"...วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่บรรจุมาในขวดเกินกว่าปริมาตรที่ระบุไว้ เพื่อให้วัคซีนครบโดสตามมาตรฐาน คือ 1 ขวด สามารถฉีดได้ 10 โดส เนื่องจากอาจจะมีเหตุในการสูญเสียวัคซีนเล็กน้อยขณะทำงานจริง แต่ทั้งนี้ก็อาจจะได้จำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน...."
--------------------------
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้โพสต์รูปภาพผ่านเพจเฟซบุ๊ก สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อตอบข้อสงสัย กรณีวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' ทำไมที่บรรจุในขวด จึงมีปริมาตรมากกว่าที่ระบุไว้ สามารถนำมาใช้ได้ไหม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
@ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า บรรจุวัคซีนมาเกินจริงหรือไม่?
สถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า วัคซีนบรรจุมาเกินจากที่ปริมาณข้างขวดกำหนดจริง เนื่องด้วยในวัคซีน 1 ขวด มีปริมาตร 6.5 ซีซี จากมาตรฐานการบรรจุ 10 โดส โดยการฉีด 1 โดส ใช้วัคซีน 0.5 ซีซี ดังนั้น ในวัคซีน 1 ขวด จึงปริมาตรสุทธิของวัคซีนเท่ากับ 13 โดส
@ ทำไมผู้ผลิตจึงใส่วัคซีนมาเกิน?
สถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า เนื่องจากเป็นมาตรฐานการผลิตวัคซีนที่บรรจุใน 1 ขวด แบบมีหลายโดส (Multipule-dose Vial) ที่จะบรรจุให้เกิน 20-30% การบรรจุมาเกินเผื่อไว้เพื่อให้ในการทำงานจริงมีวัคซีนครบ 10 โดสใน 1 ขวด
อีกทั้งในการใช้งานจริง มักจะมีการสูญเสียวัคซีนไป ที่เกิดจากการดูดวัคซีนจากขวดในแต่ละครั้งเกินไปทีละเล็กน้อย หรือบางครั้งหากจำเป็นต้องใช้ Syringe ขนาด 3 ซีซี ทำให้มีความแม่นยำน้อยลง และผู้ฉีดก็จะมีแนวโน้มที่จะดูดวัคซีนให้เกินมาเล็กน้อย เพื่อให้มั่นใจว่าได้ปริมาตรวัคซีนเต็มจำนวนในการฉีด
@ การดูดวัคซีนให้ได้มากกว่า 10 โดส ถือว่าไม่ได้มาตรฐานหรือไม่?
ทางสถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำว่า สามารถทำได้ แต่ให้ผู้ฉีดวัคซีนระมัดระวัง ที่จะต้องมั่นใจว่าปริมาตรวัคซีนในแต่ละโดสที่ได้ต้องตรงตามข้อกำหนดของผู้ผลิต คือ 0.5 ซีซี
อย่างกรณีตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเกาหลีใต้ เมื่อเริ่มต้นฉีดวัคซีนแรกๆ ได้พยายามดูดวัคซีนให้ได้ 6-7 โดส จากมาตรฐานการบรรจุ 5 โดส ใน 1 ขวด และเป็นข้อปฎิบัติที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของทั้ง 3 ประเทศนั้น ให้การยอมรับว่าสามารถทำได้และได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลกว่าสามารถเพิ่มจำนวนวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับประชาชนได้อีกด้วย
@ สามารถวางใจ มั่นใจได้หรือไม่ ว่าพยาบาลไทยจะสามารถทำได้แบบต่างประเทศ?
สถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า มั่นใจได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่ไทยได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1.1 แสนโดส เจ้าหน้าที่พยาบาลของสถาบันบำราศนราดูรได้ระดมความคิดเพื่อหาวิธีการดูดวัคซีนให้ได้จำนวนโดสมากที่สุด แต่ให้คงมาตรฐานว่าในแต่ละโดสต้องมีปริมาตรตรงตามที่กำหนด และถ่ายทอดวิธีการนี้ต่อๆกัน
@ มีความเป็นไปได้หรือไหมที่วัคซีน 1 ขวด จะดูดได้ 13 โดส?
สถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ยาก เพราะปริมาตรวัคซีนที่เหลืออยู่ จะติดอยู่ที่ก้นขวดหรือจุกยาง ไม่สามารถดูดออกมาได้ และองค์การอนามัยโลก ไม่แนะนำให้เปิดจุกยางเพื่อเอาวัคซีนที่เหลือติดก้นขวดนั้นมาผสมกัน เพราะมีโอกาสจะเกิดการปนเปื้อนสูงมาก ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพของผู้รับวัคซีน
@ หาก 1 ขวด ได้ 12 โดส เท่ากับมีวัคซีนเพิ่มขึ้น?
สถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่าจะมีวัคซีนเพิ่มได้ แต่ในการทำงานจริง จะมีการสูญเสียวัคซีนจากการปฏิบัติงานได้ เช่น ทำขวดแตก เกิดการปนเปื้อนระหว่างการดูดวัคซีน วัคซีนเหลือในระหว่างวันที่ไม่ครบจำนวนคนและไม่สามารถนำกลับไปแช่เย็นใหม่ได้ เป็นต้น
อีกทั้งจุดเล็กน้อย เมื่อรวมกัน ก็เป็นจำนวนการสูญเสียวัคซีนหลายล้านโดสได้ เหตุการณ์เช่นนี้ เป็นเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นได้ แม้จะมีการระมัดระวังเป็นอย่างดี ส่วนโดสวัคซีนที่ได้เพิ่มมา ก็จะกลายเป็นส่วนชดเชยของการสูญเสียวัคซีน หักลบกัน เท่ากับว่าอาจไม่มีจำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้นมาก็เป็นได้
ดังนั้น การรณรงค์การฉีดวัคซีนโควิดในครั้งนี้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันทั้งระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการสูญเสียวัคซีน หรือให้เกิดน้อยที่สุด ก็จะเกิดประโยชน์กับภาพรวมของประเทศ
@ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนโดสได้ จะถือเป็นความผิดหรือไม่?
สถาบันวิจัยวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า เป็น แนวทางปฏิบัติร่วมมือร่วมใจกัน ของเจ้าหน้าที่ในการรณรงค์การฉีดวัคซีนของประเทศ หากไม่สามารถดำเนินการเพิ่มจำนวนโดสได้ หรืออาจดูดวัคซีนได้เพียง 11 โดส ไม่ได้ถือเป็นความผิดของผู้ปฏิบัติแต่อย่างใด เพราะในแต่ละพื้นที่อาจมีข้อจำกัดต่างๆ กันไป แต่การฉีดวัคซีนให้ได้คุณภาพ มาตรฐานที่ดีเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าสามารถทำได้ก็เป็นประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นมา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage