สธ.เผยช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา พบเด็กติดเชื้อ 884 ราย มีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 0.2% ถือว่าพบเพิ่มขึ้น แต่ไม่ต่างจากเดิมมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่พบการติดเชื้อมาจากครอบครัวและชุมชน ไม่ใช่โรงเรียน ชี้การปิดโรงเรียนอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แนะให้ทำตามมาตรการ DMHTT-ประเมินความเสี่ยงผ่านไทยเซฟไทย และ Thai Stop Covid +
...........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2564 นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวประเด็นการติดเชื้อในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และการดูแลเด็กปฐมวัย ว่า สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันพบเด็ก ครู และบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ ติดโควิดในช่วงวันที่ 14 มิ.ย.- 4 ก.ค.2564 จำนวน 903 ราย แบ่งเป็น เด็กอายุ 0-19 ปี จำนวน 884 ราย ครู 18 ราย และบุคลากรอื่นๆ 1 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 12,382 ราย
หากจำแนกผู้ติดเชื้อเด็กตามช่วงอายุ จะพบว่า ช่วงอายุ 0-4 ปี พบผู้ติดเชื้อ 179 ราย และในช่วงอายุตั้งแต่ 5-19 ปี พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 200 ราย แต่หากดูตามพื้นที่ของการระบาด พื้นที่ที่พบการระบาดเกินกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งยังไม่มีการเปิดให้เรียนภายในสถานศึกษา หรือ ONSITE สะท้อนให้เห็นว่าการติดเชื้อโดยส่วนใหญ่ใน กทม. ไม่ได้มาจากการติดเชื้อภายในโรงเรียน แต่มาจากครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก
ส่วนในภาพรวมของประเทศ จะพบการติดเชื้อของนักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก มีบ้างที่ติดเชื้อในโรงเรียน เช่น จังหวัดมหาสารคาม คลัสเตอร์ในจังหวัดยะลา ศูนย์เด็กเล็กที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดขอนแก่น
"ผลการประเมินพฤติกรรมของนักเรียนที่ติดเชื้อ พบว่า หากเทียบอัตรานักเรียนที่ติดเชื้อกับผู้ใหญ่จะตกอยู่ที่ประมาณ 8-10% เท่านั้น แต่ในช่วงหลังอาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง ด้วยสายพันธุ์เดลต้าที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาทิ การที่ผู้ปกครองออกไปทำงานข้างนอกแล้วนำเชื้อเข้ามาติด เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังไม่ต่างจากเดิมเท่าไร" นพ.สราวุฒิ กล่าว
ส่วนมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขให้ไว้เพียงพอหรือไม่นั้น นพ.สราวุฒิ กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจห้องเรียนในสถานศึกษาจำนวนหนึ่ง พบว่าห้องเรียนที่มีนักเรียนประมาณ 40 คน มาเรียนด้วยกัน 10 วัน แต่ติดเชื้อประมาณ 4-5 คน คิดเป็นอัตรา 0.2% เท่านั้น ถือว่าไม่ค่อยเยอะ โดยคนที่ติดเชื้อ คือนักเรียนที่นั่งใกล้ชิดกับเพื่อนเท่านั้น หรือนักเรียนที่ไปรวมในที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น ไปห้างสรรพสินค้ากับผู้ปกครอง ส่วนคนอื่นๆที่ไม่ติดเชื้อ พบว่ามีการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอยู่ตลอดเวลา
"สรุปผลการศึกษาได้ว่าเด็กอายุ 0-19 ปี จำนวน 11,495 คน ติดเชื้อในโรงเรียน 30 คน คิดเป็น 0.2% และมีปัจจัยสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อในโรงเรียนคือการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ลดความแออัด และการเว้นระยะห่าง แสดงให้เห็นว่าการควบคุมมาตรการภายในโรงเรียนสามารถทำได้ดี การสั่งปิดโรงเรียนจึงอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด" นพ.สราวุฒิ กล่าว
โดย นพ.สราวุฒิ ได้ยกตัวอย่างผลการศึกษาในการใช้มาตรการคุมโควิดของสถานศึกษาในต่างประเทศ ที่ตีพิมพ์ล่าสุดใน Lancet ว่า ข้อมูลจากจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่าการปิดโรงเรียนไม่ได้มีส่วนในการควบคุมการระบาด เนื่องจากการแพร่เชื้อในโรงเรียนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่มีส่วนสำคัญต่อการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศ ขณะที่มีการศึกษาจากสหราชอาณาจักรด้วยว่า การปิดโรงเรียนช่วยลดการติดเชื้อโควิดได้เพียง 5.6% ใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ ถือว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ
นอกจากนั้นการปิดโรงเรียนยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อพัฒนาการในการศึกษา ด้านโภชนาการ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และค่าใช้จ่านอื่นๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางหรือเด็กในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องมาโรงเรียนและได้รับอาหารเช้าและกลางวัน ดังนั้นการจะปิดโรงเรียนท่ามกลางสถานการณ์การระบาดที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อใด เราควรจะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ดังนั้นจะแนะนำให้ปิดโรงเรียนำเมื่อเกิดการแพร่ระบาดในเด็กที่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่
@ เน้นย้ำมาตรการ DMHTT - ประเมินความเสี่ยง คุมโควิดในสถานศึกษา
สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานศึกษา ถ้าเสี่ยงต่ำให้ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือ DMHTT ได้แก่ การสวมหน้ากากอยนามัยหรือหน้ากากผ้า การเว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิ และแสกนไทยชนะก่อนเข้าออกสถานที่ โดยไม่ต้องกักตัว และไปเรียนได้ตามปกติ แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ให้ปฏิบัติตาม DMHTT อย่างเคร่งครัดและให้แยกกักตัว
ส่วนการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนสามารถเลือกจัดได้ใน 5 รูปแบบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาเรียนภายในสถานศึกษาอย่างเดียว พร้อมเน้นย้ำนักเรียนและครูประเมินความเสี่ยงผ่าน ไทยเซฟไทย และโรงเรียนต้องประเมิน Thai Stop Covid+ ด้วย นอกจากน้นยังเน้นย้ำการตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานศึกษาให้รวดเร็วที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดของโควิดในสถานศึกษา
@ 'พ่อ-แม่'ดูแลลูกติดโควิดได้
นพ.สราวุฒิ ชี้แจงถึงการระบาดที่พบมาในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยว่า เด็กเล็กเมื่ออยู่ด้วยกัน เขาจะไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ ดังนั้นมาตรการที่ สธ. เน้นย้ำให้ทำ คือ การประเมินความเสี่ยง หากพบว่าเด็กมีความเสี่ยงสูง เราจะไม่แนะนำให้มา พร้อมให้ปฏิบัติตามแนวทางหรือข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
กรณีที่มีเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยติดเชื้อ ต้องทำอย่างไรนั้น นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า จะต้องปรับศูนย์เด็กเล็กเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยผู้ปกครองสามารถเข้ามาดูแลได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเด็กที่มีอายุน้อยเรื่องสุขภาพกายและใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก รวมถึงยังมีการเตรียมพร้อมส่งต่อเด็กไปยังโรงพยาบาลเมื่อมีอาการมากขึ้นด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/