'แอฟริกาใต้'อนุมัติใช้งานวัคซีนซิโนแวคหวังลดการบาดเจ็บ-เสียชีวิตจากโควิด ด้าน'สหรัฐฯ'ลดระดับเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์เอฟซีลอน เน้นสายพันธุ์เดลต้า แต่วารสารวิทยาศาสตร์เตือนไวรัสสามารถลดประสิทธิภาพวัคซีน mRNA
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์อันเกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสว่าทางด้านของนายมาโมโลโกะ คุบาอิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้ได้มีการออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ว่าทางประเทศแอฟริกาใต้นั้นได้มีการอนุมัติวัคซีนซิโนแวคเพื่อที่จะใช้ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 แล้ว ในขณะที่สถานการณ์ตอนนี้นั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเป็นอัมพาต และมีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 60,000 ราย
“ผมขอแสดงความยินดีที่หน่วยงานของประเทศเราได้รับรู้ถึงความเร่งด่วนนี้ ซึ่งรวมไปถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการลดเวลาเกี่ยวกับการประมวลผลการลงทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ” นายคุบาอิกล่าวในแถลงการณ์
โดยการระบาดของไวรัสโควิดนประเทศแอฟริกาใต้ที่ถือว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของทวีปแอฟริกานั้นกำลังกลายเป็นภาระหนักให้กับโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยเฉพาะในนครโจฮันเนสเบิร์ก ทำให้บุคลากรทางการแพทย์นั้นต้องทำงานหนักในการที่จะหาเตียงให้ได้จำนวนเพียงพอกับจำนวนคนไข้ที่มีอาการหนัก
ขณะที่การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า โดยมีรายงานว่ามีการฉีดวัคซีนไปได้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร หรือก็คือประมาณ 3.3 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 60 ล้านคน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมของประเทศตอนนี้เกิน 2 ล้านคนไปแล้ว
“การอนุมัติในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังพยายามที่จะดำเนินโครงการฉีดวัคซีนแบบขยาย เพื่อให้เข้าถึงผู้คนให้ได้มากที่สุดในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ” แถลงการณ์ระบุ
อนึ่งแม้จะมีความสงสัยเกี่ยวกับประเด็นด้านความโปร่งในของวัคซีนซิโนแวคเกิดขึ้นในหลายประเทศ อย่างไรก็ตม ก็ยังคงมีการพยายามจะอ้างข้อมูลว่าวัคซีนซิโนแวคนั้นยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโควิด-19 โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น มาจากประเทศอุรุกวัย ที่รายงานว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต
ส่วนสถานการณ์อื่นๆมีรายงานว่าที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ( ซีดีซี ) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการประกาศลดระดับ "ความรุนแรง" ของเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ "เอปซีลอน" หรือ "เอปไซลอน" ซึ่งพบครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกจากบัญชี "สายพันธุ์น่าวิตกกังวล" ลงมาอยู่ที่ "สายพันธุ์น่าจับตา" เนื่องจากพบผู้ป่วยสายพันธุ์ดังกล่าวลดลงในรอบสัปดาห์ล่าสุด และหันไปเพิ่มการจับตากับสายพันธุ์ "เดลตา" ซึ่งพบครั้งแรกในอินเดีย และปัจจุบันแพร่กระจายไปแล้วในทั้ง 50 รัฐของอเมริกา
อย่างไรก็ตาม วารสาร "วิทยาศาสตร์" เผยแพร่ผลการศึกษาเบื้องต้น เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่สหรัฐใช้เป็นวัคซีนหลัก คือวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ที่มีต่อเชื้อเอปซีลอน ปรากฏว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอลดลงโดยเฉลี่ย 2.5-3 เท่า จากการที่เชื้อเอปซีลอนมีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม 3 ตำแหน่ง สำหรับเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ทำให้เชื้อตัวนี้สามารถ "ต้านทาน" แอนติบอดีที่ร่างกายกระตุ้นหลังได้รับวัคซีน mRNA
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage