ราชกิจจานุเบกษา แพร่คำสั่ง ศบค.ปรับระดับพื้นที่สีจังหวัดตามสถานการณ์ กำหนดเวลาเคอร์ฟิว 3 ทุ่ม-ตี 4 กทม.-ปริมณฑล เปิดซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารถึง 2 ทุ่ม เฉพาะซื้อกลับบ้าน จับตาคนปล่อยข่าวบิดเบือน ศบค.เผย 10 จังหวัดสีแดงต้องมีใบอนุญาตก่อนออกนอกพื้นที่ เริ่ม 12 ก.ค. เป็นต้นไป
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2564 ราชกิจจานุเบกษา แพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด ที่ 9/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมีสาระสำคัญ ถึงการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ โดยพื้นที่ควบคุมคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม ยังมี 10 จังหวัดคงเดิม ประกอบด้วย กทม. นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง จากเดิม 19 จังหวัด ปรับให้เป็น 24 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตาก นครนายก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุทัยธานี
พื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม จากเดิม 16 จังหวัด ปรับให้เป็น 25 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ ชุมพร ตรัง ตราด บุรีรัมย์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สตูล สระแก้ว สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี
พื้นที่เฝ้าระวังสีเขียว จากเดิม 39 จังหวัด ปรับให้เป็น 18 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ นครพนม น่าน บึงกาฬ พะเยา พังงา แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร ยโสธร แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น (อ่านประกาศฉบับเต็ม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/154/T_0007.PDF)
วันเดียวกันนี้ ราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกาหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) โดยมีใจความสำคัญว่า การระบาดของโควิดได้ทวีความรุนแรง จนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนใต้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อโรค เพิ่มขึ้นในอัตราสูงมาก ประกอบกับเชื้อโรคกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์และสามารถแพร่กระจายได้ง่าย อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่อาจกระทบต่อประเทศไทย ยังอยู่ในระดับที่รุนแรงจนไม่อาจวางใจได้ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็ว จึงกำหนดมาตรการที่มุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคล
สำหรับมาตรการสำคัญ มีทั้งหมด 12 ข้อ ดังนี้
1. ปรับปรุงพื้นที่จังหวัดตามสถานการณ์
2. ให้ประชาชนในพื้นที่เขต กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ห้ามออกจากเคหสถาน ในระหว่างเวลา 21.00 -04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกาหนดฉบับนี้บังคับใช้
3. ให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่านเตรียมพร้อมรับแจ้งเบาะแส เหตุฉุกเฉิน และเข้าปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องที่อาศัยช่วงเวลาวิกาลละเมิดกฎหมายด้วย
4. ให้บุคคลเพื่อการสาธารณสุข การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน การให้บริการหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และการประกอบอาชีพที่จำเป็น ได้รับการยกเว้นห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 -04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ส่วนกรณีจำเป็นอื่นๆ จะต้องได้รับการอนุญาตเป็นรายเฉพาะจากเจ้าพนักงาน
5. ในกรณีที่สมควรเพิ่มเติมข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เสนอผ่านศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศปก.ศบค.) เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุญาต
6. ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เต็มความสามารถที่จะทำได้ และให้เอกชน เจ้าของกิจการ หรือผู้รับผิดชอบสถานประกอบการ พิจารณาสนับสนุนปรับรูปแบบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรในสังกัด เพื่อลดการเคลื่อนย้ายและเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในองค์กร
7. ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เปิดดำเนินการได้ตามเงื่อนไขเวลาต่อไปนี้
- ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม เปิดดำเนินการได้จนถึง20.00 น. โดยอนุญาตให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น
- ห้างสรรพสินค้า หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เปิดดำเนินการได้จนถึง 20.00 น. โดยอนุญาตให้เปิดบริการเฉพาะซูเปอร์มาร์เกต ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ธนาคาร สถาบันการเงิน ร้านจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ สถานที่จำหน่ายอุปกรณ์มือถือและการสื่อสาร
- ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ให้ปิดดำเนินการ 20.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
- สวนสาธารณะ เปิดให้บริการได้ถึง 20.00 น.
- สถานประกอบการนวดแผนไทย รวมทั้งบริการนวดฝ่าเท้า สปา สถานเสริมความงาม และสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้ปิดดำเนินการ
- ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี
- โรงเรียน และสถานศึกษาต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้
8. ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท ปิดการให้บริการตามกรอบเวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
9. ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น พร้อมให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองเดินทางเข้ามออกกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนใต้
10. การสนับสนุนให้ใช้สมุนไพรไทยเพื่อการรักษาตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดตั้งสถานพยาบาลชั่สคราวและศูนย์พักคอยรอการส่งตัว เพิ่มจุดตรวจคัดกรอง และเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
11. การนำเสนอข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นความผิด
12. ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ เป็นระยะเวลา 14 วัน
(อ่านประกาศฉบับเต็ม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/154/T_0001.PDF)
@ ไม่ห้ามเข้า กทม.-10 จังหวัดสีแดงออกนอกพื้นที่ต้องมีใบอนุญาต
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กล่าวในการแถลงรายงานวันสถานการณ์การโควิด ถึงการเดินทางในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดงวด 10 จังหวัด เช่น การเข้ามารับวัคซีนใน กทม.จะเดินทางเข้ามาได้หรือไม่ ว่า ถ้าในเรื่องสาธารณสุข สามารถเดินทางเข้ามาใน กทม.ได้ ทั้งนี้ ตามประกาศการขอความร่วมมือห้ามเดินทางข้ามจังหวัดจะเป็นในส่วนของ 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่หลีกเลี่ยงออกไปนอกจังหวัด ยกเว้น 10 จังหวัดนี้ หากเดินทางไปต่างจังหวัดก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อกำหนดที่จะเกิดขึ้นกับจังหวัดปลายทาง แต่หากจะต้องไปรับวัคซีนข้ามจังหวัดก็ต้องมีเหตุมีผลที่จะชี้แจงได้ หรือถ้ามีใบอนุญาตโดยมีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านรับรองก็จะดียิ่งขึ้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage