เปิดตัวสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติอย่างเป็นทางการ เดินหน้ากำกับดูแลกันเองทุกแพลตฟอร์ม ส่งเสริมเสรีภาพบนความรับผิดชอบ เผยทำงานเชิงรุก รับเรื่องร้องเรียนประชาชน เตรียมระบบติดตามการพิจารณา กำกับดูแลด้านจริยธรรม 'ดร.สมเกียรติ' ยกโมเดลต่างชาติ ตั้งโจทย์มาตรการผสมกำกับดูแลกันเองเพื่อความปลอดภัย-ประโยชน์ ด้านเวทีเสวนาหนุนฟื้นความเชื่อมั่นสื่อในยุคที่เปลี่ยนแปลง
..............................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2564 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 24 ปี โดยมีพิธีเปิดตัวสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติอย่างเป็นทางการ และลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กับ WISESIGHT (Thailand) Co., Ltd จัดทำ Sosical Listening เพื่อสนับสนุนกระบวนการกำกับดูแลด้านจริยธรรม โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบันภูมิทัศน์ของสื่อมวลชนไทยและทั่วโลก ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โดยเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิตัล โดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจึงได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ จึงได้ยกระดับขึ้นมาเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน ในยุคที่สื่อต่างๆ ปรับเปลี่ยนเป็นสื่อออนไลน์เกือบทั้งหมด โดยในวันนี้ เป็นการเปิดตัวสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ได้มีการก่อตั้งสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรรวมของสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน และร่วมกันผลักดันให้เกิดสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้น เป็นองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลกันในด้านจริยธรรม
นายชวรงค์ กล่าวถึงภารกิจที่สภาการสื่อมวลชวนแห่งชาติว่า ภารกิจที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว คือ การยกร่างข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้สามารถควบคุมบังคับใช้ได้กับสื่อมวลชนทุกประเภท หรือทุกแพลตฟอร์ม สำหรับภารกิจต่อไป คือ การทบทวนแก้ไขข้อบังคับอื่นของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อาทิ ข้อบังคับว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ต้องปรับให้มีความทันสมัย และสามารถตอบสนองผู้บริโภคสื่อในยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว และสำหรับประสิทธิภาพการกำกับดูแลในด้านจริยธรรมของสมาชิก ถือว่าเป็นภารกิจหลักของสภาการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วย การกำกับดูแลจริยธรรมในเชิงรุก คือการมีกลไกในการสอดส่อง และรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิก ว่ามีการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนในเรื่องใดหรือไม่อย่างไร นับเป็นขั้นตอนก่อนจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับเรื่องร้องเรียน และการกำกับดูแลในเชิงรับ หรือการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย ผู้ที่เห็นว่าสื่อมวลชนกระทำการละเมิดจริยธรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
นายชวรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับกลไกการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ทั้งในส่วนที่มาจากการทำงานเชิงรุกหรือการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนนั้น สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติต้องการที่จะสานต่อกลไกเดิมที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้วางรากฐานไว้ คือกลไกการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรของสมาชิก มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนและปรับปรุงกลไกในส่วนนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ขณะนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติกำลังดำเนินการวางระบบการติดตามเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการร้องเรียนหรือระบบ tracking เพื่อให้ผู้ร้องเรียนและผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าของการพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้นๆ ได้ตามกรอบเวลาที่ธรรมนูญของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติกำหนดไว้
นายชวรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนงานด้านสมาชิก สภาการศึกษาแห่งชาติยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้สมาชิกทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถปรับตัวทั้งทางธุรกิจ และเนื้อหาให้สามารถดำรงอยู่ได้ ภายใต้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือและการฝึกอบรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่องค์กรสมาชิก
นายชวรงค์ กล่าวถึงการทำงานในด้านต่างประเทศว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังคงทำหน้าที่สานต่อในการเป็นภาคีสมาชิกของเครือข่ายสภาสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Councils Network: SEAPCN) ต่อไป โดยร่วมมือกับสภาสื่อมวลชนในภูมิภาค ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนอินโดนีเซีย สภาการสื่อมวลชนเมียนมาร์และสภาการสื่อมวลชนติมอร์เลสเต พร้อมทั้งเตรียมการขยายความร่วมมือไปยังสภาการสื่อมวลชนในประเทศอื่นๆ อีก
"จากการที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนรวม ทั้งส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทยภายใต้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมาอย่างยาวนานกว่า 23 ปี จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในองค์กรวิชาชีพหลักที่ทำหน้าที่ส่งเสริมเสรีภาพของสื่อมวลชนให้ทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้หลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้น ไม่ว่าภูมิทัศน์ของสื่อจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติในวันที่ทำหน้าที่มาครบ 24 ปีนั้น ก็จะยังคงทำหน้าที่เดินหน้า จรรโลงไว้ซึ่งการส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนวิชาชีพในประเทศไทย สามารถปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักเสรีภาพ และความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป" นายชวรงค์ กล่าว
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
ทั้งนี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง เทคโนโลยีสื่อในอนาคต กับความท้าทายการกำกับดูแล ว่า ในปัจจุบัน เทคโนโลยีสมัยใหม่ นำความท้าทาย มาสู่การกำกับดูแลสื่อมวลชน โลกออนไลน์มีความรวดเร็วในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารได้ง่ายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ก็มีความเสี่ยง ในสถานการณ์โควิด การแพร่กระจายของเชื้อ ถือว่าเป็นการติดต่ออย่างรวดเร็ว โดยอัตราการแพร่กระจายของเชื้อ คิดเป็น 2-3 สำหรับสายพันธุ์เดิม และ 6-8 สำหรับสายพันธุ์เดลต้า แต่การกระจายข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ เป็นไปได้รวดเร็วกว่า เนื่องจากมีตัวกลางในการเผยแพร่ข่าวนะครับสำหรับแพลตฟอร์มแพลตฟอร์ม ตัวอย่างเช่น ปรากฎการณ์ Bieber Fever มีการแจกคลิปวีดีโอของ Justin Bieber นักร้องชื่อดัง มีอัตราการแพร่กระจายได้ถึง 24 เป็นพลานุภาพของการกระจายข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งความรวดเร็วของการกระจายข่าวสารนับว่าเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ปัญหา ถ้าเป็นข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือน ไม่เป็นเท็จ หรือสร้างความเกลียดชัง แต่ที่เป็นปัญหาในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากการกระจายของข่าวปลอม ข่าวที่มีการบิดเบือนความจริงกระจายออกไป
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ในระบบนิเวศในภูมิทัศน์ใหม่ สิ่งที่จะเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร คือ แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ เช่น Google YouTube Facebook Twitter ทั้งหมดนี้ คือศูนย์กลางของข่าวสารในโลกใหม่ ในภูมิทัศน์สื่อในยุคของดิจิตอล เพราะฉะนั้นการที่จะบริหารจัดการการกำกับดูแลสื่อ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องสัมพันธ์กับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาข่าวสาร ข้อความที่มีปัญหาในสื่อออนไลน์ เป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนมาก ไม่สามารถทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน วิธีเดียวได้ จะต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างการกำกับดูแลโดยรัฐ และรับการกำกับดูแลตนเองของธุรกิจที่เกี่ยวข้องไปจนถึงการสร้างความเข้าใจความเป็นตัวของสังคมให้มีทักษะในการเช็คสื่อ เพื่อที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาได้ โดยทั้ง 3 เรื่องนี้จะต้องไปพร้อมกัน แต่จะมีหนักไปทางในส่วนใดมากน้อยอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงตัวอย่างการกำกับดูแลสื่อ ว่า มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1) การกำกับตัวเองของสหรัฐ 2) การกำกับโดยกฎหมายของประเทศในยุโรป และ 3) การกำกับโดยรัฐของจีน ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยนั้น มาไกลเกินกว่าจะใช้รูแแบบของจีน ดังนั้น ต้องหาส่วนผสมระหว่างรูปแบบของสหรัฐอเมริกาและแบบของยุโรป โดยในรูปแบบการกำกับโดยกฎหมายของประเทศในยุโรปนั้น อยู่ในกระบวนการระหว่างการออกกฎหมายบริการดิจิทัล (Digital Service Act) จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการกำกับสื่อออนไลน์ครั้งใหญ่ โดยแบ่ง ผู้เกี่ยวข้องเป็น 4 กลุ่ม คือ ตัวกลางสื่อสาร ผู้ให้บริการโฮสดิ้ง แพลตฟอร์ม และแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ หากตัวกลางสื่อสารนำเสนอเนื้อหาผิดกฎหมาย ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ข้อมูลเท็จ ทำให้ปัญหาจะถูกยกเว้นความรับผิดชอบ หากมีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือศาลก็จะต้องจัดการลบทิ้ง โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลสถิติการลบทิ้งให้สาธารณชนได้รับทราบ ส่วนแพลตฟอร์มจะต้องมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและจัดการโดยเร็ว รวมทั้งระงับบริการผู้ใช้ที่สร้างปัญหา ขณะที่แพลตฟอร์มขนาดใหญ่จะต้องมีกลไกประเมินความเสี่ยง
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงกลไกของสหรัฐในการกำกับตัวเอง ว่า เนื่องจากสิทธิการแสดงออกได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ จึงเน้นไปที่กำกับดูแลกันเอง ไม่มีการปิดกั้นแต่ก็ยังมีการถกเถียงว่าเรื่องไหนที่รัฐควรจะเข้าไปแทรกแซงหรือไม่ และไม่มีข้อปฏิบัติที่ชัดเจน แต่ในส่วนของ Cass R Sunstein ผู้เขียนหนังสือ Liars falsehoods and free speech in an age of deception ได้กล่าวถึงประเด็นที่ไม่ควรยอมให้เกิดการเผยแพร่ว่า ต้องมีเนื้อหาที่มีเจตนาร้าย สร้างความเสียหายใหญ่โต แก้ไขได้ยากด้วยเวลาน้อย เพราะเดิมจะใช้วิธีการแก้ไขด้วยการให้เนื้อหาที่ถูกต้องเข้าไปหักล้างเนื้อหาที่เป็นเท็จ แต่หากแก้ไขได้ยากหรือต้องใช้เวลาอาจไม่ทันการ
สำหรับตัวอย่างที่น่าสนใจในสหรัฐอเมริกา คือ ผู้ประกอบการ เฟซบุ๊ค และ ทวิตเตอร์ ทำการแบนบัญชีของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการชั่วคราวจากการโพสต์หนุนม็อบก่อจลาจล โดยกลไกของเฟซบุ๊ก มีคณะกรรมการ Oversight Board มาจากบุคคลที่มีชื่อเสียง 20 คน มานั่งเป็นประธานร่วม และมีองค์คณะ 5 คน มีกรอบเวลาการพิจารณา 90 วัน ได้รับงบสนับสนุน 130 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นกลไกการทำงานที่เข้าไปจัดการเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง ที่มีเรื่องเข้ามาปีละหลายล้านครั้ง และทุกครั้งที่ลบข้อความก็จะมีการบันทึกและสามารถอุทธรณ์ได้ ถือว่าเป็นโมเดลใหม่ ขณะที่ในส่วนของประชาชนก็ต้องมีการสร้างความรู้เท่าทันสื่อให้ประชาชนด้วย จากข้อมูล ของ OECD พบว่า เด็กไทยได้รับการสอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์สูงกว่าประเทศพัฒนา แต่ในทางปฏิบัติกลับยังขาดทักษะจริง การจัดการอีเมลที่เป็นสแปมอยู่ที่ลำดับ 77 จาก 78 ประเทศ สอดรับกับคะแนนการอ่านที่ลดลงต่อเนื่อง
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากนี้ โลกออนไลน์ยังเต็มไปด้วยเนื้อหาที่เป็นเท็จ ควรสร้างทักษะรู้เท่าทันสื่อทั้งการย้อนไปดูต้นเรื่องที่มา ตรวจความน่าเชื่อถือแหล่งที่มา สอบทานกับแหล่งที่น่าเชื่อถือ ระวัง Deep Fake เช็คกับหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไทยก็มี Cofacts รวมทั้งสร้างความสมดุลในการบริโภคข่าวออนไลน์ โลกเรากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านสื่อ เกิดสื่อออนไลน์ มีการกระจายข้อมูลอย่างรวดเร็วมากกว่าการกระจายของเชื้อโรคด้วยซ้ำ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในหลายรูปแบบ โดยประเทศไทย มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วน มีดำริที่จะยกร่างโดยยึดกฎหมายจากสหภาพยุโรปเป็นต้นแบบ ส่วนภาคธุรกิจก็จะมาจากต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ค ก็จะมีข้อกำหนดจากประเทศเขาติดมา หรือ แพลตฟอร์ม ที่มีทั้งแพลตฟอร์มเปิด และ ปิด อย่างไลน์ การตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นเท็จก็ทำได้ยากและง่ายแตกต่างกัน บทบาท องค์กรวิชาชีพสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็จะช่วยกันเติมเต็ม นอกจากกฎหมายที่จะออกมา แต่บางธุรกิจอาจไม่ทำตาม ทั้งหมดนี้โจทย์เปิดให้ช่วยกันพิจารณาว่าจะมีมาตรการผสมกันอย่างไรเพื่อกำกับดูแลสื่อให้ปลอดภัยและเป็นประโยชน์กับสังคมมากที่สุด
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ภายในงาน ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ เทคโนโลยีสื่อในอนาคต กับความท้าทายการกำกับดูแล โดยนายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard กล่าวว่า การตัดสินใจเข้ามาร่วมกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หัวใจหลักที่อยากเข้ามา คือเรื่องความน่าเชื่อถือที่ต้องการยกระดับมาตรฐานให้เท่ากับพี่ๆ ในวงการสื่อ โดยสื่อใหม่ๆ อาจเน้นความคิดสร้างสรรค์ แต่คนที่เป็นสื่อต้องเน้นความน่าเชื่อถือ มีจรรยาบรรณ และพิสูจน์ด้วยตัวเอง อีกด้านหนึ่งคือการรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง เช่น การผลักดันกฎหมายหรือต่อต้านกฎหมายบางประเภท โดยหลักการแล้ว ไม่ควรให้รัฐมากำกับสื่อ เพราะสื่อควรจะมีเสรีภาพในตัวเอง แต่เมื่อโจทย์เปลี่ยนชัดความคิดแบบเดิม ความน่าเชื่อถือแต่ก่อนไม่เหมือนปัจจุบัน หัวใจสำคัญการกำกับดูแล คือ การล้อมกรอบตีกรอบ ทำอย่างไรที่จะจูงใจคนทำสื่อออนไลน์ให้เข้ามาในสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทุกวันนี้ ใครก็เป็นสื่อได้ ทำยังไงให้คนที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นสื่อมืออาชีพเข้ามา อาจต้องหาแรงจูงใจ เพราะบางเพจที่ช่วงวิกฤตยังช่วยหาเตียงให้คนป่วยด้วยนั้น ย่อมมีการนำไปสู่เรื่องของอารมณ์ โดยไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิด เพราะแม้แต่ช่วงม็อบ ก็ไม่สามารถรายงานข่าวให้ถูกใจทุกคนได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดว่าจะสร้างกลุ่มก้อนที่มีความน่าเชื่อถือของสื่ออย่างไรให้ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลง
"ปัจจุบัน สื่อถูกคาดหวังและต้องแบกรับความคาดหวัง เกิดปรากฏการณ์ Call Out ให้สื่อนำเสนอข่าวบางข่าว ไม่เสนอจะถือว่าผิด ดาราเองก็โดนเยอะ ซึ่งบางประเด็นสื่อมี แต่ไม่ได้พูดเพราะจรรยาบรรณ กฎหมาย แต่ผู้บริโภคเองก็มีการกดดันสื่อ แม้แต่เรื่องไลฟ์สดที่เป็นความท้าทาย ก็ใช้วิธีไต่เส้นลวด ไม่ได้มีหลักปฏิบัติตายตัว แต่ก็ใช้วิธีพากย์ทับ หรือหันกล้องไปทางอื่นเวลาเกิดประเด็นล่อแหลม โดยอีกโจทย์ใหญ่คือแเรื่องของธุรกิจที่จะทำให้เกิดการอยู่รอดโดยต้องทำให้เกิดความสมดุล ถือเป็นความท้าทาย แต่เชื่อว่าสุดท้ายเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน คนดูก็จะกลับมาหาสื่อมืออาชีพ" นายนครินทร์กล่าว
ด้าน นายณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ beartai.com กล่าวว่า อาจกล่าวได้ว่าสื่อออนไลน์มีบทบาท มากกว่าสื่อเก่า เพราะทุกคนเสพข่าวผ่านสื่อออนไลน์ และเส้นแบ่งสื่อเก่ากับใหม่แทบหายไป เกิดหลอมรวม นำข่าวออนไลน์ไปอ่านในโทรทัศน์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีที่มีการรวมตัวกันให้มีพลังมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง แต่ในแง่การทำงาน จากเดิมที่เคยมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ ที่มี บรรณาธิการคอยตรวจสอบความถูกต้อง พอเป็นสื่อออนไลน์ที่ แข่งขันในความเร็วเป็นหลัก บรรณาธิการส่วนใหญ่ ไม่ได้ตรวจสอบข่าวทุกชิ้น
นายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในการควบคุมกำกับกันเองของสื่อ เมื่อมีสมาชิกรายใดกระทำผิดก็ใช้วิธีเดินออกไป จากที่เคยเป็นกรรมการในสมาคมสื่อ พยายามประเมินจุดอ่อนและแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้น เพราะหากองค์กรสื่อไม่ศักดิ์สิทธิ์การกำกับกันเองจะได้ผลแค่ไหน และมีคนอยากให้ใช้กฎหมายเข้มงวดเพราะคุณกำกับกันเองไม่ได้ วันนี้มีการยกระดับ มีสมาชิกสื่อออนไลน์ มี เดอะแสตนดาร์ด เข้ามา คนอื่นเริ่มเข้ามาก็จะสะท้อนให้เห็นความน่าเชื่อถือที่มากกว่าเดิม เป็นนิมิตหมายที่ดี โดยการกำกับกันเองเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการขับเคลื่อนในนามองค์กรก็จะมีพลัง จากที่อยู่ในวงการนี้มานานหัวใจสำคัญของสื่อคือความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่คนทำสื่อคือทำให้สังคมเชื่อถือ ข้อมูลต้องได้มาตรฐาน คนชำนาญทักษะเฉพาะด้าน เช่น Data Journalism มีการตรวจสอบข่าวป้องกันไม่ให้เกิดเฟคนิวส์
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่สื่อคาดหวังคือการกำกับตัวเองของสื่อ แต่หากมาดูบริบทของสื่อเวลานี้ไม่ใช่ว่าทุกองค์กรมีมาตรฐานระดับเดียวกัน อีกทั้งจากการเปลี่ยนไปสู่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีตัวแทนจากสื่อเก่า สื่อออนไลน์ มาร่วม แต่ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่สื่อเท่านี้ ยังมี ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ อีกทั้ง จากการสอบถามข้อมูลทำงานวิจัยจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน หลายคนไม่ได้สนใจสื่อแค่สื่อในองค์กรวิชาชีพ
"ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อก็ต้องมาคุยกันว่าระบบภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป องค์ประกอบที่มีอยู่นั้นครบถ้วนหรือยัง ตรงนี้เป็นความท้าทายถ้าเราจะกำกับตัวเอง ซึ่งคงไม่อยากให้ภาครัฐเข้ามากำกับเหมือนประเทศจีน แต่ก็ต้องถามว่าการกำกับตัวเองนั้นเวลานี้เราพร้อมแล้วหรือยัง" ผศ.ดร.วิไลวรรณกล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage