21 ก.ค. 64 ครบ 3 ปีตามกฎหมายใหม่ ป.ป.ช. ต้องเคลียร์คดีค้างเก่าให้เสร็จ พบสำนักต่าง ๆ-ภาค แห่ส่งสรุปสำนวนให้ ปธ.ป.ป.ช. ช่วงโค้งสุดท้าย 19-20 ก.ค. หลายร้อยสำนวน เหตุหวั่นโดนโทษวินัย ด้านโฆษกฯยันมีไม่ถึง จัดวาระไว้หมดแล้ว พิจารณาให้เสร็จใน 22 ก.ค. ตั้งสอบแล้วด้วยเรื่องไหนทำไม่ทัน
...........................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 21 ก.ค. 2564 จะครบกำหนด 3 ปี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องพิจารณาคดีค้างเก่าให้แล้วเสร็จ ตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่กำหนดเวลาว่า ต้องไต่สวน และมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้เสร็จไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน กรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จ อาจขยายระยะเวลาออกไปตามที่จำเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 3 ปี เว้นแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศ หรือขอให้หน่วยงานต่างประเทศดำเนินการไต่สวนให้ หรือขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ จะขยายระยะเวลาออกเท่าที่จำเป็นก็ได้ ทั้งนี้หากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เพราะขาดอายุความ อันเนื่องมาแต่การมิได้ปฏิบัติตามระยะเวลาดังกล่าว หากพบว่าเกิดจากความผิด หรือจงใจปล่อยปละละเลย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเพื่อลงโทษผู้นั้นโดยเร็ว (อ่าน พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 ประกอบ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/052/1.PDF)
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงกรณีนี้ว่า ก่อนครบกำหนดการไต่สวนคดีค้างเก่าครบ 3 ปีในวันที่ 21 ก.ค. 2564 นั้น ในวันที่ 19-20 ก.ค. 2564 จะมีสำนักต่าง ๆ และสำนักงาน ป.ป.ช.ภาครวม 9 ภาค จะส่งสรุปสำนวนการไต่สวนไปยังประธานกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเป็นจำนวนมากหลายร้อยสำนวน เนื่องจากหากทำไม่แล้วเสร็จตามกำหนดจะต้องถูกลงโทษทางวินัย
แหล่งข่าว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีคดีค้างเก่ากระจายอยู่ตามสำนักต่าง ๆ ของ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช.ภาคจำนวนมาก ทำให้ต้องรีบเร่งสรุปสำนวนต่าง ๆ ก่อนครบกำหนด 3 ปี เพื่อส่งประธานกรรมการ ป.ป.ช. อาจทำให้สำนวนต่าง ๆ กองที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นจำนวนมากหลายร้อยสำนวน ก่อนจะมีการกลั่นกรองเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 21 ก.ค. 2564 ขณะที่ตามวาระประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเรื่องค้างอยู่หลายร้อยเรื่องเช่นกัน
“มีบางภาคบอกว่า ในวันที่ 19-20 ก.ค. 2564 จะขนไปอีกเป็น 100 สำนวนเพื่อส่งประธาน ป.ป.ช. นี่แค่ภาคเดียวเป็น 100 สำนวนแล้ว” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า ศักยภาพในการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาสำนวนนั้น ส่วนมากหากเป็นสำนวนซับซ้อน จะพิจารณาได้วันละ 4-5 สำนวน หากเป็นสำนวนเล็ก ๆ ไม่ซับซ้อน หรือเรื่องคล้ายกัน จะพิจารณาได้ราว 10 สำนวน อย่างมาก 20 สำนวน ดังนั้นการเร่งสรุปสำนวนของสำนัก และภาคต่าง ๆ อาจทำให้เกิดความปั่นป่วนในการพิจารณาสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ ที่สำคัญการเร่งรัดส่งสำนวนดังกล่าวเพื่อให้ครบก่อนกำหนด 3 ปี อาจทำให้สำนวนไม่มีความรัดกุมเท่าที่ควร และอาจพลาดข้อเท็จจริงสำคัญในสำนวนไปได้
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้มีการจัดระเบียบวาระในการประชุมไว้อยู่แล้ว คิดว่าไม่น่ามีการแห่มาส่งกันเป็นร้อย ๆ สำนวน เพราะว่าฝ่ายบริหารมีการประชุมกันอยู่ตลอด มีการตั้งตรวจสอบแล้วด้วยว่า เรื่องไหนทำไม่ทันเพราะสาเหตุอะไร เรื่องไหนทำทันในกำหนดระยะเวลาบ้าง โดยจะมีการนำสำนวนที่สรุปแล้วเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาจนถึงวันที่ 22 ก.ค. 2564
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาสำนักงาน ป.ป.ช. พบสื่อมวลชนที่จัดโดยสำนักข่าวอิศราถึงกรณีนี้ว่า ขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ช. กำลังเร่งเคลียร์สำนวนคดีที่ค้างเก่าอยู่เพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนดครบ 3 ปี ภายในวันที่ 21 ก.ค. 2564 อย่างไรก็ดีหากมีบางคดีซับซ้อนหรือล่าช้าคาดว่าไม่เกินสิ้นปีงบประมาณ 2564 (30 ก.ย. 2564)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage