ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเพิ่ม 3 จังหวัดสีแดงเข้ม 'ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-อยุธยา' ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวต่ออีก 14 วัน เริ่ม 20 ก.ค.2564
.......................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564 ราชกิจจานุเบกษา แพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด ที่ 10/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมีสาระสำคัญ ถึงการปรับพื้นที่ควบคุมคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ประกอบด้วย กทม., ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, นครปฐม, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และให้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
(ดูประกาศฉบับเต็ม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/160/T_0006.PDF)
วันเดียวกันนี้ ราชกิจจานุเบกษา แพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) เพื่อขยายเวลาบังคับใช้มาตรการจนถึงวันที่ 2 ส.ค.2564
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น
โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด ที่มีกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ซึ่งรัฐบาลโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการเพิ่มศักยภาพด้านการตรวจคัดกรอง การรักษาพยาบาลและการเร่งรัด การจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการประเมินสถานการณ์หลังการมีผลใช้ บังคับของข้อกำหนดหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ปรากฏว่ายังไม่อาจชะลออัตรา การเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอาการโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
และกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัด ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มต่อเนื่อง ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อจากการรระบาดเป็นกลุมก้อนในครอบครัว และชุมชน
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้น จากข้อกำหนดได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสาถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ข้อ 1 ความมุ่งหมายของมาตรการ เพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา
ข้อ 2 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่เสี่ยง กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร , นครปฐม , นนทบุรี , ปทุมธานี , สมุทรปราการ สมุทรสาคร , ฉะเชิงเทรา , ชลบุรี , พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
ข้อ 3 การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ของประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ยกเว้นการเดินทางออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น
สำหรับการเดินทางในบางกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์ เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การรับวัคซีนป้องกันโรค หรือมีความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงาน หรือการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้
ข้อ 4 กำหนดพื้นที่ห้ามออกนอกเคหสถานเพิ่มเติม ในระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันนับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ ใช้บังคับ
ผู้ฝ่าฝืนข้อนี้ ย่อมมีความผิดและต้องระวางโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ข้อ 5 การกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทาง เฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน
ข้อ 6 การขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงาน ที่รับผิดชอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด เป็นไปตามแนวทาง ที่ ศปก.ศบค. กำหนด โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 50 ของความจุผู้โดยสารยานพาหนะแต่ละประเภท รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ข้อ 7 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด 14 วัน ส่วนการให้บริการดังต่อไปนี้ ให้เปิดดำเนินได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
(1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เปิดได้จนถึง 20.00 น. ห้ามการบริโภคในร้าน
(2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดให้บริการได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นการให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่น ๆ ของภาครัฐ โดยเปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น.
(3) โรงแรม เปิดตามปกติ แต่งดกิจกรรม ประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง
(4) ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด เปิดได้ถึง 20.00 น. ร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการเวลา 20.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
(5) โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ ที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้
สำหรับโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่าง และอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้ำเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online) เปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น
ข้อ 8 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน
ข้อ 9 การปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ให้หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานรัฐในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน ทั้งนี้ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ พิจารณาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ข้อ 10 การบูรณาการและประสานงาน เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติลงได้โดยรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
ข้อ 11 การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนดอย่างน้อย 14 วัน จนถึงวันที่ 2 ส.ค.2564
ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2564 เป็นต้นไป เว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะตามข้อ 6 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2564 เป็นต้นไป
(ดูประกาศฉบับเต็ม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/160/T_0001.PDF)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage