อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้เอกสารบันทึกการประชุมที่ระบุถึงการคัดค้านวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 ให้บุคลากรการแพทย์ เป็นเอกสารปลอม พร้อมย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการให้วัคซีนในบุคลากรการแพทย์ ยันบุคลากรการแพทย์ต้องปลอดภัยจากการปฏิบัติงานสู้โควิด
................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา จากกรณีมีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุมของคณะกรรมการด้านวิชาการ ในสื่อสังคมออนไลน์ถึงการคัดค้านการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 3 ให้บุคคลากรการแพทย์ โดยระบุว่า ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่มบุคลากรการแพทย์ แสดงว่าเรายอมรับว่าวัคซีนซิโนแวคไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น ทำให้มีการใช้ #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ แสดงความเห็นในทวิตเตอร์มากกว่า 6.7 แสนครั้ง โดยส่วนใหญ่เรียกร้องให้ภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มคนในที่ประชุม ช่วยมองเห็นคำสำคัญของบุคลากรการแพทย์ให้ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อน เนื่องจากเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับโรคร้าย
ล่าสุด ในวันที่ 5 มิ.ย.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2564 ที่กรมควบคุมโรค เป็นการประชุมด้านวิชาการ 3 คณะ คือคณะกรรมการวิชาการใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคใน พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน และคณะกรรมการวิชาการการวิจัย มีวัตถุประสงค์ต้องการความเห็นทางวิชาการที่หลากหลาย เพื่อนำข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมการชุดที่รับผิดชอบต่อไป เพื่อให้ความเห็นชอบ นำไปสู่ข้อสั่งการ ก่อนมีการนำเสนอต่อ ศบค. เพื่อทราบ ให้ความเห็นชอบ และนำไปปฏิบัติต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในห้องประชุมและผ่านระบบออนไลน์
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่าเอกสารที่ถูกเผยแพร่บนสื่อออนไลน์นั้น ไม่ใช่เอกสารจริง ไม่ใช่ความเห็นอย่างเป็นทางการของที่ประชุม และไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเอกสารสรุปการประชุม การเข้าร่วมประชุมย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกัน การนำเอาข้อความใดข้อความหนึ่งไปเผยแพร่ จำเป็นต้องพิจารณาตามบริบทด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่น
ส่วนการหารือและพิจารณาเรื่องวัคซีนนั้น เนื่องจากสถานการณ์วัคซีนเปลี่ยนแปลงเร็ว องค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ เช่น การกลายพันธุ์ของเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ต้องทำการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปปรับรูปแบบการใช้ให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงประสิทธิผล ความปลอดภัยของวัคซีนเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน
"นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการให้วัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ย้ำว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องปลอดภัยจากการปฏิบัติงานสู้โควิด ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทางวิชาการในการนำไปบริหารจัดการสิ่งที่เหมาะสมให้บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุดมอบให้ทันเวลา” นพ.โอภาสกล่าว
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า การได้รับการสนับสนุนวัคซีนนั้น มาจากการประสานงานระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ชาติ ที่ผ่านมา เคยได้รับการสนับสนุนทำนองนี้แล้ว อาทิ การสนับสนุนวัคซีนจากญี่ปุ่น มีเงื่อนไขคือ ห้ามจำหน่ายต่อ สำหรับการรับการสนับสนุนล็อตนี้ ก็ต้องไปดูรายละเอียดชัดๆ จากกระทรวงต่างประเทศว่า มีเงื่อนไขอย่างไร
ส่วนเอกสารที่มีการวิพากษ์ วิจารณ์ เป็นเอกสารภายใน จากการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ เป็นความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในทางปฏิบัติ ความเห็นต่างๆ จะถูกบันทึกเอาไว้ ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการวิชาการ มีอาจารย์แพทย์ ซึ่งแต่ละท่านเสียสละเวลาเข้ามา เพื่อให้ความเห็น เพื่อให้ทัศนะ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว ก็ต้องไปพิจารณากันอีกหลายชั้นว่าจะปฏิบัติแบบไหน
"ทั้งหมด เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น เป็นความเห็นของคณะกรรมการคนหนึ่ง ในทั้งคณะ เมื่อเป็นรูปแบบของคณะกรรมการจึงไม่ได้ให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ ส่วนจะนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดเป็นเข็มที่ 3 ให้บุคลากรแพทย์หรือไม่ เป็นเรื่องวิชาการ ขอรอให้คณะกรรมการวิชาการได้ข้อสรุปออกมาก่อน" อนุทิน กล่าว
@ รพ.เอกชนสั่งจอง'โมเดอร์นา'เกิน 4 ล้านโดส เตรียมประสานจองเพิ่มรอบผลิตปี 65
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การฯ ขอยืนยันว่าวัคซีนที่จะรับจากบริษัทซิลลิค ฟาร์มา ตัวแทนของโมเดอร์นาในช่วงแรกไตรมาส 4 ปี 2564 และไตรมาส 1 ปี 2565 ได้เพียง 5 ล้านโดสเท่านั้น ส่วนที่มีการนำเสนอข่าวว่ามีการสั่งจองวัคซีนดังกล่าวถึง 9 ล้านโดสนั้น เป็นจำนวนทั้งหมดที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้สำรวจความต้องการหรือมีการจองอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่จะได้รับจากบริษัทซิลลิคอย่างเป็นทางการในช่วงแรกนี้
"5 ล้านโดส เป็นจำนวนที่จะได้รับจากซิลลิค ส่วนอีก 4 ล้านโดสเป็นความต้องการที่เกินจำนวนกว่าวัคซีนที่จะได้รับ ซึ่งในส่วนความต้องการที่เกินเพิ่มมานี้ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบร่วมกันไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยองค์การฯ ได้ประสานการจองวัคซีนจำนวนที่เกินมานี้สำหรับรอบการผลิตในปี 2565 ไว้กับบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัดเพิ่มเติมแล้ว รอการยืนยันจำนวนที่จะได้รับการจัดสรรที่ชัดเจนจากบริษัทต่อไป" นพ.วิฑูรย์ กล่าว
สำหรับแนวทางการจองวัคซีนของแต่โรงพยาบาลนั้นได้มีแนวทางร่วมกันว่า ให้แต่ละโรงพยาบาลรับการจองวัคซีนจากประชาชนที่ประสงค์จะฉีดจริง ๆ มีการแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน และไม่มีการเก็งกำไรจากการให้บริการนี้ เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายภายใต้ข้อจำกัดของจำนวนวัคซีนที่ได้รับมา
"ขอย้ำว่า การดำเนินการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นาทุกขั้นตอนเป็นไปตามแผนที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน แม้มีบางรายละเอียดต้องดำเนินการเพิ่ม การดำเนินงานยังเป็นไปตามกรอบเวลาของแผน อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ ต้องข้อเรียนย้ำว่า บริษัทซิลลิคยังคงยืนยันว่าจะส่งวัคซีนได้ตามกำหนดเดิมคือ ไตรมาส 4 ปี 2564 และไตรมาส 1 ปี 2565 และขอให้ติดตามข่าวสารความจริงเรื่องวัคซีนจาก 3 องค์กรหลัก คือ องค์การเภสัชกรรม สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และบริษัทซิลลิค เท่านั้น” นพ.วิฑูรย์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/