ธปท.กระตุ้นรัฐเร่งฉีดวัคซีน เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ชี้มาตรการพักเงินต้น-ดอกเบี้ย เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนการลดเพดานดอกเบี้ย ‘สินเชื่อรายย่อย’ ยังอยู่ระหว่างพิจารณา แต่ระบุต้องพิจารณา ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ ด้วย
........................
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เรื่อง 'ธปท. ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ'
โดยระบุว่า ธปท.ได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนก.ค.2564 เป็นต้นไป โดยลูกหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากลูกหนี้สามารถให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของกิจการหรือการจ้างงาน จะทำให้การพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเจ้าหนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม คือ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ สถาบันการเงินจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้
สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ ควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อนหน้า ที่ควรดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืนกว่า
“การพักดอกพักต้นเป็นเลื่อนเวลาการชำระหนี้ เมื่อหมดเวลา 2 เดือนนี้ ลูกหนี้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นต่อ ซึ่งการทำตรงนี้ เราต้องการให้แน่ใจว่า ไม่ใช่ว่าจบ 2 เดือนแล้ว ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกจ่ายต้นตรงนี้ โดยเราได้ให้สถาบันการเงินยกหนี้ก้อนนี้ไปจ่ายในตอนท้าย หรือเกลี่ยจ่ายในช่วงการชำระหนี้ส่วนที่เหลือ” นายรณดล กล่าว
นายรณดล กล่าวต่อว่า ธปท.และทุกสมาคมฯ เห็นควรเร่งรัดและผลักดันให้ความช่วยเหลือตรงนี้ไปอย่างรวดเร็ว และทันท่วงที เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงนี้ ส่วนทางการเองต้องหามาตรการที่ตอบโจทย์ตรงนี้ โดยเฉพาะการทำให้ลูกหนี้มีรายได้ การเร่งฉีดวัคซีน และเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เกิดสภาพคล่อง และรายได้ขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ในการทำให้เศรษฐกิจอยู่รอดไปข้างหน้าได้
“การช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ คือ การเสริมให้เกิดรายได้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และลูกจ้าง ดังนั้น การที่เราต้องเร่งฉีดวัคซีน ต้องแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ตรงนั้นจะเป็นหัวใจสำคัญ” นายรณดล ย้ำ
นายรณดล ยังระบุว่า หลังจากสิ้นสุดอายุมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนแล้ว หากไม่มีการต่ออายุมาตรการอีก สถาบันการเงินยังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตามสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจนถึงสิ้นปี 2564
นายรณดล ยืนยันว่า ปัจจุบันฐานะการเงิน และสภาพคล่องของสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง มีสภาพคล่องส่วนเกินสูง และมีการกันสำรองเผื่อไว้สำหรับลูกหนี้ที่จะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตไว้มากพอสมควร
นายรณดล กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาปรับลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายของรัฐบาล ว่า มาตรการเรื่องดดอกเบี้ย ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เพราะการลดดอกเบี้ยอาจไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการลดภาระหนี้ของลูกหนี้ และมีข้อเสียที่ต้องพิจารณาด้วย คือ หากลดเพดานดอกเบี้ยเหล่านั้น อาจทำให้ประชาชน และลูกหนี้บางกลุ่มเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน และต้องไปกู้ยืมจากนอกระบบ โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างพิจารณายังไม่ได้ข้อสรุป
“เรื่องนี้อยู่ระหว่างพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย เพราะการลดเพดานดอกเบี้ย มีข้อที่ต้องคำนึงถึงด้วย เพราะหากลดไปแล้ว อาจมีลูกหนี้กลุ่มหนึ่งที่อาจเข้าถึงไม่ได้ และต้องไปอยู่นอกระบบ ดังนั้น ควรมาตรการอะไรมาเสริมหรือไม่ ขณะที่การลดเพดานดอกเบี้ยลงนั้น จากที่เราคำนวณแล้วพบว่า ไม่ได้ช่วยลดภาระหนี้ได้มากนัก โดยโจทย์ที่สำคัญมากกว่า คือ ต้องดูให้ครบวงจรว่า มีวิธีการอะไรที่จะลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ การเอาหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและหนี้ที่มีหลักประกันมารวมกัน เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะตอบโจทย์ระยะยาวมากกว่า และการลดดอกเบี้ยอาจไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะสามารถช่วยลูกหนี้ได้” นายรณดล ย้ำ
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกหนี้เป็นเวลา 2 เดือนดังกล่าว เป็นมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนมาตรการแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ระยะยาวนั้น ธปท.ยังเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งขณะนี้ปัญหาที่สำคัญของลูกหนี้ คือ เรื่องรายได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ทั้งเรื่องรายได้ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคต่างๆ
“ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้อยู่ ขอให้เดินหน้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป ส่วนสถานการณ์นี้จะยาวนานหรือไม่ เราประเมินว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาวนาน แต่เราขอแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ซึ่งในระหว่างนี้ ธปท.จะติดตามและพร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น” น.ส.สุวรรณี กล่าว
อ่านประกอบ :
พักเงินต้น-ดอกเบี้ย 2 เดือน! ธปท.จับมือ 3 สมาคมแบงก์ เยียวยาลูกหนี้ถูกสั่งปิดกิจการ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/