ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,087 ราย รวมสะสม 270,921 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 54,440 ราย อาการหนัก 579 ราย และเสียชีวิตอีก 61 ราย พบ 9 คลัสเตอร์ใหม่ กระจาย 6 จังหวัด ศบค.เผยเตรียมเพิ่มเตียงผู้ป่วยกลุ่มเหลือง-แดง ระดมฉีดวัคซีน เป็นนโยบายเดือน ก.ค. ด้านกรมวิทย์ฯ เผยสายพันธุ์เดลต้า เข้าไทยแล้ว
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เผยแพร่สถานการณ์โควิดประจำวัน โดยพบผู้ติดป่วยรายใหม่ 6,087 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,869 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 3,905 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 1,964 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 207 ราย และอีก 11 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 242,058 ราย หายป่วยเพิ่ม 3,638 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 54,440 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 2,002 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 579 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 61 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 2,141 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 61 ราย มาจาก กทม. 28 ราย นนทบุรี 9 ราย สมุทรปราการ 8 ราย ปัตตานี 5 ราย ปทุมธานี นราธิวาส จังหวัดละ 3 ราย และเชียงราย สงขลา นครปฐม นครนายก พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 29 ราย หญิง 32 ราย อายุระหว่าง 30-90 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคปอด มะเร็ง หลอดเลือดสมอง ส่วนปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อน ผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ผู้ดูแล อาศัยหรือเดินทางไปพื้นที่ระบาด และประกอบอาชีพเสี่ยง ได้แก่ ค้าขาย จักรยานยนต์รับจ้าง
ส่วน 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 2,267 ราย สมุทรปราการ 522 ราย นนทบุรี 327 ราย สมุทรสาคร 289 ราย ปทุมธานี 284 ราย ชลบุรี 222 ราย ยะลา 201 ราย ปัตตานี 169 ราย สงขลา 167 ราย และนราธิวาส 124 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ประกอบด้วย เมียนมา 1 ราย และกัมพูชา 10 ราย
@ พบ 7 คลัสเตอร์ใหม่ กระจาย 5 จังหวัด
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงในส่วนการพบคลัสเตอร์ในต่างจังหวัดหลายแห่ง ประกอบด้วย จ.สมุทรปราการ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ในพื้นที่อำเภอเมือง พบผู้ติดเชื้อ 21 ราย จ.นนทบุรี ตลาดเทศบาล ในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด พบผู้ติดเชื้อ 43 ราย ตลาดพิชัย ในพื้นที่อำเภปากเกร็ด พบผู้ติดเชื้อ 75 ราย จ.สมุทรสาคร บริษัทผลิตภัณฑ์พลาสติก ในพื้นที่อำเภอเมือง พบผู้ติดเชื้อ 12 ราย โรงงานลูกชิ้น ในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย จ.สุราษฎร์ธานี แคมป์คนงาน ในพื้นที่อำเภอพุนพิน พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย และ จ.ขอนแก่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในพื้นที่อำเภอสีชมพู พบผู้ติดเชื้อ 45 ราย
@ นายกฯ ห่วงผู้ป่วยที่รอเตียงที่บ้าน สั่งจัดการอย่างเร่งด่วน
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดในพื้นที่ กทม. พบทั้งหมด 113 คลัสเตอร์ เป็นกลุ่มสีเขียว ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 28 วัน จำนวน 27 คลัสเตอร์ สีเหลือง ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ใน 14 วัน จำนวน 7 คลัสเตอร์ โดยในวันนี้มีรายงานพบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ เขตคลองเตย แคมป์ก่อสร้าง ซ.สุขุมวิท 50 พบติดเชื้อ 43 ราย เขตหนองแขม โรงงานคัดกรองพนักงาน 1,300 ราย ติดเชื้อ 70 ราย คิดเป็น 5.38%
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ถือเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากบริหารจัดการเตียงแล้ว กทม.ยังคงเน้นย้ำการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนต่อเนื่อง จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ใน กทม. 2,267 ราย โดยในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก และที่ประชุมอีโอซี ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีความเป็นห่วง เมื่อเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อกับผู้ป่วยที่หายกลับบ้าน เตียงที่ได้คืนมามีสัดส่วนต่างกันชัดเจน โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. มีความเป็นห่วงผู้ป่วยที่รอเตียงที่บ้าน และเกิดอาการทรุดลง จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ศบค. กทม. และ สธ. จัดการผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน และเพิ่มศักยภาพเตียงที่มีจำกัดในทุกเขตของ กทม.อีกด้วย
@ เตรียมเพิ่มเตียงผู้ป่วยกลุ่มเหลือง-แดง เป็นนโยบายเดือน ก.ค.
พญ.อภิสมัย กล่าวรายงานว่า สำหรับบุคลากรแพทย์ที่มีรายงานการเสียชีวิตจำนวน 4 ราย มีทั้งแพทย์ 1 ราย ทันตแพทย์ 1 ราย พนักงานโรงพยาบาล 1 ราย และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 1 ราย ทั้งนี้ จากรายงานสรุปของกรมควบคุมโรค จำนวนผู้ป่วย 100 ราย จะมี 5 ราย หรือ 5% ที่มีรายงานปอดติดเชื้ออาการหนัก และเกือบ 2 ใน 5 ราย มีความจำเป็นใช้เครื่องช่วยหายใจ และแจ้งจำนวนผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 ราย ตัวเลข 1-2 คน จะมีการเสียชีวิต ทำให้กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องวางแผนมาตรการในการจัดการเตียง โดยเน้นย้ำไปที่ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และสีแดง พบว่าในจำนวนนี้หากผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุและ 7 โรคหลักมีความเสี่ยงป่วยหนักและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง จึงต้องเน้นย้ำใน 2 มาตรการหลัก คือ การเพิ่มเตียงและระดมฉีดวัคซีน นับว่าเป็นนโยบายสำคัญในเดือน ก.ค.นี้
@ รพ.บุษราคัม มีศักยภาพในการเพิ่มเตียง พร้อมเปิดดำเนินการได้ทันที
พญ.อภิสมัย เปิดเผยว่า ในที่ประชุมอีโอซี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้รายงานถึงศักยภาพการเพิ่มเตียง ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง และสีแดงโดยโรงพยาบาลบุษาคัม ก็สามารถเปิดดำเนินการได้ ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) ทาง สธ. ได้ปฐมนิเทศแพทย์เชี่ยวชาญ อายุรแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์โรคปอด โรคติดเชื้อ และแพทย์เวชบำบัดวิกฤต รวม 144 ราย ที่จะเข้ามาช่วยงานใน กทม. เช่น โรงพยาบาลบุษราคัม โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลพลังแผ่นดิน โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลต้นสังกัดในเขตสุขภาพต่างๆ
@ กทม.เร่งระดมฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง-เตรียมพื้นที่แยกกักกันในชุมชน
พญ.อภิสมัย เปิดเผยว่า ในส่วนเรื่องการให้บริการวัคซีน ทาง กทม.ได้รายงานในที่ประชุมด้วยว่า อีกหนึ่งบริการที่พยายามเร่งระดมบุคลากรในการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีโรคหลักหรืออาจจะมีความพิการ โดยได้มีบริการให้การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมายังศูนย์ฉีดวัคซีนเป็นผู้ติดเตียง ผู้มีภาวะพึ่งพิงหรือผู้พิการ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กทม.ได้สำรวจในเนอสซิ่งโฮมหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ 140 แห่ง รวมทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน ในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานครพบว่าเนอสซิ่งโฮมมีเป้าหมายอยู่ 4,615 ราย เป็นผู้สูงอายุ 2,846 ราย เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ 1,769 ราย ในส่วนที่อยู่ที่บ้าน 1,776 ราย เป็นผู้สูงอายุ 1,470 ราย และผู้ดูแล อีก 306 ราย จะมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเร็ววันนี้ เพราะอย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่ากลุ่มผู้สูงอายุถือได้ว่ามีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้พระราชทานวัคซีน ซิโนฟาร์มอีก 6,400 โดส ให้กับ กทม.เพื่อที่จะระดมฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเตียงติดบ้านเพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงนี้ด้วย ในช่วงสัปดาห์นี้ จะมีมาตรการสำคัญ คือ การแยกกักกันในชุมชน (Community Isolation) จะจัดเตรียมสถานที่ในชุมชน โดย กทม.จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ เวลา 14.30 น. ผู้ว่า กทม.จะประชุมหารือร่วมกับกรมการแพทย์ ในแนวทางปฏิบัติ จะมีรายละเอียดทั้งการประเมินตนเอง สังเกตอาการที่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลือง รวมถึงมาตรการป้องกันการกักกันในชุมชนไม่ให้เชื้อแพร่ออกไป
@ วอน ปชช.ฉีดซิโนฟาร์มลงข้อมูลใน'หมอพร้อม'
พญ.อภิสมัย กล่าวรายงานการกระจายวัคซีนในประเทศ ว่า มีผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 253,731 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 45,754 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 10,227,183 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 7,364,585 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 2,862,598 ราย โดยยังไม่รวมกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม จึงต้องขอความร่วมมือศูนย์ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้ลงข้อมูลใน MOPH IC เพื่อรวมในยอดรวมประเทศ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนมากอย่างเห็นได้ชัด คือ ภูเก็ต ได้รับเข็มที่ 1 แล้ว 384,674 ราย คิดเป็น 70.25% และได้รับครบ 2 เข็มแล้ว 307,163 ราย คิดเป็น 56.09% รองลงมาคือ อำเภอเกาะสมุย จ.สุราษฎี์ธานี ฉีดแล้ว 125,229 ราย คิดเป็น 59.32% แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 74,285 โดส และครบ 2 เข็มแล้ว 52,789 โดส โดยจำนวนตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนขยับขึ้นเร็ว เนื่องจากรองรับนโยบายสมุยโมเดลที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า จำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศ กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 1,400,416 ราย คิดเป็น 11.2% กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ได้รับวัคซีนแล้ว 7144,236 ราย คิดเป็น 13.4% ตามนโยบายจะเน้นย้ำใน 2 กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนภายในเดือน ก.ค.นี้ จึงขอความร่วมมือให้ทุกจุดบริการฉีดวัคซีนระดมการฉีดมากขึ้น
@ สายพันธุ์เดลต้า เข้าไทยแล้ว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่า เริ่มเห็นสายพันธุ์เดลต้าเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย สายพันธุ์ดังกล่าวรายงานการแพร่ระบาดที่ประเทศอินเดีย โดยหลักการที่มีรายงานคือจะเป็นสายพันธุ์ที่ติดกันได้ง่าย มีการแพร่ระบาดรวดเร็ว แต่การเกิดความรุนแรงนั้น จะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเสี่ยงที่ถือได้ว่าเป็นผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคหลัก ฉะนั้นจึงมีการนำสู่เกิดข้อสรุปของที่ประชุมว่า เมื่อได้รับวัคซีนมากขึ้น มีการกระจายที่เพียงพอ ก็ขอให้เน้นย้ำไปที่กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยหวังว่าจะเห็นภาพเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่ถึงแม้ฉีดวัคซีน มีรายงานผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงอยู่ แต่อัตราการเจ็บป่วยในระดับรุนแรง หรืออัตราการเสียชีวิตก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน
@ ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ก็ยังติดเชื้อได้
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า หลายประเทศฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครอบคลุมประชากรค่อนข้างสูง แต่ยังมีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศอังกฤษ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 27,989 ราย และเสียชีวิต 22 ราย สะท้อนให้เห็นถึงอัตราติดเชื้อต่อเนื่อง แต่อัตราตายต่ำ เช่นเดียวกับประเทศอิสราเอล ที่ประชากร 2 ใน 3 ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว และมีผู้ฉีดครบ 2 เข็มคิดเป็น 50% ของประชากร แต่มีการติดเชื้อใหม่เฉลี่ยวันละ 300 ราย โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มแล้ว ก็ยังคงสามารถติดเชื้อได้ จึงต้องเน้นย้ำว่า แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว ก็ยังต้องระวังมาตรการส่วนตัวเข้มงวด
@ ทั่วโลกป่วย 430,717 ราย สะสม 183.41 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 430,717 ราย รวม 183,414,645 ราย อาการหนัก 78,709 ราย หายป่วย 167,917,871 ราย เสียชีวิต 3,971,442 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 16,949 ราย รวม 34,561,403 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 315 ราย รวม 620,645 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 43,360 ราย รวม 30,453,937 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 769 ราย รวม 400,271 ราย บราซิล พบเพิ่ม 63,140 ราย รวม 18,622,304 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,943 ราย รวม 520,189 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage