ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,420 พันราย รวมสะสม 294,653 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย ด้าน ศบค.เผยสายพันธุ์เดลต้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่พบ 6 คลัสเตอร์ใหม่ใน 5 จังหวัด ส่วนกทม.เจออีกที่ในสถานพยาบาล เขตราชเทวี ติดเชื้อ 47 ราย ทำให้ต้องเฝ้าระวังอีก 116 คลัสเตอร์
-----------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ติดป่วยรายใหม่ 5,420 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,375 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 4,070 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,305 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 37 ราย และอีก 8 ราย เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 294,653 ราย หายป่วยเพิ่ม 3,586 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 65,297 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 2,350 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 643 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 2,333 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 57 ราย มาจาก กทม. 33 ราย สมุทรปราการ 4 ราย นครปฐม ระยอง ปทุมธานี ชลบุรี สงขลา และสระบุรี จังหวัดละ 2 ราย เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก สมุทรสงคราม นราธิวาส ปัตตานี สกลนคร และนครพนม จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 35 ราย หญิง 22 ราย มีอายุระหว่าง 25 - 91 ปี
โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ประกอบด้วย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคตับ มะเร็ง หลอดเลือดสมอง โรคปอด โรคเลือด และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มาจากในครอบครัว คนอื่นๆ ได้แก่ เพื่อนร่วมงาน เพื่อน ลูกค้า อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด เข้าไปในสถานที่แออัดพลุกพล่าน เช่น โรงพยาบาล เรือนจำ พิธีทางศาสนา ตลาด และโรงงาน และมีอาชีพเสี่ยง เช่น ค้าขาย
โดย 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 1,492 ราย สมุทรสาคร 398 ราย สมุทรปราการ 318 ราย ชลบุรี 266 ราย ปัตตานี 262 ราย นนทบุรี 242 ราย ปทุมธานี 208 ราย นครปฐม 206 ราย ยะลา 135 ราย และสงขลา 132 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากจากต่างประเทศ ทั้งหมด 8 ราย แบ่งเป็น กัมพูชา 1 ราย เอธิโอเปีย 1 ราย มาเลเซีย 3 ราย และเมียนมา 3 ราย
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ค.2564 พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 217,375 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 63,267 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 11,058,390 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 8,022,029 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 3,036,361 ราย
ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก จำนวน 8,022,029 ราย คิดเป็นความครอบคลุมทั้งประเทศได้ 16% ซึ่งสามารถจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย บุคลากรการแพทย์ จำนวน 765,906 ราย คิดเป็น 107.6% เจ้าหน้าที่ด่านหน้า จำนวน 665,129 ราย คิดเป็น 35% อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน จำนวน 319,009 ราย คิดเป็น 31.9% ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง จำนวน 806,588 คิดเป็น 15.1% ประชาชนทั่วไป จำนวน 3,907,074 คิดเป็น 13.7% และผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1,558,323 คิดเป็น 12.5%
"การกระจายวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ถือว่ายังต่ำ ขอให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีน ในวันที่วัคซีนกำลังมา ขณะนี้วัคซีนกำลังกระจายไปในหลายพื้นที่แล้ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พบอัตราการเสียชีวิตสูง สำหรับประชาชนในวัยหนุ่มสาว ขอให้เข้าใจถึงเหตุผลในการให้กลุ่มนี้ก่อน" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
@ โควิดสายพันธุ์เดลต้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดว่า ปัจจุบันยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักมีเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้เตียงระยะเวลาประมาณ 14 วันหรือมากกว่านั้น ทำให้อัตราการนอนในโรงพยาบาลเรามีข้อจำกัดมากขึ้นทุกที โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากการพบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า โดยเฉพาะใน กทม.ที่พบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) และเดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย)
"ภาพรวมของทั้งประเทศเชื้อโควิดยังคงเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า แต่ที่กทม.พบสายพันธุ์เดลต้าเป็นส่วนใหญ่แล้วถึง 52% สำหรับแนวโน้มการระบาดของสายพันธุ์เดลต้ารายสัปดาห์ ในภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้น 32.2% แต่หากแบ่งเป็น ส่วนกทม.จะพบว่าเพิ่มขึ้นถึง 52% ถือว่าสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใน กทม. เพราะเมื่อช่วงเดือน เม.ย.-20 มิ.ย. มีเพียง 22.5% เท่านั้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก จึงขอให้ระมัดระวังดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้เข้มข้นขึ้น เพราะทฤษฎีการแพร่ระบาดที่ว่าอย่าอยู่ในห้องแอร์ร่วมกันเกิน 15 นาทีเป็นของปีที่แล้ว เมื่อไวรัสปรับตัวเอง เราก็ต้องปรับตัว ข้อแนะนำให้ใส่หน้ากากสองชั้นจึงเป็นเรื่องจริง" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ส่วนภาพรวมการกระจายสายพันธุ์เดลต้า จะเห็นว่าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เกิดการติดเชื้อกระจายไปทั่วจังหวัด โดยเชื้อเริ่มแพร่มาจากการแคมป์คนงานกทม. เขตหลักสี่ และ และจากมาตรการคุมเข้มแคมป์ของรัฐ ที่ทำให้คนงานเริ่มเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อไปรับการรักษาตัว
ขณะที่อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ยังเป็นกังวล อย่าง สายพันธุ์เบต้า (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) จะพบการกระจุกตัวการแพร่เชื้ออยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และขึ้นมา จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ชลบุรี ในบางพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
@ พบ 6 คลัสเตอร์ใหม่ ใน 5 จังหวัด - กทม.เจอใหม่อีกในสถานพยาบาล
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับการระบาดใน กทม. มีรายงานพบคลัสเตอร์ใหม่ในเขตราชเทวี ที่สถาบันประสาทวิทยา เนื่องจากมีการค้นหาผู้ป่วย (Active Case Finding) ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มเติมในกลุ่มพนักงงานที่เป็นแรงงานข้ามชาติในศูนย์อาหาร และเจ้าหน้าที่บุคลากรการแพทย์หลายแผนก จำนวน 47 ราย ส่งผลให้ กทม. ต้องเฝ้าระวัง 116 คลัสเตอร์
ส่วนการระบาดในจังหวัดอื่นๆ พบคลัสเตอร์ 6 ใหม่ กระจาย 5 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อรวม 160 ราย ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร พบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานผ้าอ้อม อ.เมืองสมุทรสาคร ติดเชื้อ 9 ราย จังหวัดชลบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ในแคมป์ก่อสร้าง อ.บางละมุง ติดเชื้อ 12 ราย จังหวัดนนทบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ในชุมชนหลังเมเจอร์ อ.ปากเกร็ด ติดเชื้อ 44 ราย จังหวัดปทุมธานี พบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานอะลูมิเนียม อ.ธัญบุรี ติดเชื้อ 19 ราย และพบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานเสื้อผ้า อ.อแม่สอด จังหวัดตาก อ.แม่สอด ติดเชื้อ
@ ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 336,323 สะสม 184,923,557 ราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 336,323 ราย รวม 184,923,557 ราย อาการหนัก 77,740 ราย หายป่วย 169,292,139 ราย เสียชีวิต 4,000,520 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 4,405 ราย รวม 34,598,361 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 23 ราย รวม 621,335 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 34,067 ราย รวม 30,618,939 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 552 ราย รวม 403,310 ราย บราซิล พบเพิ่ม 22,703 ราย รวม 18,792,511 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 754 ราย รวม 525,229 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 65 ของโลก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/