด พบว่าประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคในช่วงเม.ย. และ พ.ค. ที่ในขณะนั้นสายพันธุ์อัลฟาระบาดอยู่ ไม่ใช่สายพันธุ์เดลตา จึงพบว่าประสิทธิผลดีพอสมควรในสนามจริงถึง 90 เปอร์เซ็นต์
โดยผลการศึกษาดังกล่าวดีกว่าการศึกษาจริงในประเทศอื่น และดีกว่าตอนเริ่มทำการทดลอง ทั้งในบราซิล และตุรกี อยู่ที่ 50-70 เปอร์เซ็นต์ และในตอนนั้นการระบาดก็คนละสายพันธุ์กับประเทศไทย ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
@ ผลการศึกษาประสิทธิภาพซิโนแวค ป้องกันการติดเชื้อ-ปอดอักเสบ ในบุคลการทางการแพทย์ เชียงราย
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวถึงการศึกษาในเชียงราย ที่พบการระบาดในบุคลากรสุขภาพ ช่วงเดือน มิ.ย. เป็นสายพันธุ์อัลฟา ว่ามีการติดเชื้อและตรวจบุคลากรที่มีความเสี่ยงไปเกือบ 500 ราย พบติดเชื้อ 40 ราย จึงต้องมาดูว่า จำนวนผู้ติดเชื้อมีกี่ราย และผู้ติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบกี่ราย พบค่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่เปรียบเทียบคนได้รับวัคซีน 2 เข็มครบ อยู่ที่ 88.8 เปอร์เซ็นต์ และประสิทธิผลป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ 84.9 เปอร์เซ็นต์
สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจในกรณีของเชียงราย นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า บางส่วนได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1 เข็ม ครบ 14 วัน ตามปกติแอสตร้าเซนเนก้าจะต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกันถึงประมาณ 10 สัปดาห์ โดยคนที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม จำนวน 50 ราย พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้ โดยประสิทธิภาพ 1 เข็มอยู่ที่ 83.8 เปอร์เซ็นต์
@ ผลการศึกษาประสิทธิภาพซิโนแวคทั่วประเทศ กับสายพันธุ์เดลต้า-อัลฟา
ส่วนการศึกษาที่นำฐานข้อมูลของประเทศในบุคลากรสุขภาพ นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้นำข้อมูลการติดเชื้อแต่ละเดือน และติดตามฐานข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วย เมื่อนำมาเปรียบเทียบข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศ พบว่า ในเดือน พ.ค. เป็นการระบาดสายพันธุ์อัลฟา โดยประสิทธิผลการฉีดวัคซีน 2 เข็มอยู่ที่ 71 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเดือน มิ.ย. เริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา โดยภาพรวมของประเทศอยู่ที่ 20-40 เปอร์เซ็นต์พบประสิทธิผลอยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวสรุปผลการศึกษา 4 กรณีว่า วัคซีนทุกตัวมีความปลอดภัย ส่วนประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และความเสี่ยงว่ามากหรือน้อย แต่ประสิทธิผลของโคโรนาแวคในการใช้จริงนั้น ได้ผลที่ดีพอสมควร ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา แม้ขณะนี้จะมีการระบาดของเดลตา ก็จะมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่รอให้วัคซีนมีประสิทธิผลต่ำก่อน ค่อยมาเปลี่ยนการใช้วัคซีน แต่จะมีการคาดการณ์ล่วงหน้าและปรับรูปแบบ เพราะผลทางห้องปฏิบัติการ พบว่าหากใช้วัคซีนเชื้อตาย ประสิทธิผลอาจไม่สูงมาก แม้ข้อมูลจากสนามจริง ก็ยังไม่บ่งบอก ต้องติดตามต่อไป ดังนั้น มาตรการในการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข และที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล จึงต้องใช้วัคซีนที่มีอยู่ ทั้งโคโรนาแวค และแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนอื่นๆ ที่จะเข้ามา เพื่อเพิ่มประสิทธิผลให้มากที่สุด
@ ปัญหามีหลายมิติ แก้ไขเพียงหน่วยงานเดียวไม่เพียงพอ
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษก สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการรุนแรงตกค้างอยู่บ้านที่ไม่สามารถเข้าไปดูแล หรือส่งต่อเพื่อไปรับการรักษายังโรงพยาบาลได้ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เข้าไปดูแล พบปัญหาหลัก คือ การเข้าไม่ถึง มีประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนของเขตเมือง โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ กทม.ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการได้เป็นจำนวนมาก เมื่อเจ็บป่วยไม่สบาย ก็ไม่สามารถออกมาได้ ในขณะที่ทีมช่วยเหลือจาก สธ. ร่วมกับ กทม.ก็เข้าไปไม่ถึง ในส่วนที่เข้าถึง ก็พบปัญหาที่ซับซ้อน ไม่ใช่แค่มิติที่จะเข้าไปเพื่อควบคุมโรคอย่างเดียว แต่มีหลายมิติ เช่น การดูแล รักษา ให้วัคซีนป้องกัน รวมถึงการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ถือว่าเป็นการทำงานที่มีความหลากหลายของหน่วยงาน ดังนั้นภารกิจของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในชุมชนได้
นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องอาหารการกิน ความเป็นอยู่ โดยพบในหลายพื้นที่ ลูกติดเชื้อ แต่ต้องดูแลพ่อแม่ ปู่ย่า ที่อยู่ในบ้าน ทั้งหมดนี้ จะเป็นภาพความซับซ้อนของการแก้ไขปัญหา สธ.และ กทม.ที่ได้เห็นและรับทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีความเห็นว่า ภาพการแก้ไขปัญหาต้องมีการบูรณาการทำอย่างเบ็ดเสร็จ จึงต้องมีทีมเคลื่อนที่เร็ว หรือ CCRT (Comprehensive Covid-19 Response Team) เป็นหน่วนงานเข้าไปเชิงรุก
@ CCRT ทำงานเชิงรุก ตรวจเชื้อ-รักษา-ฉีดวัคซีน
นพ.รุ่งเรือง กล่าวถึงการทำงานของ CCRT ว่า จะเข้าไปเชิงรุก เพื่อพาผู้ป่วยที่มีอาการในกลุ่มสีเหลืองหรือสีแดง ออกมาเพื่อทำการรักษาในโรงพยาบาล ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนมากเป็นกลุ่มสีเหลืองที่พร้อมเข้าสู่อาการรุนแรงจนเสียชีวิต จะต้องทำให้ผู้ป่วยไม่พัฒนาอาการไปถึงความรุนแรงของโรค ดังนั้น จึงต้องเร่งเข้าไปดูแล และต้องป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อไปแพร่ต่อให้คนอื่น การดำเนินการของ CCRT ได้เริ่มเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการปฐมภูมิจากภาคเอกชนที่มีอยู่ในพื้นที่ กทม.มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยการทำงานของทีมจะไม่ทำเป็นครั้งๆ แล้วจบไป แต่สิ่งสำคัญคือความต่อเนื่อง และมองปัญหาของประชาชนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อดูแลเสมือนเป็นคนในครอบครัว
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า การทำงานของ CCRT จะเน้นพื้นที่สำคัญ โดย กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง แต่ละพื้นที่จะคัดเลือกออกมาว่า พื้นที่ไหนบ้าง ที่เป็นปัญหามีความเร่งด่วน CCRT จะเข้าไปดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ ดูแลความเจ็บป่วย และพบว่ามีประชาชนติดอยู่ในชุมชน เพราะเข้าไม่ถึง ทีมก็จะเข้าไปดูแลรักษา มีระบบส่งต่อจากหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินไปยังโรพยาบาล อีกทั้งเข้าไปดูแลผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งด้วยมาตรการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) ให้ยา ส่งแพทย์เข้าไป โดยจะทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน เพื่อให้ทราบว่า บ้านหลังใดที่มีผู้ป่วยสีแดง หรือผู้ป่วยมีปัญหาเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทัน
@ เร่งขยาย 188 ทีม ครอบคลุม กทม.
นพ.รุ่งเรือง กล่าวด้วยว่า CCRT มีการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) โดยสื่อสารกับประชาชนว่า แม้จะให้ผลลบ แต่ก็ต้องปฏิบัติตัวเหมือนว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงหรือเป็นผู้ที่ติดเชื้อตลอดเวลา ขณะเดียวกัน พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่มีความซับซ้อน เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากไม่สามารถลงทะบียนหรือเข้าถึงระบบได้ แม้จะลงทะเบียนได้ ก็ไม่มีใครพาไป CCRT จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยการบริการฉีดที่หน้างาน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า หากไม่ได้การดำเนินการอะไรเลย ภายใน 7-14 วัน หรือ 1 เดือนข้างหน้า หากกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ติดเชื้อก็จะกลายเป็นผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต ดังนั้นการลงพื้นที่ไปเพื่อดูแลกลุ่ม 608 คือ สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ แต่วัคซีนไม่ใช่เครื่องมือเดียว การให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ ปฏิบัติตัวเสมือนว่าเป็นคนติดเชื้อแล้ว ความรู้เหล่านี้สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจ ทำได้ และเมื่อฉีดัวคซีนแล้วกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ก็จะได้รับการปกป้อง สำหรับการขยายผลเป้าหมายของ CCRT จะนำสู่ 188 ทีม เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ กทม. ดำเนินการให้ต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 2 เดือน โดย สธ.ให้การสนับสนุนชุดตรวจ ยาที่จากเดิมต้องมารับที่สถานพยาบาล ในวันนี้ CCRT จะมีแพทย์เข้าไปรักษาผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงถึงที่บ้าน พร้อมกับทีมฉีดวัคซีนเชิงรุก ทั้งนี้ จะเร่งทำงานกันอย่างเต็มที่
@ ซิโนแวคยังได้ผลอยู่-จัดหาได้เร็ว
นพ.ทวีทรัพย์ ตอบคำถาม ในช่วงที่สายพันธุ์เดลตาระบาด ดังนั้นซิโนแวคจำเป็นหรือไม่ ว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ ซิโนแวคยังได้ผลอยู่ แต่เพื่อให้มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเพิ่มภูมิคุ้มกันจึงมีการปรับการฉีดวัคซีน แทนที่จะฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ก็เปลี่ยนมาเป็นฉีดซิโนแวค และตามด้วยวัคซีนต่างชนิดกัน จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงกว่าเดิม จะสร้างความมั่นใจในการป้องกันมากขึ้น
ส่วนเหตุผลว่าที่ยังต้องใช้ซิโนแวค นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า เพราะเป็นวัคซีนที่จัดหาได้เร็ว ไม่ต้องรอคิวไปจนถึงปีหน้า หรือไตรมาส 4 ดังนั้น หากสามารถบริหารวัคซีนที่จัดหาได้ ขณะนี้มีวัคซีนหลัก คือแอสตร้าเซนเนก้า เดิมคาดว่าบริษัทจะส่งให้ได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่มีข้อจำกัด ทำให้ส่งได้เพียงแค่ 5 ล้านโดส ดังนั้นซิโนแวคก็เป็นวัคซีนที่สามารถจัดหาได้ เอามาใช้ได้เลย อย่างไรก็ตาม อนาคตจะมีการปรับใช้วัคซีนชนิดอื่นหรือไม่ อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์สายพันธุ์และขึ้นกับแต่ละช่วงเวลา จะจัดหาวัคซีนชนิดใดได้เพิ่ม เพราะการจัดหาวัคซีนต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า และที่ดำเนินการอยู่คือ mRNA ของไฟเซอร์ ที่จะมาเสริมไตรมาส 4 หลัง ต.ค. เป็นต้นไป เพราฉะนั้นในช่วงการระบาด 2-3 เดือนนี้ ต้องใช้วัคซีนที่มีอยู่ขณะนี้ให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้นในกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่จะชะลอการฉีดวันซีนยี่ห้ออื่น เพื่อรอฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ควรรีบฉีดวัคซีนที่มีอยู่ก่อนภายในประเทศ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในช่วงที่มีการแพร่ระบาดในขณะนี้ และหากวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาในประเทศแล้ว ก็สามารถฉีดเป็นเข็มที่ 3 ในส่วนของวัคซีนทางเลือกได้ต่อไป
สำหรับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่จะเข้ามา 20 ล้านโดส นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า กลุ่มแรกที่จะได้รับการฉีด คือ ประชาชนในกลุ่มเสี่ยง 7 โรค เด็ก ผู้สูงอายุ และบุคลากรทางการแพทย์ หลังจากนั้นจะพิจารณในส่วนของประชาชนทั่วไปและกลุ่มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะโควิดแม้ติดง่าย แต่ถ้าเข้าใจโควิดถ่องแท้ คนที่ติดแล้วอาการรุนแรงและเสียชีวิต มักจะเกิดในกลุ่มเสี่ยง โดยผู้สูงอายุติดเชื้อ 10 คน เสียชีวิต 1 คน ขณะที่คนทั่วไปปติดเชื้อ 1,000 คน เสียชีวิต 1 คน
@ สูตรวัคซีนสลับเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ ปชช.
สำหรับกรณีการฉีดวัคซีนซิโนแวคในเข็มที่ 1 และฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในเข็มที่ 2 นั้น นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนสูตรนี้สามรถฉีดได้กับทุกกลุ่มทั้งเด็ก ผู้สูงอายุและ สตรีตั้งครรภ์ ไม่มีผลเสีย และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ โดยฉีดเข็มแรกห่างจากเข็มที่สองอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ และยืนยันว่าสูตรนี้ไม่ได้เป็นการบังคับฉีด ในส่วนของแผนงานเดิมทั้งการฉีดวัคซีนซีโนแวค หรือ แอสตร้าเซนเนก้า ใน 2 เข็มยังคงมีอยู่ ดังนั้น สูตรนี้จึงเป็นเพียงการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนเท่านั้น
@ เดินหน้าหาวัคซีนชนิดอื่นเพิ่ม
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า สธ.กำหนดวัคซีนหลัก คือ แอสตร้าเซนเนก้า ที่เพิ่มเข้ามาคือซิโนแวคเพราะช่วงที่มีการระบาดเดือน ก.พ และเจรจาเพิ่มนำวัคซีนไฟเซอร์เข้ามา โดย 3 วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่มีสถานะสั่งจองแล้ว ส่วนที่มีการเจรจาแต่ยังไม่ได้สั่งจอง คือ จอห์นสันแอนด์หจอห์นสัน และสปุตนิก เป็นชนิดไวรัล แว็กเตอร์ โดยในส่วนของวัคซีนจอห์นสันฯ ยังไม่มีการจัดหา เนื่องจากเป็นปัญหาแหล่งผลิตของบริษัทเอง โดยบริษัทขอเลื่อนทำสัญญาสืบเนื่องจากทางโรงงานที่อเมริกามีปัญหาเรื่องแหล่งผลิต จึงไม่อยากลงนามทำข้อผูกมัด ส่วนสปุตนิกต้องรอให้มีการขั้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน
สำหรับการจัดหาสำหรับปีหน้า คาดว่ามีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่นั้น นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ได้มีการศึกษาดูว่ามีวัคซีนในแหล่งผลิตใดที่เป็นการผลิตในรุ่น 2 โดยมีการติดตามและทาบทามในเรื่องความก้าวหน้าอยู่ 3-4 บริษัทชั้นนำ เพื่อสู้กับสายพันธุ์ใหม่ในรุ่น 2 ซึ่งการเตรียมการจัดหามีกระขวบวนการตามขั้นตอน แต่สุดท้ายต้องดูสถานการร์ในพื้นที่จริง ที่จะทำให้สถานการณ์วัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage