คณะที่ปรึกษา ศบค. มีมติ ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นำร่องให้บุคลากรแพทย์ที่รับ 'ซิโนแวค' ครบ 2 โดส 'หมออุดม' ย้ำใช้ได้ทั้ง 'ไฟเซอร์-แอสตร้าฯ' พร้อมยืนยัน ประสิทธิภาพวัคซีนทุกชนิดแตกต่างกัน แต่ยังป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 90% ทุกยี่ห้อ ขณะเดียวกันพบข้อมูลว่า สายพันธุ์เดลต้า ระบาดเร็วกว่าเดิม 40% ทำไทยเข้าสู่ระลอก 4 แล้ว
----------------------------------------------------------
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เข็มที่ 3 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดียไปแล้ว 96 ประเทศ สำหรับประเทศไทยเฉพาะเดือน มิ.ย.-ก.ค. พบสายพันธุ์เดลต้าประมาณ 30% จากทั่วประเทศ แต่เฉพาะใน กทม.และปริมณฑลพบประมาณ 50% อย่างที่ทราบว่า สายพันธุ์อัลฟ่าหรือสายพันธุ์อังกฤษระบาดได้เร็วกว่าเชื้อดั้งเดิมจากเมืองอู่ฮั่นประมาณ 60-70% แต่สายพันธุ์เดลต้า ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า 40% จึงเป็นเหตุผลว่าเราคาดการณ์ว่าอีก 1-2 เดือนทั้งไทยและทั่วโลก จะเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด นอกจากนั้นเชื้อตัวนี้ไม่ได้มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า แต่มาลักษณะพิเศษที่จะทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่ต้องการออกซิเจน หรือมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำได้เร็วขึ้น หรือเกิดภาวะปอดอักเสบได้เร็วขึ้น อย่างสายพันธุ์อัลฟ่า ใช้เวลา 7-10 วันถึงจะกลายเป็นปอดอักเสบ จึงจะใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่สายพันธุ์เดลต้าใช้เวลา 3-5 วันก็จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
“ท่านลองคิดดูว่า เมื่อมีคนติดเชื้อมาก ความต้องการเตียงก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ต้องการเตียงผู้ป่วยหนัก ต้องการเตียงไอซียูเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าตอนนี้ เราตึงมากเรื่องเตียง โดยเฉพาะเตียงสีแดง ถ้าเราปล่อยเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้ระบบสาธารณสุขอยู่ไม่ได้” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวอีกว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อกลายพันธุ์จะทำให้เกิดการดื้อต่อภูมิที่จากวัคซีน เดิมเรามีวัคซีนเป็นตัวควบคุมการระบาด และวัคซีนเราทำจากสายพันธุ์เดิมที่อู่ฮั่น ซึ่งได้ผลดีมาก แต่เมื่อมีการกลายพันธุ์ประสิทธิภาพประสิทธิผลของวัคซีนจึงได้ลดลงอย่างชัดเจน นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า การกลายพันธุ์เป็นผลทำให้ดื้อต่อภูมิที่เกิดจากวัคซีน ไม่ใช่ว่าวัคซีนไม่ดี แต่มันกลายพันธุ์ไป นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องหาวัคซีนรุ่นใหม่ที่จะครอบคลุมตัวกลายพันธุ์ทั้งหลาย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี เขากำลังทำอยู่ไม่ว่าจะเป็น แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค แม้แต่ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ก็กำลังทำอยู่ คาดว่าเร็วสุดอาจจะปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งในการพิจารณาสั่งซื้อวัคซีนต่อไปข้างหน้า ฉะนั้นระหว่างที่รอ ต้องหากระบวนการที่จะให้บูสเตอร์ (วัคซีนเข็มที่ 3) เพื่อให้ภูมิมากขึ้นพอที่จะต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์
“ขอย้ำอีกทีว่า เรื่องวัคซีน ไม่ใช่เพราะว่าผมมาแถลงเพราะ 2-3 วันที่ผ่านมามีแต่ข่าวเราวัคซีน คณะกรรมการชุดเราคุกยันมา 2-3 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเรื่องเข็ม 3 หรือเข็ม 1 สลับกับเข็ม 2 อะไรก็แล้วแต่ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ออกข่าวอย่างเป็นทางการ ส่วนข่าวที่ท่านได้ก็เป็นข่าวที่เล็ดลอดไป ไม่ได้มีข้อมูลถูกต้องครบถ้วน วันนี้ถึงได้ต้องมาแถลง” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
@ สายพันธุ์ใหม่ ทำภูมิคุ้มกันลด - วัคซีนทุกชนิดป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงเกิน 90%
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อมูลวัคซีนที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เมื่อเจอโควิดกลายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์เดลต้า และ สายพันธุ์เบต้าหรือสายพันธุ์แอฟริกา ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง ดังนี้ ข้อมูลจากประเทศอังกฤษ ที่ใช้วัคซีน 2 ชนิด คือ ไฟเซอร์ และ แอสตร้าเซนเนก้า พบว่า ไฟเซอร์ 2 เข็ม เจอสายพันธุ์เดลต้า การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 7.5 เท่า เจอสายพันธุ์เบต้า การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 2.5 เท่า แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เจอสายพันธุ์เดลต้า การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 4.3 เท่า เจอสายพันธุ์เบต้า การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 9 เท่า ส่วนกรณี ซิโนแวค เนื่องจากอังกฤษไม่ได้ใช้ จึงมีข้อมูลจากประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำร่วมกับศูนย์วิจัยจุฬาฯ พบว่า ซิโนแวค 2 เข็ม เมื่อเจอสายพันธุ์เดลต้า การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 4.9 เท่า
“ตัวที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีที่สุดคือ mRNA คือ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา จะมีภูมิต้านทานขึ้นระดับหลักพันถึงหมื่นยูนิต รองลงมาเป็นแอสตร้าเซนเนก้าหลักพันต้นๆ ซิโนแวคจะเป็นหลักหลายร้อยปลายๆ มันจะประมาณนี้ หากดูความสามารถในการกระตุ้นภูมิต้านทาน ต้องยอมรับว่า mRNA ดีที่สุด รองลงมาเป็นแอสตร้าเซนเนก้า รองลงมาเป็นซิโนแวค แต่หากพูดถึงการป้องกันโรค ไฟเซอร์ จะป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ลดลงจาก 93% เหลือ 88% แอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ลดลงจาก 66% เหลือ 60%” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
แต่ที่สำคัญคือการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ไฟเซอร์ทำได้ 96% แอสตร้าเซนเนก้าได้ 92% ทางสถิติถือว่าไม่แตกต่างกัน นี่คือสิ่งที่อยากย้ำให้เห็นว่า การป้องกันแม้จะลดลง แต่การป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงยังได้ผลสูงมาก ส่วนซิโนแวค ข้อมูลน้อย เราไม่มีข้อมูลว่าป้องกันได้เท่าไร แต่หากเที่ยบจากภูมิต้านทานที่เราดู เราคิดว่ามันคงป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ไม่ดีแน่ แต่ซิโนแวค 2 เข็มจะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ได้มากกว่า 90% ในข้อมูลของหลายประเทศที่ใช้ซิโนแวค รวมถึงไทยที่เราเก็บข้อมูล จ.ภูเก็ตที่มีการฉีดซิโนแวคเยอะที่สุด” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า ตรงนี้เราเองต้องทำความเข้าใจใหม่ วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีน ไม่มีทางป้องกันได้ 100% แน่ และแต่ละวัคซีนมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่สำคัญก็คือ แม้ไม่สามารถป้องกันได้ หรือประสิทธิภาพการป้องกันลดลง แต่ประสิทธิภาพการป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงยังสูงมากเกิน 90% แม้จะเป็นซิโนแวค นี่เป็นประเด็นสำคัญที่อยากจะย้ำ
“เมื่อดูข้อมูลตอนนี้ คนในโลก 50 คนติดโควิด จะเสียชีวิต 1 คน สิ่งที่ป้องกันได้คือวัคซีน เราป้องกันได้ประมาณ 60-70% โดยเฉลี่ยเท่านั้น ดังนั้นท่านต้องใส่แมสก์ ล้างมือบ่อยๆ ใช้แอลกอฮอล์เจล เป็นสิ่งที่สำคัญมากจริงๆ” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
@ ผู้ติดเชื้อบางคน หายป่วยแล้ว ไม่มีภูมิต้านทาน
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวต่อด้วยว่า ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา เก็บข้อมูลคนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 3.7 ล้านคน พบว่าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ยังติดเชื้อโควิด 0.1% ดูเหมือนน้อย แต่เมื่อคูณจำนวนเป็นล้านคน ยังถือว่ามาก ส่วนที่อินเดีย สำรวจคนฉีดแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม ยังพบการติดเชื้อโควิด 0.2%
“เนื่องจากตอนนี้เรามีข้อมูลเพิ่มขึ้น เราพบว่าภูมิต้านทานตกลงอย่างรวดเร็ว หลัง 3-6 เดือนหลังจากติดเชื้อ บางคนพบว่าไม่มีภูมิต้านทานขึ้นเลย บางคนเจ็บป่วยรุนแรง ใส่เครื่องช่วยหายใจ 40-50 วัน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เรียกว่าจะเอาชีวิตไม่รอด ก่อนเดินทางกลับจากโรงพยาบาลศิริราช เราตรวจหาภูมิต้านทาน พบว่าภูมิต้านทานเป็นศูนย์ ไม่มีภูมิต้านทานเลย มันเป็นอย่างนี้ เพราะมีหลายอย่างที่เราไม่รู้ เนื่องจากเป็นไวรัสใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ก่อนกลับเราได้ฉีดวัคซีนให้ท่านไปด้วย อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนมีภูมิต้านทานขึ้นแน่ มากบ้างน้อยบ้างตามชนิดวัคซีน แต่สำคัญคือมันปกป้องท่านได้ อย่าไปกังวลว่ามากหรือน้อย” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
@ เคาะฉีดเข็ม 3 นำร่องกลุ่มแพทย์ที่รับ 'ซิโนแวค' ครบ 2 โดส
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว ตอนนี้นักวิจัยที่ออกซ์ฟอร์ด เก็บข้อมูลพบว่า เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้ว ระยะเวลาที่ภูมิต้านทานลดลงครึ่งหนึ่ง หรือที่เรียกว่า half-life ใช้เวลา 3-4 เดือน ดีงนั้นถ้าลดลงครึ่งหนึ่ง มันอาจจะป้องกันไม่ได้ เพราะถ้าคนนั้นภูมิต้านทานไม่ได้สูงมาก นี่เป็นเหตุผลอันหนึ่งว่า ทำไมเราจึงต้องการเข็มที่ 3 ขณะนี้มี 2 ประเทศที่เริ่มมีการฉีดเข็มที่ 3 คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ บาห์เรน เขาฉีดซิโนแวค 2 เข็มแรก ส่วนเข็มที่ 3 ฉีดซิโนฟาร์ม เพราะเขาหาอย่างอื่นไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันก็กระตุ้น แต่อาจจะกระตุ้นไม่ได้มาก เพราะจากข้อมูลที่เรามีอยู่ หากจะกระตุ้นมาก ต้องเป็นวัคซีนที่ต่างชนิดกัน หรือคนละแพลตฟอร์ม ส่วน ซิโนแวค และ ซิโนฟาร์ม เป็นเชื้อตาย ต้องกระตุ้นในแพลตฟอร์มอื่น เช่น แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ตอนนี้ขอย้ำว่า เรายังไม่มีข้อมูลตรงนี้ มีข้อมูลน้อยมาก และยังไม่มีประเทศไหนเป็นทางการที่มีการฉีดเข็มที่ 3 หลักการสำคัญคือ ขอให้ฉีดเข็มที่ 1 – 2 ให้ได้ครบก่อน เข็มแรกการป้องกันอาจจะน้อย แต่เข็มที่สองจะช่วยในการป้องกันได้แน่นอน โดยเฉพาะชื้อสายกลายพันธุ์ได้แน่นอน ถ้าเป็น ไวรัลเว็กเตอร์ หรือ mRNA แต่ต้องยอมรับว่า ชนิดเชื้อตาย หรือ ซิโนแวค หลังเข็มที่ 2 ก็ป้องกันการติดเชื้อได้น้อย แต่ไปป้องการเจ็บป่วยรุนแรงได้
“ตอนนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ ตอนนี้ประเทศเรา มีแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ส่วนโมเดอร์นากำลังจะเข้ามา ฉะนั้นกรุณาฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็มให้ได้ตามกำหนด อย่าเพิ่งไปนึกถึงเข็มที่ 3 ผมขอพูดจากทางวิชาการ กรณีท่านฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ต้องเว้นห่าง 3 เดือน ท่านอย่าเพิ่งไปจองวัคซีนเข็มที่ 3 เพราะท่านจะได้ mRNA รุ่นเก่า และเมื่อท่านฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ต้องเว้นไป 6 เดือน ท่านจะได้ mRNA รุ่นใหม่ ผลข้างเคียงต่างๆจะน้อยลง และมีความปลอดภัยมากกว่า” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวต่อด้วยว่า ยกตัวอย่างประเทศไทยเรามีซิโนแวค เมื่อฉีด 2 เข็มไปแล้ว มี half-life ประมาณ 3-4 เดือน ต้องการฉีดเข็มที่ 3 แน่นอน โดยการประชุมเมื่อ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มที่ใช้ ซิโนแวคมากที่สุด คือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งตอนนี้กำลังมีระยะห่างจากการฉีดเข็ม 2 ประมาณ 3-4 เดือน ขณะนี้เรามีมติชัดเจนว่า กลุ่มนี้จะต้องได้ฉีดเข็ม 3 ก่อนซึ่งจะเป็น แอสตร้าเซนเนก้า หรือ mRNA ก็ได้ เพราะตอนนี้เราจะได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส แต่ยังไม่รู้จะมาเมื่อไร แต่แอสตร้าเซนเนก้าเรามีอยู่ก็จะฉีดให้ไปก่อน
“มีข้อมูลจากออกซ์ฟอร์ดว่า เขาทำเข็มที่ 3 คือ ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เว้นไป 6 เดือน ฉีดเข็มที่ 3 พบว่า กระตุ้นภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น 6 เท่าและปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงอะไรมากมาย ฉะนั้นสำหรับคนฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ขอให้ฉีดให้ครบก่อน แล้วเว้นไป 6 เดือน แล้วจะฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 หรือจะเปลี่ยนไปใช้ mRNA ก็ได้ ส่วนกรณีฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ประมาณ 3-4 เดือนควรได้เข็มที่ 3 ที่เป็นแพลตฟอร์มอื่น คือ แอสตร้าเซนเนก้า หรือ mRNA อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า ยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่กำหนดแนวทาง แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกก็ยังไม่ได้ออกมาบอกว่า ต้องฉีดเข็มที่ 3 ยังไม่มีนะครับ ตอนนี้เราให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กับ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ วิจัยดูว่าตัวไหนจะดีที่สุดสำหรับการฉีดเข็มที่ 3 อีกประมาณ 1 เดือนถึงจะรู้ผล จะเป็นผลการศึกษาแรกๆในโลกนี้ และไทยจะเป็นประเทศแรกๆในโลกที่จะกำหนดแนวทางว่า การฉีดเข็มที่ 3 จะใช้อย่างไร และขอย้ำว่า ไม่ได้ใช้สำหรับคนทั่วไป ข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้คือ ใช้สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งคือบุคลากรทางการแพทย์” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวต่อด้วยว่า นอกจากบุคลากรทางการแทพย์ 7 แสนคน ยังมีกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในกลุ่มโรคต่างๆ ที่ควรจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 สรุปตอนนี้เข็มที่ 3 สำคัญแน่นอน แต่ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งไปลดเกรดซิโนแวค แม้เราจะรู้ว่าการป้องกันประสิทธิภาพน้อยลงก็จริง แต่มันลดเจ็บป่วยรุนแรงไม่ได้ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์นัก ตรงนี้สำคัญ ท่านฉีดไปก่อน แล้วต่อไปฉีดเข็ม 3 ขอให้รอคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข เราจะประชุมกันเพื่อกำหนดตรงนี้ออกมาให้ประชาชนได้ทราบ
“ตอนนี้เขากำลังศึกษากันอยู่ที่ออกซ์ฟอร์ด เพื่อจับคู่วัคซีน ข้อมูลเบื้องต้นที่ออกมา หากแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มภูมิต้านทานขึ้น 1,300 ยูนิต แต่ถ้าเป็นไฟเซอร์เข็ม 1 แอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 5 เท่า แต่ถ้าแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 1 ไฟเซอร์เข็ม 2 ภูมิต้าทานเพิ่มขึ้น 9 เท่า ถ้าเป็นไฟเซอร์ 2 เข็ม ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น 10 เท่า แต่ทั้งหมดยังเป็นการทดลอง ยังไม่ได้เป็นข้อกำหนดใดๆ ทั้งสิ้น” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อวานที่ประชุมตกลงกันชัดเจน ตั้งคณะทำงาน เอาผู้เชี่ยวชาญทั้งประเทศมาดูกันว่า วัคซีนรุ่นใหม่มีตัวไหนที่จะมีแนวทางที่ดีที่จะได้ผลดี และเราจะได้รีบไปจองก่อน เพราะน่าจะออกมาช่วงต้นปี 2565 ไปแล้ว นี่คือสิ่งที่เราเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ เราจะประชุมกันเรื่องสลับเข็มวัคซีน กับวัคซีนรุ่นใหม่ และจะแถลงข่าวที่โรงพยาบาลราชวิถี ช่วงเวลาประมาณเที่ยง
“ความเห็นส่วนตัวของผม ถือว่าขณะนี้เป็นการระบาดระลอก 4 เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่ เป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นส่วนใหญ่ ที่พฤติกรรมไม่เหมือนเดิม นอกจากนั้นคุณสมบัติสำคัญคือ มันแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว องค์กร โดยหาที่มาที่ไปไม่ได้ อันนี้เข้ากับคำจำกัดความของการระบาดระลอกใหม่ ผมถือว่าเป็นระลอก 4 แล้ว ถามว่ามันจะจบเมื่อไร เรายกระดับมาตรการแล้วดีขึ้นหรือไม่ ขอให้ท่านเข้าใจว่า ยกระดับมาตรการต้องทำ แต่เรายังไม่ได้ยกระดับมาตรการสูงสุด และกว่านจะเห็นผลก็ต้องอย่างน้อย 14 วัน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มเห็นผล ค่อยประเมินอีกทีหนึ่งว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้เราต้องการเห็นตัวเลขไม่เกินวันละ 500-1,000 ราย อย่างนั้นเราสู้ไหว แต่บอกตรงๆ ว่าระดับตอนนี้เราสู้ไม่ไหว สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือ เพิ่มมาตรการส่วนบุคคล และมาตรการสังคมให้มากกว่านี้ และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ครบ 2 เข็มให้ได้เกิน 70% ให้ได้ ตรงนี้สำคัญที่สุด” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage