เหนือผู้ใหญ่ยังมีกำนัน! ‘ชวน’ ปัดตอบรอยร้าวกระแสข่าวพรรคร่วม รบ.จ่อถอนตัว ผายมือให้ไปถามฝ่ายบริหาร ขอไม่ก้าวล่วง-พูดชี้นำ เล่าย้อนช่วงเป็นนายกฯ เคยยุบสภามาแล้วเพราะพรรคร่วมถอนตัว แต่เป็นวิถีปกติประชาธิปไตย
...............................................................
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยตามกลไกแล้วนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่สามารถยุบสภาหรือลาออกได้หรือไม่ว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาที่มีการงดประชุมนี้สามารถดำเนินการได้ กระบวนการเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับว่าจะต้องยื่นเข้ามา คณะทำงานในสภาฯทำงานตามปกติ ยกเว้นไม่มีการประชุมวันพุธและวันพฤหัสบดี ส่วนการประชุมอื่น ๆ ยังคงมีอยู่แต่เป็นลักษณะทางซูม
เมื่อถามว่า หากมีพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะทำให้ยุบสภาได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า อย่าไปสมมติเลย ต้องไปถามฝ่ายบริหาร
เมื่อถามย้ำว่า สถานการณ์ตอนนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวค่อนข้างมาก นายชวน กล่าวว่า ขอให้ไปถามฝ่ายบริหารดีกว่า
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นแกนนำหรือผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มองเรื่องนี้อย่างไร นายชวน กล่าวว่า เหนือผู้ใหญ่ยังมีกำนัน อย่าไปให้ความเห็นเลย ขอให้ไปคุยกับฝ่ายบริหารและพรรคการเมืองดีกว่า เพราะว่าทุกพรรคมีผู้นำและผู้บริหารพรรคอยู่ ไม่ขอไปพูดอะไรที่เป็นการก้าวก่าย หรือล้ำหน้า แต่ในกระบวนการประชาธิปไตย การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีทุกสมัยประชุมสามัญ ถือเป็นเรื่องปกติ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่บริหาร ฝ่ายตรวจสอบก็มีหน้าที่ตรวจสอบ ถือเป็นภารกิจของแต่ละฝ่าย
เมื่อถามอีกว่า ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ทำให้นายกฯ ต้องประกาศลาออก และยุบสภา จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า สมัยแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีมีพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว มีการอภิปรายก่อนลงมติ ขณะนั้นพรรคร่วมรัฐบาลได้ถอนตัวก่อน ทำให้ต้องยุบสภา เป็นเรื่องปกติของวิถีประชาธิปไตย หมายถึงกระบวนการที่เกิดช่องให้ทำได้ในกรณีนั้น
เมื่อถามว่า เมื่อครั้งตัดสินยุบสภานั้น มีปัจจัยมาจากสถานการณ์บ้านเมืองหรือปัจจัยทางการเมืองหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ปัจจุบันหากมีปัญหาเรื่องฝ่ายบริหาร ต้องสอบถามฝ่ายบริหาร จะให้ไปก้าวล่วงหรือพูดชี้นำ หรือไปวิจารณ์ก็ไม่เหมาะสม
เมื่อถามว่า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของบ้านเมืองตอนนี้ การเปลี่ยนฝ่ายบริหารถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ให้ความเห็นไปแล้วว่าแต่ละฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนเอง ปัญหาบ้านเมืองเป็นของคู่กันเสมอ ไม่มากก็น้อย อย่าไปแปลกใจ ดังนั้นจะต้องมีรัฐบาล ข้าราชการ ต้องมีแต่ละฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบในภารกิจของแต่ละฝ่าย โครงสร้างบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ จึงต้องตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาและบริหารบ้านเมือง แต่กลุ่มเดียวทำไม่ได้ จึงต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายบริหาร หากพิจารณาอย่าถ่องแท้ก็เห็นว่าแต่ละองค์กรต่างกำหนดหน้าที่ของแต่ละองค์กรเพื่อให้สมประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง แสดงให้เห็นว่าทุกองค์กรมีบทบาทภารกิจของตนเองเพื่อจะได้แก้ปัญหาของตนเองให้สมบูรณ์ขึ้น ดังนั้นความสมดุลของปัญหาที่แต่ละองค์กรต้องปฏิบัติจึงมีส่วนสำคัญมาก
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายชวน จาก https://www.thaipost.net/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage